Select Page

ผ่าตัด…ผ่านกล้อง ตัวช่วยศัลยแพทย์ใต้

ผ่าตัด…ผ่านกล้อง ตัวช่วยศัลยแพทย์ใต้

          ในช่วงที่มีเหตุการณ์ที่ผู้บาดเจ็บเข้ามารับการรักษาพร้อมกันหลายๆคน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ศัลยแพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และอาจต้องมาทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์…วันหยุด รวมทั้งต้องมีการจัดเวรอยู่ประจำโรงพยาบาล

ที่มา :นสพ.ไทยรัฐ  วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2552

admit

          ทุกๆ ปี ในช่วงฤดูหนาว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ  และพระบรมวงศานุวงศ์  จะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อปฏิบัติ พระราชกรณียกิจ และติดตามงานในพระราชดำริต่างๆ และหนึ่งในงานนั้นก็คือ การพระราชทานทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆลงไปช่วยเหลือดูแลประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกลและเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ข้อมูลจาก แพทยสภา และ กระทรวงสาธารณสุข ระบุตรงกันว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีศัลยแพทย์ อยู่เพียงแค่ 6 คน ที่ต้องรับภาระงานหนักในการช่วยเหลือชีวิตผู้บาดเจ็บ ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ
          ที่ผ่านมา…มีการแก้ปัญหาโดยการส่งแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมทั้งจากกรมการแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารเรือ กรมแพทย์ทหารอากาศ และแพทย์จากโรงเรียนแพทย์สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ไปช่วยปฏิบัติงานเป็นการแบ่งเบาภาระงานที่หนักของศัลยแพทย์ที่ประจำอยู่ในพื้นที่  นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เพิ่งเดินทางลงพื้นที่เพื่อนำทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ ทั้งศัลยกรรม โสต ศอ นาสิก และจอประสาทตา ไปให้บริการรวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการผ่าตัดทางกล้องแก่แพทย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเร็วๆนี้

          นพ.เรวัต บอกว่า ภารกิจนี้เป็นการบรรเทาภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์เครื่องบินลำเลียงซี 130 จาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และ กองทัพอากาศ “การนำทีมแพทย์ลงไป ส่วนหนึ่งเป็นการรับสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

         และในปีนี้ พระองค์ท่านไม่ได้มีหมายกำหนดการเสด็จแปรพระราชฐาน กรมการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานที่มีทั้งทรัพยากรบุคคล เครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย โดยเฉพาะ เทคโนโลยีการผ่าตัดทางกล้อง ซึ่งถือได้ว่า เราเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมและความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก จึงรับสนองพระราชภาระ โดยการส่งทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 60 คน

           ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่มีสถิติการเกิดความรุนแรงและเหตุการณ์ความไม่สงบมากที่สุดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา”

          คุณหมอเรวัต บอกอีกว่า ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดของ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์มีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจำนวนผู้ป่วยที่ต้องให้บริการในแต่ละวันก็มีจำนวนไม่น้อย เฉพาะผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ยต่อวันมีประมาณ 750 คน เฉลี่ยต่อปีกว่า 2 แสนคน เนื่องจาก รพ.นราธิวาสราชนครินทร์เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของโรงพยาบาลอีก 8 แห่งใน จ.นราธิวาส ได้แก่ รพ.ยี่งอ, รพ.บาเจาะ, รพ.ตากใบ, รพ.ระแงะ, รพ.รือเสาะ, รพ.ศรีสาคร, รพ.จะแนะ และ รพ.เจาะไอร้อง

           แค่…ระยะเวลาเพียง 6 เดือนจากเดือน ต.ค.ปี 51 ถึง มี.ค.ปี 52 มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดนราธิวาสถึง 295 ราย ในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งการรักษา ผ่าตัดและฟื้นฟูสมรรถภาพที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ถึง 111 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว ยังไม่รวมยอดผู้ป่วยที่รอรับการรักษาด้านจอประสาทตาและด้านโสต ศอ นาสิก ที่มีมากกว่า 50 คน และในสาขาอื่นๆ อีกนับพันคน การที่ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมและการผ่าตัดทางกล้องลงพื้นที่ในครั้งนี้ คุณหมอเรวัต บอกว่า เป็นการทำงานที่ได้ผลสองเท่า คือ ลดอัตราและจำนวนวันในการรอผ่าตัดของผู้ป่วยลงได้มาก
                   

            “เราได้ให้ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ นัดผู้ป่วยมารับการรักษาจากทีมแพทย์ของเราในช่วงระยะเวลา 2 วันที่ลงพื้นที่ เริ่มผ่าตัดกันตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงค่ำ ขณะเดียวกัน ระหว่างการผ่าตัดก็เป็นช่วงเวลาที่แพทย์และพยาบาลของ รพ.นราธิวาสฯจะได้เรียนรู้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผ่าตัดทางกล้องไปด้วย” นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ รอง ผอ.กลุ่มภารกิจวิชาการ รพ.ราชวิถี และผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดทางกล้องเสริมว่า กลไกการทำงานของการผ่าตัดทางกล้องปัจจุบัน…การผ่าตัดทางกล้อง เรียกว่า Minimally Invasive Surgery (MIS) เป็นการผ่าตัดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการผ่าตัดเกือบทุกอย่าง

            การผ่าตัดที่ว่านี้  มีแผลขนาดเล็กเพียง 0.5–1.0 เซนติเมตรเท่านั้น วิธีการก็ไม่ยาก เป็นการนำกล้องที่เรียกว่า Laparoscope หรือ endoscope สอดเข้าไปในอวัยวะภายในร่างกายซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถทำการผ่าตัดได้ดีและมีความแม่นยำ คุณหมอสุกิจ บอกว่า การผ่าตัดทางกล้องใช้กับการผ่าตัดอวัยวะส่วนต่างๆในร่างกายหลายส่วน เช่น ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน การห้ามเลือดที่ออกมากในกระเพาะและหลอดอาหาร ผ่าตัดเส้นเลือดขอด ริดสีดวงจมูก ไต ผ่าตัดเอ็นข้อเข่าฉีกขาด ฯลฯadmit1
          ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง ผู้ป่วยจะสูญเสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อยกว่าผ่าตัดแบบเปิด มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย แผลมีขนาดเล็ก อาการปวดหลังผ่าตัดน้อย ลดภาวะแทรกซ้อน และผู้ป่วยพักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้ สำหรับการลงพื้นที่ผ่าตัดทางกล้องที่ จ.นราธิวาสครั้งนี้ ได้ทำการ ผ่าตัดทั้งการผ่าตัดตา ผ่าตัดกระดูก รวมทั้งการรักษาโรคทางโสต ศอ นาสิก หรือหู คอ จมูก ให้กับผู้ป่วยจำนวนหลายสิบราย เป็นการแบ่งเบาภาระงานที่หนักมากของศัลยแพทย์ในพื้นที่ได้มาก เพราะการผ่าตัดบางชนิดสามารถรักษาได้ตรงจุดโดยไม่เกิดบาดแผล เช่น การส่องกล้องเข้าทางปาก ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอดเพื่อทำการผ่าตัดรักษาโรค

          รอง ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวด้วยว่า ในอนาคตอาจจะมีการให้ศัลยแพทย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อช่วยลดภาระงาน รวมทั้งความเครียดของศัลยแพทย์  ที่สำคัญ…การผ่าตัดส่องกล้องจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนศัลยแพทย์  ปัจจุบันแพทย์ทั่วไปต้องรับผิดชอบประชาชนในอัตราส่วน 1 : 2,000 คน ขณะที่ศัลยแพทย์ต้องรับผิดชอบผู้ป่วยเฉลี่ย 1 : 20,000 คน เมื่อเทียบกับจำนวนศัลยแพทย์ทั้งประเทศที่มีอยู่เพียง 3,000 คนเท่านั้น
          การผ่าตัดทางกล้องในยุคนี้…จึงเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญ ในการแบ่งเบาภาระของศัลยแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ในพื้นที่เสี่ยง…สามจังหวัดชายแดนภาคใต้…….

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.