Select Page

ศูนย์ฟื้นฟูพิษไฟใต้ หวังกลางควันปืน

ศูนย์ฟื้นฟูพิษไฟใต้ หวังกลางควันปืน

ผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังเหลือผู้มีลมหายใจอยู่ แต่ร่างกายพิการและสภาพจิตใจย่ำแย่ต้องเยียวยา  เรื่องการเยียวยานี้ มีหลายหน่วยงานเกิดขึ้นอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม และทำกันอย่างจริงจังคือ ทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้พิการในจังหวัดปัตตานี

          นั่นคือโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจในจังหวัดชาย-แดนภาคใต้ มีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเสริมทางด้านข้อมูลวิชาการในการดูแลจิตใจผู้พิการที่ได้รับผลกระทบ และร่วมลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเยียวยาและติดตามประเมินอาการผู้ได้รับผลกระทบถึงบ้าน

          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ตัวเลขผู้พิการจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2552 มีจำนวนผู้พิการจากเหตุการณ์รวมทั้งสิ้น 287 คน

          แยกเป็น จ.ปัตตานี 86 คน จ.ยะลา 95 คน และ จ.นราธิวาส 106 คน ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากระบบคัดกรองผู้พิการโดยมีนักจิตวิทยาเป็นผู้คัดกรองผ่านช่องทางของโรงพยาบาล และได้มาจากงานสาธารณสุขผ่านการค้นหาโดย อสม. สปสช. และ อบต. ซึ่งเป็นผู้พิการที่อยู่นอกระบบข้อมูล

          “ผู้พิการบางรายมีลักษณะอาการเป็นอัมพาตครึ่งท่อน มีแผลกดทับเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ไม่สามารถอาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำได้เอง จะต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา บางรายจะมีอาการวิตกกังวลในระดับค่อนข้างสูงเกี่ยวกับ เหตุการณ์ จะมีอาการตกใจทุกครั้งเวลาได้ยินเสียงดัง เพราะยังนึกถึงเสียงในวันเกิดเหตุ อาการเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่จะนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเร่งด่วน” นพ.วชิระกล่าว

          การทำงานเยียวยาเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะทำงานเยียวยาผู้พิการฯ นพ.วชิระบอกว่า ได้เริ่มนำร่องแห่งแรกที่ จ.ปัตตานี โดยได้กำหนดกรอบการทำงานไว้ 6 ด้านหลักๆด้วยกัน

 

          คือด้านฐานข้อมูลผู้พิการ ด้านการประเมินปัญหาทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ด้านการลงพื้นที่เยี่ยมเยียน ด้านการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและการดูแลด้านอาชีพรายได้และด้านอุปกรณ์ โดยจะมีการจัดตั้งทีม สหวิชาชีพเป็นแกนหลักในการดูแลช่วยเหลือผู้พิการในพื้นที่และมีทีมเยียวยาโรงพยาบาลปัตตานี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานด้านฐานข้อมูลผู้พิการและเป็นศูนย์กลางในการจัดระบบการทำงานในการดูแลผู้พิการจากเหตุการณ์ทั้งจังหวัด

          ผลจากการทำงานของทีมสหวิชาชีพ ทำให้ผู้พิการได้รับการดูแลและคำแนะนำที่ถูกต้องจากทีมสหวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นการดูแลแบบองค์รวม

          และยังทำให้เกิดการรวมตัวในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาคนพิการ (CLC) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการถ่ายทอดองค์ความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้พิการโดยชุมชน ผู้ดูแลผู้พิการและตัวผู้พิการได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆตามศักยภาพที่มีอยู่ ช่วยให้ผู้พิการและชุมชนได้รับการเสริมองค์ความรู้และสามารถดูแลกันเองได้

          การทำงานในระดับพื้นที่จึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ อย่างเช่น ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน เพื่อการพื้นฟูและพัฒนาคนพิการตำบลยาบี (CLC) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านคู หมู่ 5 ต.ยาบี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

          นางปาริชาติ แก้วทองประคำ นักวิชาการชำนาญการ สถานีอนามัยตำบลยาบี กล่าวว่า ก่อนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน เพื่อการพื้นฟูและพัฒนาคนพิการ ต.ยาบี แกนนำชุมชน อสม. อบต. รวมทั้งสถานีอนามัย ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ และ ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา จึงได้เห็นแนวทางที่จะสร้างศักยภาพให้กับผู้พิการได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ

          เนื่องจากปัจจุบันผู้พิการในชุมชนยาบีมีหลายคนที่มีศักยภาพในตนเอง แต่ขาดปัจจัยในการสนับสนุนเพื่อดึงศักยภาพออกมา รวมทั้งผู้พิการยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เนื่องจากขาดบุคลากรในการดูแลผู้พิการ จากการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดูแลเยียวยาฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพผู้พิการทำให้เห็นแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ CLC ตลอดจนขั้นตอนการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

          การดูแลเยียวยาผู้พิการนี้ ต้องอาศัยผู้ดูแลที่มีจิตอาสาจริงๆ การใช้ต้นทุนทางสังคมจากคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชนมาช่วยกันดูแลก็จะดูเป็นครอบครัวใหญ่ซึ่งจะสามารถดูแลผู้พิการได้ทั้งทางกายและใจ สามารถสร้างกำลังใจให้ผู้พิการมีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะเอาชนะความพิการทางร่างกายด้วยจิตใจที่สมบูรณ์ไม่แพ้คนปกติ

          นายสุทิน จันทรสิริ วัย 65 ปี เป็นผู้ที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ขณะที่เป็นคนขับรถนำชาวบ้าน 20 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็ก 6 คน โดยสารรถกระบะบรรทุก เพื่อไปทำงานที่โครงการฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก

          ก่อนถึงโครงการฟาร์มตัวอย่างประมาณ 500 เมตร คนร้าย 4 คน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเข้าประกบและคนร้ายที่ซ้อนท้าย ใช้ปืนอาก้ากราดยิงเข้าใส่ กระสุนถูกชาวบ้านเสียชีวิต 3 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน โดย 2 คนจากการบาดเจ็บยังไม่สามารถเดินได้ ด้วยตนเอง

          ปัจจุบันลุงสุทินได้อาสาเข้ามาเป็นผู้ให้การช่วยเหลือในฐานะประธานศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน เพื่อการพื้นฟูและพัฒนาคนพิการตำบลยาบี

          ลุงสุทินบอกว่า ศูนย์ฯจะให้การดูแลผู้ที่พิการจากเหตุการณ์และผู้ที่พิการจากการเจ็บป่วย เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่รู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวัง เพราะผู้พิการได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้พิการด้วยกันเอง จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักของการเยียวยากันเอง 

          แนวทางการทำงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างชุมชน จิตแพทย์ รพ.ปัตตานี แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด ทีมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 ในการค้นหา เมื่อพบผู้พิการจะมีการจัดหาอุปกรณ์ในการฟื้นฟูมาทำกายภาพบำบัด

          ส่วนในเรื่องของการเยียวยาจิตใจหากผู้ที่มีอาการซึมเศร้าก็จะมีทีมสหวิชาชีพ รพ.หนองจิกเข้ามาดูแล

          “ส่วนสิ่งที่ทางศูนย์มีความต้องการเพิ่มเติมนอกเหนือจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการกายภาพบำบัดหรือใช้ในการออกกำลังกายก็คือ ต้องการไก่ไข่ เพื่อนำมาเลี้ยงและสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริมให้กับผู้พิการได้” ลุงสุทินบอก

          การเริ่มต้นในงานเยียวยาจิตใจผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หากสามารถเริ่มนับหนึ่งได้จากชุมชน ก็จะกลายเป็นพลังเสริมให้กับหน่วยงานภาครัฐ จากการที่ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

 

          โดยเฉพาะการส่งเสริมให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่รู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวัง.–จบ–

 

 

 

          ที่มา: http://www.thairath.co.th

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.