Select Page

สุริยุปราคา 15 ม.ค. 2553

สุริยุปราคา 15 ม.ค. 2553

ปีนี้มีสุริยุปราคาเกิดขึ้น 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน ครั้งแรกเป็นสุริยุปราคาวงแหวนในวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. ครั้งที่ 2 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงในคืนวันอาทิตย์ที่ 11 เข้าสู่วันที่ 12 ก.ค. ตามเวลาประเทศไทย เรามีโอกาสสังเกตสุริยุปราคาครั้งแรกได้เพียงครั้งเดียว โดยดวงอาทิตย์จะแหว่งมากกว่าครึ่งดวง ภาคเหนือบังลึกที่สุด

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

โดย:วรเชษฐ์ บุญปลอด

         สุริยุปราคาครั้งนี้จัดเป็นชนิดวงแหวนเนื่องจากดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกจนไม่สามารถบังดวงอาทิตย์ได้หมดทั้งดวง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางเงาจะเห็นดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงแหวน ดวงจันทร์มืดๆ อยู่กลางดวงอาทิตย์ ท้องฟ้าไม่มืดสลัวลงและไม่เห็นคอโรนาซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักในหมู่นักท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับสุริยุปราคาเต็มดวง

star2         วันที่เกิดสุริยุปราคาครั้งนี้เป็นช่วงเวลาก่อนที่ดวงจันทร์จะอยู่ห่างโลกที่สุดในรอบเดือนไม่ถึง 2 วัน และหลังจากวันที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปีไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ ขนาดปรากฏจึงต่างกันมากพอที่จะทำให้เกิดสุริยุปราคาวงแหวนได้นานถึง 11 นาที 8 วินาที ที่กึ่งกลางคราส นับเป็นสุริยุปราคาวงแหวนที่ยาวนานที่สุดในคริสต์สหัสวรรษที่ 3 (ค.ศ. 2001-3000) และเป็นครั้งเดียวที่นานกว่า 11 นาที (ครั้งถัดไปที่นานกว่า 11 นาที เกิดในวันที่ 23 ธ.ค. ปีค.ศ. 3043)

         สุริยุปราคาครั้งนี้เงาดวงจันทร์เริ่มแตะผิวโลกในทวีปแอฟริกา เส้นทางคราสวงแหวนผ่านสาธารณรัฐแอฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา ซีกด้านเหนือของทะเลสาบวิกตอเรีย เคนยา ส่วนเล็กๆ ทางเหนือของแทนซาเนีย และทางใต้ของโซมาเลีย ก่อนลงสู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านหมู่เกาะมัลดีฟส์ จากนั้นลากผ่านทางใต้ของประเทศอินเดีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของศรีลังกา พม่า แล้วไปสิ้นสุดบริเวณแหลมชานตงที่ยื่นออกสู่ทะเลเหลืองในประเทศจีน เมืองใหญ่ของจีนที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวน ได้แก่ ฉงชิ่ง เจิ้งโจว และจี่หนาน เกิดในช่วงที่ดวงอาทิตย์ใกล้ตก

         บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย แอฟริกา บางส่วนทางตะวันออกของยุโรป มหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยอยู่นอกแนวคราสวงแหวน แต่อยู่ในเขตที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน จึงสามารถสังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้โดยดวงจันทร์จะบังบางส่วนของดวงอาทิตย์ จ.ภูเก็ต เป็นจุดที่เริ่มเห็นสุริยุปราคาเป็นที่แรก เริ่มขึ้นเวลา 13.51 น. กรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. บังเต็มที่เวลา 15.37 น. และสิ้นสุดคราสเวลา 16.58 น. ภาคเหนือตอนบนเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่นๆ เพราะอยู่ใกล้แนวคราสวงแหวนซึ่งผ่านพม่า รายละเอียดของแต่ละจังหวัดดูได้จาก http://thaiastro.nectec.or.th

         การสังเกตดวงอาทิตย์ต้องใช้แผ่นกรองแสง หรือสังเกตการณ์ทางอ้อม ห้ามดูด้วยตาเปล่าเพราะเป็นอันตรายต่อดวงตา แผ่นกรองแสงควรเป็นชนิดที่ใช้สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หากไม่มีสามารถใช้หน้ากากสำหรับช่างเชื่อมเหล็กได้โดยต้องมีความเข้มสูงพอ (ใช้แล้วไม่รู้สึกเคืองตา) ไม่แนะนำให้ใช้กระจกรมควันและฟิล์มเอกซเรย์เนื่องจากความเข้มไม่สม่ำเสมอ แผ่นซีดีอาจใช้ดูดวงอาทิตย์ได้ แต่ต้องเลือกที่ทึบแสงมากพอ (ทดสอบดูกับหลอดไฟในบ้านแล้วไม่เห็นไส้หลอด) อย่างไรก็ตาม ภาพที่เห็นผ่านแผ่นซีดีไม่คมชัดนัก วัสดุอื่นนอกเหนือจากนี้ เช่น แว่นกันแดด กระดาษห่อลูกอม ฟิล์มสี ฟิล์มขาว-ดำที่ไม่มีโลหะเงิน ฯลฯ ไม่ปลอดภัยเพียงพอ

          วิธีสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนที่ปลอดภัยที่สุดคือการสังเกตทางอ้อม โดยให้แสงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาลงไปปรากฏบนฉากรับภาพ อีกวิธีซึ่งทำได้ง่ายคือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม นำกระดาษมาเจาะรูขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ไปปิดที่กระจกเงา แล้วนำกระจกเงาบานนั้นไปรับแสงอาทิตย์ให้แสงสะท้อนลงบนผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวที่อยู่ไกลจากกระจกตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และอยู่ในที่ซึ่งแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง ภาพดวงอาทิตย์บนฉากจะแหว่งตามลักษณะดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาบนท้องฟ้า หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ๆ อาจสังเกตเห็นว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องระหว่างใบไม้แล้วไปตกบนพื้นหรือผนัง ก็มีลักษณะแหว่งเว้าตามดวงอาทิตย์

          สุริยุปราคาครั้งถัดไปที่เห็นได้ในประเทศไทยจะเกิดขณะดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันที่ 21 พ.ค. 2555 แต่ดวงอาทิตย์แหว่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและอาจมีอุปสรรคจากเมฆ หลังจากนั้นจะว่างเว้นไปนานถึง 4 ปี กว่าจะเกิดสุริยุปราคาในประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 9 มี.ค. 2559 ดังนั้นสุริยุปราคาคราวนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับการสังเกตสุริยุปราคาที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยตลอดระยะเวลา 6 ปีข้างหน้าstar

ท้องฟ้าในรอบสัปดาห์ (3-10 ม.ค.)

             หลังจากจันทร์เพ็ญในเช้ามืดวันแรกของ พ.ศ. 2553 ซึ่งเกิดจันทรุปราคาบางส่วน สัปดาห์นี้เป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทุกวันในเวลาเช้ามืด คืนวันที่ 3 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 21.00-22.00 น. จะเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวอังคาร จากนั้นดวงจันทร์จะผ่านใกล้ดาวเสาร์ในเช้ามืดวันที่ 6 และ 7 ม.ค. แต่ห่างกันค่อนข้างมากที่ระยะ 10-11 องศา

          ดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร –2.1) เป็นดาวสว่างเห็นได้ชัดบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำที่มุมเงย 30 องศา หลังจากนั้นมันจะตกลับขอบฟ้าในเวลา 3 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่ดาวอังคาร (โชติมาตร –0.9) อยู่เหนือขอบฟ้าตะวันออกประมาณ 10 องศา ขณะนี้ดาวอังคารอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกลุ่มดาวปูกับกลุ่มดาวสิงโต มันเคลื่อนที่ถอยหลังเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ โลกกับดาวอังคารจะเข้าใกล้กันที่สุดในปลายเดือนนี้

          ราวเที่ยงคืนครึ่งน่าจะเริ่มเห็นดาวเสาร์ (โชติมาตร +0.8) ขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าตะวันออกที่มุมเงย 15 องศา ในกลุ่มดาวหญิงสาว รุ่งเช้าดาวอังคารย้ายไปอยู่ทางทิศตะวันตกที่มุมเงย 40-50 องศา ส่วนดาวเสาร์อยู่สูงเกือบถึงจุดเหนือศีรษะ

           กลางสัปดาห์ กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.43 น. ตกเวลา 18.04 น. เชียงใหม่ขึ้นเวลา 06.58 น. ตกเวลา 18.01 น. ภูเก็ตขึ้นเวลา 06.42 น. ตกเวลา 18.23 น. อุบลราชธานีขึ้นเวลา 06.28 น. ตกเวลา 17.44 น. (จังหวัดอื่นๆ รวมทั้งเวลาดวงจันทร์ขึ้น-ตก ดูได้จาก http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/sunmoon/riseset.html)

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.