Select Page

‘ห้องเรียนอาเซียน’ เตรียมพร้อม ‘เด็ก’ รับความเปลี่ยนแปลง

‘ห้องเรียนอาเซียน’ เตรียมพร้อม ‘เด็ก’ รับความเปลี่ยนแปลง

การเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Community : AC) กำลังงวดเข้ามาทุกขณะ ทางด้านกระทรวงศึกษาธิการก็บังคับให้หลักสูตรอาเซียนเป็นหลักสูตรบังคับของประเทศ โดยให้แต่ละโรงเรียนจัดทำหลักสูตรอาเซียนเป็นของตัวเอง

 

                   โรงเรียนจินดาพงศ์ ก็เป็นอีกหนึ่งสถานศึกษาที่ปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 โดยการจัดสร้างห้องเรียนอาเซียน ขึ้น เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังจะมาเยือน

                   ร.ต.จินดา ตันตราจิณ ผู้ได้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาพงศ์ กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีการจัดทำหลักสูตรรับอาเซียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำมาใช้ในปีการศึกษาหน้า (2556) เพราะเรื่องของอาเซียนเป็นเรื่องที่เราต้องตื่นตัวที่ผ่านมามักจะเป็นทางรัฐบาลที่ให้ความสนใจ แต่โรงเรียนเอกชนไม่ค่อยเห็น ดังนั้นเราจึงต้องเริ่ม

                     “เอาเข้าจริง เรื่องอาเซียนเป็นเรื่องที่เด็กไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่เราในฐานะครูต้องมากระตุ้นเล็กๆ ให้สนใจ ในเรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียน การเรียนรู้เรื่องของอาเซียนจากที่สังเกตเด็กๆ มานั้น เห็นได้ชัดว่าการเรียนรู้ที่มีสื่อเป็นตัวช่วย ทำให้เด็กสนใจและจดจำได้มากกว่าการเรียนจากหน้ากระดาษหนังสือเพียงอย่างเดียว”

                      อย่างเช่นการสอนเรื่องธงประจำชาติแต่ละชาติ หากเด็กเรียนแต่ในหนังสือก็จะจำไม่ค่อยได้ แต่พอนำของจริงมาให้เด็กดูว่า เด็กได้สัมผัส ได้เห็น ก็จะเข้าใจ

                     ในห้องเรียนอาเซียนนั้น จะประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ทั้งธงประจำชาติ หนังสือข้อมูลรายละเอียดของประเทศนั้นๆ ตั้งแต่เรื่องรายละเอียด สภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศ ขนาดพื้นที่ เงินตรา วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงไปว่าหากต้องต้องการจะไปท่องเที่ยวต้องทำอย่างไร

                          นอกจากจะมีธงของจริงแล้ว ในห้องเรียนอาเวียนยังมี เงินตราประจำชาติ มาให้เด็กๆ ได้สัมผัสด้วยว่าแต่ละประเทศเขาใช้เงินสกุลอะไร และเงินที่เขาใช้มีหน้าค่าตาเป็นอย่างไร ต่างจากประเทศเราแค่ไหน ซึ่งตอนที่เปิดให้เด็กลองเข้ามาชมกันเป็นครั้งแรกนั้น เด็กๆให้ความสนใจมาก รวมทั้งยังให้ความสนใจกับตุ๊กตาผู้หญิง – ชาย ที่สวมชุดประจำชาติตั้งอยู่ตามมุมข้อมูลของประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก

                        ร.ต.จินดา บอกว่า ตั้งใจจะทำห้องเรียนอาเซียนไว้ในที่ที่เด็กๆเดินผ่าน เพราะเด็กจะได้ใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ ซึ่งก็พยายามหาข้อมูล หาเอกสารเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อให้เด็กค้นคว้าได้ ทั้งเรื่องเมืองหลวง สกุลเงิน รวมทั้งการแต่งกายด้วย

                        “นอกจากห้องเรียนอาเซียนแล้ว การบูรณาการเข้ากับวิชาการเรียนการสอนต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น ภาษา เด็กต้องรู้ 2 ภาษา คือไทยและอังกฤษ ที่เป็นภาษาราชการของอาเซียน รวมทั้งจะแทรกความรู้เรื่องอาเซียนไปตามกลุ่มสาระต่างๆ เช่น วิชาเลข ก็จะสอนเรื่องเงินตราต่างๆ ในอาเซียนไปด้วย”  ร.ต.จินดากล่าว

                       นอกจากนี้ เมื่อมีการจัดงานวิชาการก็จะให้เด็กๆ รวมทั้งคุณครูแต่งกายเป็น 10 ชาติในอาเซียน เพื่อเป็นการเรียนรู้และให้เด็กๆเข้าใจวัฒนธรรมการแต่งกายของเพื่อนบ้าน โดยที่ผ่านมาเด็กๆ ต่างตื่นเต้นที่ได้ทดลองสวมชุดประจำชาติของชาติต่างๆ ซึ่งครูก็จะร่วมแต่งกายด้วยเพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งตอนนี้กำลังหาของเล่น รวมทั้งของประจำชาติทั้ง 10 ประเทศ เพื่อนำมาให้เด็กได้เห็นของจริง

                     “การเรียนการสอนเรื่องอาเซียนนั้น ครูเป็นบุคคลสำคัญ ที่จะสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ครูต้องรู้และเข้าใจเรื่องของอาเซียน เพื่อนำไปถ่ายทอดให้เด็กเข้าใจ” ร.ต.จินดา ทิ้งท้ายอย่างน่าคิด

                      นี่คือการเตรียมพร้อมรับมือประชาคมอาเซียนของอีกหนึ่งองค์กร ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ยัง “เด็ก”

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2556 หน้า 21

ขอขอบคุณจาก : Facebook โรงเรียนจินดาพงศ์

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.