Select Page

มูล บุญมั่น ‘นายฝาย’แห่งบ้านน้ำปุก’ตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว’

มูล บุญมั่น ‘นายฝาย’แห่งบ้านน้ำปุก’ตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว’

บ้านน้ำปุก หมู่ 1 ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา อยู่ห่างจากตัวเมือง อ.ปงไปทางทิศตะวันออก 24 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่อาศัยและทำกินติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง โดยรอบหมู่บ้านเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยสารพัดชนิด

            กล่าวสำหรับ “แม่น้ำปุก”ไหลผ่านทางตะวันออกของหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้เลี้ยงชีพและประกอบอาชีพเกษตรกรรมของประชาชนในหมู่บ้านกว่า 160 ครัวเรือน

          วันนี้ที่น้ำปุกมีเสียงตอกดังสนั่นป่าเมื่อตามเสียงไปจึงพบว่าเป็นการทำฝายไม้แบบดั้งเดิม ปัจจุบันพบน้อยมาก ปัญหาเรื่องการแย่งชิงน้ำในปัจจุบันจะพบเห็นในหลายพื้นที่ ด้วยสาเหตุสำคัญเพราะปริมาณน้ำที่มีน้อยลงทุกปีโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ศึกชิงน้ำจะเกิดประจำ เหตุที่น้ำเหลือน้อยลงในทุกแม่น้ำส่วนใหญ่มาจากป่าต้นน้ำหายไป และผู้ใช้น้ำบริหารน้ำไม่มีระบบ หรือมือใครยาวสาวได้สาวเอา

          ดังนั้น ทางภาคเหนือจึงมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ทรงภูมิด้านการจัดการน้ำหรือ การแบ่งสัดส่วนการใช้น้ำแก่ผู้ใช้น้ำในหมู่บ้านหรือพื้นที่ของตนเองได้อย่างลงตัวโดยไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำ คือ “แก่ฝาย”หรือ “นายฝาย” แต่ละหมู่บ้านจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้น

          มูล บุญมั่นเป็น “แก่ฝาย”หรือ”นายฝาย”แห่งบ้านน้ำปุก อายุ 56 ปี กล่าวว่าแม่น้ำปุกคือแม่น้ำสายหลักของชาวน้ำปุกการรักษาแม่น้ำปุกเพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสูงสุด คือหน้าที่สำคัญต้องร่วมแรงร่วมใจกันดูแล  ดังนั้น ทุกปีคนน้ำปุกจะร่วมกันตีฝายน้ำปุก เพื่อให้เก็บกักน้ำ ดักตะกอน ชะลอน้ำ ให้ผืนป่าใกล้เคียงชุ่มชื้น โดยใช้ไม้ทำเป็นหลักหลายขนาดตอกลงไปในน้ำและยึดให้แน่นเป็นแผงขวางตลอดแนวลำน้ำประมาณ 50 เมตร (ขึ้นอยู่กับความกว้างของลำน้ำ) ยาวประมาณ 25 เมตร

          “ประมาณเดือนมีนาคมทุกปี หรือช่วงก่อนที่น้ำจะมา จะมีล่ามฝายทำหน้าที่แจ้งทุกครัวเรือนส่งตัวแทนเข้าร่วมตีฝาย หากครัวเรือนใดที่ไม่ส่งตัวแทนมาจะเสียค่าปรับวันละ 200 บาท แต่ละครั้งการตีฝายจะทำเพื่อซ่อมแซมฝายส่วนที่เสียหายจากน้ำพัดในปีที่ผ่านมา จะเสียหายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงน้ำ หากปีไหนที่ฝายเสียหายมากจะต้องใช้เวลาตีฝายประมาณ 5-7 วัน หากเสียหายน้อย 1-2 วัน ก็เสร็จ

          “การตีฝายเกิดขึ้นเพราะทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ตั้งแต่เด็ก ผู้นำ ประชาชน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของดอยผาช้างซึ่งเป็นลูกหลานในหมู่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่เป็นตัวแทนหมู่บ้าน ร่วมกันคนละไม้ละมือเมื่อถึงเวลาตีฝายเสร็จแล้วทุกคนจะได้ใช้น้ำร่วมกัน

          “ฝายที่ตีเสร็จเรียบร้อยจะทำให้พื้นที่หน้าฝายมีการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น จากนั้นน้ำจะถูกผันไปใช้ในท้องที่การเกษตร คือ นาข้าวที่มีมากถึง 500 ไร่ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจะใช้น้ำประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน(ปางเก้า) และทำนาเสร็จในเดือนธันวาคม(ปางสี่) พวกเราผู้ใช้น้ำจะมีการทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำขอใช้น้ำตอนปางเก้า และขอบคุณหลังใช้น้ำตอนปางสี่

          มูลกล่าวอีกว่า การตีฝายเพื่อซ่อมแซมหรือเลี้ยงผีขุนน้ำแม่น้ำปุก คือสิ่งที่สื่อให้เห็นว่าคนน้ำปุกมีความรักษ์ป่า รักษ์น้ำ โดยยึดความสามัคคีเป็นหลัก

          ฝายน้ำปุกแห่งนี้ เรียกกันตามภาษาพื้นบ้านว่า “ฝายน้ำดั้น” อายุฝายลูกนี้ ผู้เฒ่าในหมู่บ้านเล่าให้ฟังสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันคาดว่าเกือบ 200 ปี ครั้งแรกทำฝายมีครัวเรือน 5-6 หลังเท่านั้นก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นหมู่บ้านแต่นั้นมาชาวบ้านได้ตีฝายซ่อมฝายทุกปีจนถึงปัจจุบัน

          “ฝายน้ำปุกมีความสำคัญต่อคนในหมู่บ้านอย่างมาก ดังนั้น ชาวบ้านที่มีพื้นที่มากใช้น้ำมากต้องนำหลักไม้มามาก แต่รายที่มีน้อยก็นำหลักไม้มาน้อยโดยยึดจำนวนไร่ของที่ทำกินเป็นหลักเช่น ไม้หลักใหญ่ยาว 100 ซม. ไร่ละ 5 อัน ไม้หลักเล็กยาว 30 ซม. ไร่ละ 80 อันและ ไม้ตีขวางยาว 100 ซม.ไร่ละ 15 อัน และดินหรือหิน 3 ถัง (ครึ่งกระสอบฟาง) ทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลยเพราะชาวบ้านช่วยกันหามาได้เอง แต่หากปีไหนที่ฝายเสียหายหนัก อบต.ก็ออกมาช่วยซ่อมให้ โดยมีงบประมาณหรือเครื่องจักรกลช่วยทุ่นแรงชาวบ้านและจากนั้นมาทุกปี เมื่อถึงเวลาซ่อมฝายพวกผม ซึ่งเป็น ส.อบต. และ นายกอบต.จะลงมาร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านตลอด”

          ส่วนการทำหน้าที่ “แก่ฝ่าย” หรือ”นายฝาย” เป็นตำแหน่งที่ต้องเสียสละอดทน และมีไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับการจัดการน้ำให้ได้ตลอดเวลา และเป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว

          “ถึงไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ผมก็เต็มใจนะ เพราะว่าเป็นความไว้วางใจและให้เกียรติเราจากคนทั้งหมู่บ้าน ไม่ใช่ใครจะเป็นได้ง่ายๆ ต้องได้รับการยอมรับและมีความรู้เรื่องการจัดการน้ำ การแบ่งน้ำให้กับคนใช้ได้อย่างดี รวมถึงแก้ปัญหาพิพาทเรื่องน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีด้วย การทำงานตรงนี้ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่ความสุขกับการได้อยู่กับผืนป่ามีน้ำใช้ตลอดปี และชุมชนมีความสามัคคี ร่วมกันทำนุบำรุงฝายคือกิจกรรมที่ยึดเหนี่ยวคนน้ำปุกด้วยดีเสมอมา”

         

         

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.