Select Page

กลุ่มรณรงค์ เตือนสาวอย่าตื่นมะเร็งแห่ตรวจยีนตาม โจลี่ !!!

กลุ่มรณรงค์ เตือนสาวอย่าตื่นมะเร็งแห่ตรวจยีนตาม โจลี่ !!!

ข่าว แองเจลิน่า โจลี่ นางเอกดังฮอลลีวู้ด ที่ตัดสินใจตัดเต้านมทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันโรคมะเร็งเต้านม หลังจากแพทย์ตรวจพบยีนผิดปกติ บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) ที่ทำให้เธอมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 87% และมะเร็งรังไข่ถึง 50% นั้นส่งผลให้กลุ่มรณรงค์โรคมะเร็ง ต้องออกมาเตือนผู้หญิงว่า อย่าเพิ่งรีบไปตรวจยีน หรือหน่วยพันธุกรรม อย่างที่นางเอกสาวคนดังทำ

ด้วยเหตุผลว่า ยีน BRCA1 ไม่ใช่แค่พบได้น้อยมากในประชากรเพศหญิง แต่ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบที่ห้องแล็บในสหรัฐอเมริกายังมีราคาแพงด้วย โดยที่สหรัฐต้องใช้เงินกว่า 3,000 ดอลลาร์ หรือราว 88,350 บาท

             “เราไม่ต้องการให้ผู้หญิงทุกคนไปหาหมอ แล้วก็บอกว่าฉันต้องการตรวจยีน แต่เราอยากให้ทุกคนได้ลองดูถึงประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว แล้วคุยกับหมอ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาดูว่า จะส่งตัวคุณไปพบที่ปรึกษาด้านพันธุกรรม เพื่อตัดสินใจว่าควรจะต้องเข้ารับการตรวจยีนหรือไม่” โอทิส บรอว์ลีย์ หัวหน้าสถาบันมะเร็งแห่งอเมริกา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีทางโทรศัพท์ หลังจากข่าวของแองเจลิน่าออกมาเพียง 2 วัน และกลายเป็นข่าวใหญ่ที่สื่อให้ความสนใจมากมาย


          ทั้งนี้ โอทิส บรอว์ลีย์ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า “ผู้หญิงที่มีญาติสายตรง อย่างเช่นพี่สาว น้องสาว หรือแม่ที่ล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือ มะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย ควรจะต้องมีการพูดคุยปรึกษาเรื่องนี้กับแพทย์เป็นพิเศษ” ขณะที่ ซูซาน เลิฟ ศัลยแพทย์ในนครลอสแองเจลิส เจ้าของงานวิจัยโรคมะเร็งเต้านม และเป็นผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว บอกว่า… “ผู้หญิงทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจยีน นั่นมันไม่ใช่เรื่องปกติ คนที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจยีน คือ คนที่มีญาติ หรือคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่หลายๆ คน” 
          ในกรณีของแองเจลิน่า โจลี่ นั้น นางมาร์เชลีน เบอร์แทรนด์ แม่ของเธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ขณะอายุ 56 ปี หลังจากต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งมานานเกือบ 10 ปี “เธอกล้าหาญมากที่ออกมาพูดเรื่องนี้” 

          แคเธอรีน แมคเลน รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร ลีฟสตรอง (Livestrong) องค์กรการกุศลเพื่อโรคมะเร็ง ซึ่งก่อตั้งโดยแลนซ์ อาร์มสตรอง นักปั่นจักรยานชื่อดัง ก่อนที่เขาจะถูกริบแชมป์หลังจากพบว่าใช้ยาโด๊ป ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี โดยหวังว่า เรื่องราวของ แองเจลิน่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้หญิงสนใจเข้ารับการตรวจสุขภาพกันมากขึ้น 


          ทั้งนี้ จากสถิติสถาบันมะเร็งของสหรัฐระบุว่า นับแต่ต้นทศวรรษ 1990 หรือกว่า 20 ปีที่ผ่านมา สถิติการล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งในสหรัฐได้ลดลงทั้งในประชากรหญิงและชาย ขณะที่ในเว็บไซต์ www.cancer.gov บอกว่า ราว 12% ของประชากรหญิงทั้งหมดในสหรัฐมีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตได้ แต่ผู้มียีนผิดปกติ BRCA1 หรือ BRCA2 มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไป 5 เท่า และการกลายพันธุ์ของยีนทั้งสองนี้ก็สามารถเกิดในผู้ชาย ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งทรวงอก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลูกอัณฑะ และมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้น 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 หน้า25

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.