Select Page

เมื่อเครื่องบินโดยสาร ไม่ต้องมี “นักบิน”

เมื่อเครื่องบินโดยสาร ไม่ต้องมี “นักบิน”

เครื่องบินที่ไม่มี “คน” ทำหน้าที่ “นักบิน” หรือ “โดรน” นั้น ใช้กันอยู่จนเป็นเรื่องปกติในกิจการด้านการทหาร และการรักษาความปลอดภัย มีประสิทธิภาพในระดับที่แวดวงการประยุกต์ใช้เริ่มขยายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

               ตั้งแต่การนำมาใช้เพื่อการเกษตร การดูแลรักษาป่า ล่าสุดในเยอรมนียังคิดจะนำไปใช้เพื่อ “กำราบ” บรรดา มือพ่นผนังรถไฟใต้ดินทั้งหลายอีกด้วย  แต่การทำให้เครื่องบินโดยสารทั่วไปสามารถบินได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถบินพาผู้โดยสารไปไหนมาไหนตามจุดหมายปลายทางที่ต้องการ เป็นอีกคนละเรื่อง ซึ่งมีผลสะเทือนใหญ่โตมากมายกว่ามากนัก

              โดรนแต่ละลำตก ความสูญเสียจำกัดอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเครื่องบินพาณิชย์แต่ละลำตก ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมีมูลค่ามากมายมหาศาล ในบางกรณีเราอาจสูญเสียบุคคลที่มีคุณค่าชนิด “หาค่ามิได้” ไปกับอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียวนั้น

                แต่การใช้ระบบอัตโนมัติบินเครื่องบินพาณิชย์มี “ตรรกะ” อยู่ในตัวของมันเอง เพราะแม้แต่นักบินส่วนหนึ่งยังยอมรับว่า การบินเครื่องบินพาณิชย์บนเส้นทางเดิม เป็นงานซ้ำซากๆ ที่น่าเบื่อด้วยซ้ำไป นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าหากไม่เกิดกรณีเครื่องบินเผชิญพายุ หรืออุปสรรคอื่นใดแล้ว นักบินที่เป็นคนจะเข้าไป “มีเอี่ยว” กับการบินของเครื่องบินพาณิชย์ก็เพียงแค่ในตอน “เทก ออฟ” แล้วก็ “แลนดิ้ง” เท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือเป็นฝีมือของระบบการบินอัตโนมัติของเครื่องบินนั่นเอง บางคนถึงกับบอกว่า ในอนาคตเครื่องบินพาณิชย์ที่บินเองได้ ไม่ต้องพึ่งคนเป็นนักบินอีกต่อไป มีขึ้นจริงอย่างแน่นอน ที่ต้องถามกันก็คือว่า จะมีมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

                นั่นคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการก่อตั้ง “คอนซอร์เตียม” ที่ขอเรียกง่ายๆ ว่า “กิจการลงขัน” ร่วมกันระหว่างรัฐบาลอังกฤษฝ่ายหนึ่ง กับธุรกิจเอกชนอีกจำนวนหนึ่งขึ้นมาใช้ชื่อเรียกยาวเหยียดว่า “การวัดคุณค่าและประเมินศักยภาพของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติที่เกี่ยวเรื่องกับการบิน” จำชื่อย่อสั้นๆ ว่า “แอสเทรีย” ไว้จะง่ายกว่ามาก  “แอสเทรีย” มีภารกิจสำคัญก็คือ ทดสอบว่าระบบการบินอัตโนมัติสำหรับเครื่องบินพาณิชย์นั้น ทำได้หรือไม่ ควรนำมาใช้หรือไม่

                ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แอทเทรีย เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อราวกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เมื่อเดือนเมษายนมีการทดสอบเที่ยวบินหนึ่ง เดินทางไป-กลับระหว่างเมืองวอร์ตัน ประเทศอังกฤษ กับเมืองอินเวอร์เนสส์ในสก็อตแลนด์ ระยะทาง 500 ไมล์ (หรือ 800 กิโลเมตร) โดยที่นอกจากการเทกออฟ แล้วก็แลนดิ้งแล้ว ในห้องนักบินไม่มีคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีกเลย ทุกอย่างเป็นการบินด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด

                เครื่องบินที่ใช้ในการทดสอบเป็นเครื่องบินเจ็ทสตรีม 19 ที่นั่ง ซึ่งนักธุรกิจนิยมกันนักกันหนาใช้เป็นเครื่องบินส่วนตัวกันมากมาย แต่ถูกปรับปรุงให้บินอัตโนมัติได้

                 แอสเทรียบอกว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินอัตโนมัติแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการทดสอบระบบ “หลีกเลี่ยงภาวะอากาศแปรปรวนอัตโนมัติ” บริเวณน่านฟ้าเหนือทะเลไอริช, ผ่านขั้นตอนนั้นไปก็จะเป็นการทดสอบระบบเซ็นเซอร์อินฟาเรด เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคในกรณีที่ต้องร่อนลงฉุกเฉิน ซึ่งถ้าหากผ่านไปได้ด้วยดี แอสเทรียก็จะเริ่มการทดสอบระบบอัตโนมัติที่สามารถ “สื่อสาร” กับ “หอบังคับการบิน” ได้ ในเวลาเดียวกันก็จะสามารถรับรู้และหลีกเลี่ยงเครื่องบินลำอื่นๆ ที่อยู่ในระยะห่างที่กำหนดไว้ได้

                 เมื่อนั้นทางแอสเทรียถึงจะทดสอบครั้งใหญ่ที่สุดกับการ “เทกออฟ” หรือการนำเครื่องขึ้นบินตั้งระดับและการร่อนลงจอด หรือแลนดิ้งด้วยระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้คน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบินมั่นใจเหลือหลายว่า เทคโนโลยีด้านนี้เป็นไปได้และพัฒนาเร็วมากจนเวลานั้นอาจจะมาถึงในอีกไม่นาน  แต่ต้องเอาชนะ “จิตวิทยา” ของผู้โดยสารให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2556 หน้า 9

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.