Select Page

50 วัน 3 แผ่นดินไหว สัญญาณ! โลกป่วย!

50 วัน 3 แผ่นดินไหว สัญญาณ! โลกป่วย!

ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 50 วัน…โลกมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ติดต่อกันขนาดนี้ คนจำนวนไม่น้อยคงตั้งคำถาม…เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรากันแน่?

          นับจากเหตุแผ่นดินไหวประเทศเฮติ…วันที่ 12 มกราคม 2553 วัดความรุนแรงได้ 7.0 ริกเตอร์ ทิ้งช่วงเพียง 45 วัน ก็เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศชิลี ระดับความรุนแรงถึง 8.8 ริกเตอร์ ไม่กี่ชั่วโมง…ก็ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก  และอีก 5 วันถัดมา…วันที่ 4 มีนาคม 2553 ก็เกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งที่ประเทศไต้หวัน วัดความรุนแรงได้ 6.4 ริกเตอร์

          ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 50 วัน…โลกมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ติดต่อกันขนาดนี้ คนจำนวนไม่น้อยคงตั้งคำถาม…เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรากันแน่?

          “การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกมีลักษณะที่รุนแรงขึ้น…เคลื่อนที่เร็วขึ้น เปรียบเสมือนโดมิโน…ทั้งสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ความสมดุลของโลกเปลี่ยนไป”

          ผศ.ดร.ปรีชาพร สุวัฒโนดม หรือ ด็อกเตอร์โอ๋ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สังกัดสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ปัจจุบันช่วยราชการสำนักงานผู้แทนการค้าไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล บอก

          เห็นได้จากกรณีตัวอย่าง เมืองลาสเวกัส ในรัฐเนวาดา ตั้งอยู่กลางทะเลทราย แต่เกิดมีหิมะตกลงมาเมื่อต้นปีที่แล้ว สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนทั่วโลก การเกิดพายุที่มากขึ้น…รุนแรงมากขึ้น น้ำแข็งละลายมากขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปมาก…หน้าร้อนจะร้อนมาก หน้าหนาวก็จะหนาวมาก

          หรือแม้แต่…การเกิดแผ่นดินไหวที่ถี่มากขึ้นทั่วโลก ด็อกเตอร์โอ๋ บอกว่า สัญญาณเหล่านี้…แสดงให้เห็นถึงสัญญาณอันตรายที่อาจจะเกิดภัยธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ตามมา

          การเกิดแผ่นดินไหว…ยังส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติอื่นๆได้ เช่น…สึนามิ แผ่นดินไหวทำให้น้ำปริมาณมากเกิดการเคลื่อนตัว เมื่อแผ่นดินใต้ทะเลขยับอย่างกะทันหัน…น้ำทะเลก็จะปรับระดับให้เข้าสู่จุดสมดุล…ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ

          ล่าสุด…แผ่นดินไหวยังทำให้แกนของโลกเอียงลงได้ ส่งผลทำให้ระยะเวลาต่อวันสั้นลงไป เป็นผลจากแรงสั่นสะเทือนต่อการหมุนรอบตัวเองของโลก กระทบถึงระยะของวันเวลา

          เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกหนนี้ ด็อกเตอร์โอ๋ มองว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่มีใคร หรือนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้

          “เราทำได้แค่เตรียมรับมือเท่านั้น”

          กรณีพายุอาจมีการเตือนล่วงหน้าได้ 2-3 วัน…การเกิดสึนามิอาจทำการเตือนล่วงหน้าได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง…แต่การเกิดแผ่นดินไหว เราสามารถรับรู้ได้ก่อนภายในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งนาทีเท่านั้น

          หากไม่มีการเตรียมรับมือในเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

          ไม่ว่าจะเป็น…แผ่นดินไหวที่ประเทศจีน ปี 1556 ที่เมืองชานสี (Shannxi) ได้คร่าชีวิตผู้คนถึง 830,000 คน และต่อมาในปี 1920 ที่เมืองไห่หยวน (Haiyuan) มีผู้เสียชีวิต 200,000 คน

          ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1923 ที่เมืองคันโต (Kanto) ตึกมากกว่า 2 ใน 5 ของประเทศได้พังทลายลงมาหลังการเกิดแผ่นดินไหว

          น่าสังเกตว่า ในอดีตความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งมีน้อย…ต่างจากในปัจจุบันที่มีความถี่มากขึ้น…ช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน เกิดแผ่นไหวรุนแรงถึง 3 ประเทศ ทั้งที่แต่ละประเทศตั้งอยู่คนละเปลือกโลก

          ประเด็นสนใจ แผ่นดินไหวทั้ง 3 ครั้ง…ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งยังไม่รวมถึงอาฟเตอร์ช็อกของทั้ง 3 ประเทศที่รวมกันมากถึงเกือบ 100 ครั้ง และวัดความรุนแรงได้มากถึง 6.9 ริกเตอร์สเกล

          คำว่า “ริกเตอร์สเกล” ที่เราได้ยินกันบ่อยครั้ง หมายถึงค่าความรุนแรงของคลื่นสั่นสะเทือนใต้พื้นดินก่อนการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งวัดได้จาก 0-10 ริกเตอร์สเกล

          โดยปกติในระดับความรุนแรง 6.0-6.9 ริกเตอร์ เป็นระดับที่สามารถทำให้ตึกที่ไม่แข็งแรงพังลงมาได้ ในกรณีของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เฮติวัดได้ 7.0 ริกเตอร์…ที่ชิลีวัดได้ 8.8 ริกเตอร์ และล่าสุด…ที่ไต้หวันวัดได้ 6.4 ริกเตอร์

          นั่นแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับในประเทศไทยเมื่อครั้งตอนเกิดสึนามิในปี 2547 วัดได้มากถึง 9.3 ริกเตอร์

          ความรุนแรงจาก 6 ริกเตอร์ไปเป็น 7 ริกเตอร์…มีความรุนแรงมากขึ้นถึง 10 เท่า…นั่นหมายความว่าถ้าจาก 6 ริกเตอร์ไปเป็น 8 ริกเตอร์ ความรุนแรงจะเพิ่มมากถึง 100 เท่าทีเดียว

          ทั้งนี้…ความรุนแรงยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความห่างไกลจากศูนย์กลางของการเกิดแผ่นไหว ที่ตั้งของประเทศ และลักษณะของสิ่งปลูกสร้างในแต่ละประเทศ ซึ่งความเสียหายจะรุนแรงมากที่สุดในประเทศที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกและอยู่ใกล้ศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหว

          ประสบการณ์ด็อกเตอร์ด้านวิศวโยธาจากต่างประเทศ ทำให้ด็อกเตอร์โอ๋ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของผิวโลก ลึกลงไปถึงแผ่นเปลือกโลกเพราะต้องออกแบบสร้างอาคารให้สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้… 

          สำหรับประเทศไทย แม้ว่าไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของเปลือกโลก และถึงแม้จะมีประเทศเวียดนามตั้งอยู่ทางด้านขวา ประเทศพม่าทางด้านซ้าย และอินโดนีเซียทางตอนล่าง มาช่วยซับแรงสั่นสะเทือนได้ในระดับหนึ่ง…

          ทำให้พื้นที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรงน้อยกว่าประเทศอื่นมาก แต่สังเกตได้ว่า…เมื่อก่อนที่เราเชื่อมั่นว่าจะไม่มีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในประเทศไทยเลย แต่ระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดแผ่นดินไหวไปแล้วหลายครั้ง

          “คนที่อยู่ทางภาคเหนือ รวมถึงคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ คงได้สัมผัส…รู้สึกได้ถึงการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว”

          แม้ว่าจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวจะอยู่ในประเทศข้างเคียง แต่ก็ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับประเทศไทยได้เหมือนกัน…ถ้าไม่เตรียมพร้อมที่ดี

          ด็อกเตอร์โอ๋ บอกว่า อาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีลักษณะเป็นห้องแถว หรือบ้านที่เป็นลักษณะสองชั้น…ส่วนใหญ่เป็นอาคารทรงเก่า ฉะนั้นถ้าเกิดการทรุดตัว อาคารทั้งหมดจะดึงกันให้ทรุดตัวลงไปอีก เนื่องจากมีกำแพงติดกัน

          “อาคารสูงๆ…ก็จะมีลักษณะเหมือนอย่างในประเทศไต้หวัน เวลาที่ทรุดตัว จะเอียงหักลงมา…และทรุดตัว จะไม่หักลงมาทับกันเหมือนขนมชั้นหรือแพนเค้ก

          เราต้องประเมินระดับความต้านทานแผ่นดินไหวของอาคารในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งต้องศึกษาหาวิธีปรับปรุงอาคารที่อ่อนแอทั้งแบบเก่า แบบที่สร้างใหม่…ให้มีความต้านทานแผ่นดินไหว”

          ที่ขาดไม่ได้…ควรเตรียมถุงยังชีพตั้งไว้จุดที่ใกล้ตัวที่สุด เช่น ไฟฉาย น้ำดื่ม ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาหารแห้ง หรืออาหารกระป๋องที่เปิดได้เลย และเพื่อป้องกันล่วงหน้า ไม่ควรมีของแข็ง ของหนักแขวนไว้บนหัวเตียง หรือที่ ที่สามารถตกลงมาใส่ในร่างกายได้

          ด็อกเตอร์โอ๋ บอกอีกว่า เราคงหนีความเสี่ยงเลี่ยงแผ่นดินไหวไม่พ้น อีกประเด็นที่ต้องรู้คือลักษณะพื้นดินที่อ่อน เป็นตะกอนดินร่วน…ซึ่งมีคุณสมบัติขยายคลื่นแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น

          “ทำให้ต้องประเมิน ศึกษาพื้นที่ที่เสี่ยงภัย…ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินร่วนซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายสูง ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่รวมถึงทุกๆจังหวัด โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง เพราะเป็นพื้นที่…ที่เป็นชั้นตะกอนดินร่วน”

          เมื่อวิเคราะห์หาเสถียรภาพของพื้นที่และโครงสร้างใต้ดินแล้ว ก็ควรสร้างอาคารที่รองรับแผ่นดินไหวได้ อย่างประเทศญี่ปุ่น พบว่า สถิติการเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวลดลงเนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารต่างๆพิถีพิถันมากขึ้นและมีการสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหว

        ข้อมูลข้างต้นเหล่านี้ เป็นการเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้…เราคงต้องยึดหลักตื่นตัว…ไม่ประมาท และไม่ตื่นกลัวมากจนเกินไป

          เหตุการณ์สึนามิที่เกิดกับประเทศไทยเมื่อปี 2547 สร้างความเสียหายเอาไว้มากมาย ผ่านมาถึงวันนี้…6 ปีแล้ว คงไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า…จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เมื่อไหร่

          “ในช่วงชีวิต เราอาจได้เห็นสึนามิมากกว่าหนึ่งครั้ง…เหมือนกับการเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดห่างกันเพียงไม่กี่วันเท่านั้นในครั้งนี้ และชีวิตเราในชาตินี้ก็ไม่แน่ว่า…อาจจะได้สัมผัสถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศไทย” 

          ด็อกเตอร์โอ๋ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : นสพ ไทยรัฐ วันที่ 8 มีนาคม 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.