Select Page

วิกฤตน้ำหน้าฝน ผลจากเอลนิโญ

วิกฤตน้ำหน้าฝน ผลจากเอลนิโญ

ผลจากการเฝ้าระวังปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นบริเวณกว้าง พบว่า…บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ เริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะการเกิดปรากฏการณ์ เอลนิโญ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552

          เอลนิโญ ที่รับรู้…เข้าใจกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน หมายถึง…ปรากฏการณ์ การอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของน้ำทะเลบริเวณตอนกลาง และตะวันออกของมหาสมุทร แปซิฟิกเขตร้อน

          ปัจจุบัน…อิทธิพลลมที่พัดมาจากทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก(ทางฝั่งทวีปอเมริกา) ไปทางทิศตะวันตกของมหาสมุทร (ทางฝั่งทวีปออสเตรเลีย) อ่อนกำลังลงบางครั้งมีการพัดเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดพายุฝนรุนแรง มีอุทกภัยในแถบประเทศชายฝั่งทะเลของทวีปอเมริกาใต้

          ในทางกลับกัน จะเกิดความแห้งแล้ง ไฟป่าในแถบประเทศอินโดนีเซีย ทวีปออสเตรเลีย เนื่องจากฝนไปตกกลางมหาสมุทรแปซิฟิก แทนที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทร (ทางฝั่งทวีปออสเตรเลีย) เหมือนอย่างเช่นปีปกติ

          รศ.ดร.สายสุนีย์ พุทธาคุณเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร บอกว่า ประเทศไทย ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญหนนี้ ส่งผลให้ฤดูฝนปีนี้เริ่มมีฝนตกในช่วงต้นฤดู…ล่าช้ากว่าปีปกติ

          ปริมาณน้ำฝนโดยรวม จะมีค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติในฤดูร้อนที่ผ่านมา ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2553 ประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าวที่สุดในรอบทศวรรษ (ระหว่างปี 2543-2553) มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส

          แต่เมื่อพิจารณาตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลอุณหภูมิทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2494 พบว่าอุณหภูมิสูงเป็นอันดับสองรองจากปี 2541 เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญระดับรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก…

          ปี 2541 เป็นปีที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงสุดในรอบ 100 ปี นับเป็นปีที่ร้อนที่สุดในศตวรรษที่ 20 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในประเทศไทย สูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 1.8 องศาเซลเซียส

          เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพ อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด โรคลมแดด (heat stroke) หรือบางที่เรียกว่า “โรคอุณหพาต” หรือ “โรคลมเหตุร้อน” ในรายที่ร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลได้ จนทำให้ความร้อนในร่างกายเพิ่มสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

          “โรคลมแดดเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที”

          รศ.ดร.สายสุนีย์ บอกว่า ยังดีที่เอลนิโญครั้งนี้ ไม่ยาวนานต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เพราะผลจากการเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก พบว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มลดระดับความรุนแรงลงมาแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553

          ปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาวะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะปกติ โดยคาดว่า จะใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจากสภาวะเอลนิโญเข้าสู่ฤดูกาลปกติในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2553

          “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในลักษณะนี้ แม้จะเข้าสู่ช่วงปกติ แต่ก็จะส่งผลให้ในปีนี้ฤดูฝนในประเทศไทยจะล่าช้าออกไป…”

          โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จะมีปริมาณน้ำฝนโดยรวมต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เนื่องจากสภาวะเอลนิโญกินเวลายาวนานล้ำเข้ามาถึงต้นฤดูฝนของประเทศไทย กว่าอิทธิพลของปรากฏการณ์นี้จะหมดลง…ร่องฝนของประเทศก็พาดต่ำลงมาทางตอนล่างของภาคเหนือแล้ว

          “ปีนี้ประเทศไทยถือว่าโชคร้าย” รศ.ดร.สายสุนีย์ ว่า “ด้วยอิทธิพลจากเอลนิโญที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทำให้ในฤดูฝนปีที่แล้วมีพายุจร ที่เรียกว่าพายุหมุนเขตร้อน ที่จะให้น้ำอย่างเป็นน้ำเป็นเนื้อยิ่งกว่าฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ตกในฤดู”

          น้ำเหล่านี้…แม้ว่าจะมาเติมลงในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบนแต่ก็มีปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ จึงกำลังประสบภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง

          ต้นเดือนมิถุนายน 2553…อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำเก็บกักเหลืออยู่เพียง 4,237 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯทั้งหมด ในขณะที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำเก็บกักเหลืออยู่ 3,385 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯทั้งหมด

          ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 9 ของความจุอ่างฯทั้งหมด

          ภาพใหญ่วิกฤติน้ำที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ทุกฝ่ายจึงกำลังตั้งตารอฝนที่เลื่อนล่าช้าออกไปจากช่วงเวลาปกติกันอย่างใจจดใจจ่อ รศ.ดร.สายสุนีย์ บอกว่า แม้ว่าสภาวะเอลนิโญกำลังผ่านพ้นไป ก็ยังต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะสมดุลของภูมิอากาศเสียก่อน กว่า…ฤดูกาลจะกลับคืนสู่สภาพปกติ ใช้เวลาอีกประมาณ 1-3 เดือน

          ทว่า…ปฏิกิริยาอันซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงพลังงานระหว่างบรรยากาศ ภาคพื้นทวีป และน้ำในมหาสมุทรที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นบริเวณกว้าง มีการผันแปร เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

          “การคาดคะเนอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณน้ำฝน ช่วงระยะเวลาที่จะเกิดฝนตามฤดูกาลปกติ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีกในลักษณะทอดเวลายาวออกไปนานกว่าที่คาดคะเนได้ในวันนี้ หรือไม่…อาจจะเปลี่ยนแปลงกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นกว่าที่คาดก็เป็นได้”

          รศ.ดร.สายสุนีย์ บอกอีกว่า ปัจจุบันแม้ว่าจะไม่สามารถคาดคะเนปริมาณน้ำฝนในปีนี้ได้ แต่ในภาวการณ์เฉพาะหน้า ที่ส่อเค้าชัดเจนว่าปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ภาคเหนือจะมีปริมาณต่ำกว่าปกติ ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ…อาจจะส่งผลให้เกิดความขาดแคลนน้ำข้ามยาวไปถึงฤดูแล้งปี 2554

          ชัดเจนว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ ต่อเนื่องไปถึงฤดูแล้งในปี 2554 จึงเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ และน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่หน่วยงานรับผิดชอบต้องเตรียมมาตรการรองรับ โดยเฉพาะมาตรการการบริหารจัดการน้ำ

          จับตาเขื่อนใหญ่ๆ…อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ สองแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

          ข้อมูลล่าช่วงต้นเดือนมิถุนายน อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำสำหรับใช้งานได้เหลือเพียง 430 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้เหลือเพียง 530 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากในรอบ 18 ปี รองจากที่เคยเกิดวิกฤติ ภัยแล้ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535

          เฉลี่ยทั่วไปอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ จะต้องจัดสรรน้ำให้กับความต้องการใช้น้ำในด้านต่างๆ ในฤดูฝนเฉลี่ยประมาณ 2,000-2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร และฤดูแล้งเฉลี่ยประมาณ 3,100-3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร

          เมื่อมีน้ำใช้น้อยลง แต่ยังจำเป็นต้องใช้น้ำอยู่เหมือนเดิม จำเป็นต้อง บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนความต้องการใช้น้ำสูงที่สุด อยู่ที่ 70%

          “วันนี้…แม้ว่าอิทธิพลเอลนิโญกำลังผ่านพ้นไป เริ่มมีฝนตกแล้วในหลายพื้นที่ แต่ภายในฤดูฝนปีนี้ ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ก็ยังไม่สามารถชดเชย เติมเต็มน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งสองได้”

          ถ้าไม่อยากให้วิกฤติน้ำ…เป็นปัญหารุนแรงถึงขั้นช่วงชิง แย่งน้ำกันใช้ดังที่เกิดขั้นมาแล้วในพื้นที่จังหวัดระยอง ชาวบ้าน…ชุมชนแย่งน้ำใช้กับโรงงาน…ภาคอุตสาหกรรม

          มาตรการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนคือทางออกวิกฤติน้ำปีนี้ ก็ควรตระหนักถึงปัญหาความขาดแคลนน้ำใช้น้ำในทุกกิจกรรมอย่างประหยัด อย่างมีประสิทธิภาพ  คำนึงถึงลำดับความสำคัญของการแบ่งปันการใช้น้ำเป็นหลัก มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง วิกฤติน้ำได้อย่างยั่งยืน.–จบ–

 

 

 

          ที่มา: http://www.thairath.co.th

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.