Select Page

เด็กลาดกระบังเหมา 3 ผลงาน สร้างบ้านอยู่กับน้ำ รับมือน้ำท่วม

เด็กลาดกระบังเหมา 3 ผลงาน สร้างบ้านอยู่กับน้ำ รับมือน้ำท่วม

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า ‘สภาวะโลกร้อน’ ได้ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ บ่อยครั้งและทวีความรุนแรงขึ้น ดังที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ที่สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินและสภาพจิตใจของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะความเสียหายของที่อยู่อาศัยของประชาชนในหลายจังหวัดมูลค่ามหาศาล

          บทเรียนที่ผ่านมา จึงเกิดมาตรการรับมือภัยพิบัติด้านอุทกภัยในอนาคต ซึ่งหนึ่งในมาตรการนั้น คือ การกำหนดพื้นที่รับน้ำและพื้นที่น้ำไหลผ่าน (Floodway) จากมาตรการดังกล่าวนี้ จะทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อย และประชาชนบางคนยังขาดความสามารถในการจัดหาเงินทุนปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อรับมือกับการเป็นพื้นที่รับน้ำดังกล่าวได้ อาทิ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย เป็นต้น

           มูลนิธิที่อยู่อาศัยประเทศไทย ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้ความช่วยเหลือก่อนเกิดอุทกภัยแก่กลุ่มคนดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากบริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ได้จัดโครงการประกวดออกแบบบ้าน “Floodway Home – บ้านอยู่กับน้ำ” สำหรับผู้มีรายได้น้อย มีความสวยงาม แข็งแรง ปลอดภัย สามารถรับมือกับอุทกภัยได้ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างตราช้างและคอตโต้ในการสร้างตามแบบที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบตัดสิน

        นางสาวกาญจนี สุจรรยาทวี ผู้จัดการแบรนด์เอนเกจเม้นท์ (Brand Engament Manager) สำนักงานบริหารแบรนด์ บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เปิดเผยว่า การจัดประกวดนี้ ต้องการให้นิสิตและนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้เข้าร่วมพัฒนาแบบบ้านให้มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน สามารถรับสถานการณ์ที่เกี่ยวกับน้ำได้ และมีความตั้งใจให้แบบบ้าน 3 แบบ จาก 10 แบบ ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ถูกนำไปสร้างจริงบนพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง และมอบให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อไป งบการก่อสร้างตามแบบบ้านทั้ง 3 หลังนี้ กำหนดให้รวมค่าของและค่าแรงไม่เกิน 150,000 บาท ไม่รวมฐานราก เป็นบ้านเดี่ยวพื้นที่ใช้สอย 32-40 ตารางเมตร สมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 4 คน สร้างด้วยวัสดุก่อสร้างตราช้าง สามารถขยายและต่อเติมได้ในอนาคต

         นักศึกษาเจ้าของ 10 ผลงานออกแบบบ้านอยู่กับน้ำ ได้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างภายใต้แบรนด์ตราช้างที่มีคุณสมบัติทนทานต่อน้ำ ได้แก่ วัสดุโครงสร้างพื้นฐานของบ้านคือ ปูนซีเมนต์และเหล็กระบบหลังคาตราช้าง ซึ่งสามารถทนต่อแรงลมสูง ประกอบด้วยโครงสร้างหลังคาสำเร็จรูป อุปกรณ์ยึดกระเบื้องกันปลิวและวัสดุปิดรอยต่อกันการรั่วซึม รวมทั้งวัสดุที่ใช้ในการต่อเติมบ้าน คือ ฝ้าผนังสมาร์ทบอร์ด และไม้พื้น ไม้ฝาสมาร์ทวุด การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติทนน้ำ แช่น้ำได้นานๆ ไม่เปื่อยยุ่ย การใช้หลังคาและยึดกระเบื้องไม่ให้ปลิวตามแรงลม สามารถออกแบบบ้านภายใต้งบที่จำกัดได้อย่างสวยงามและน่าสนใจ โชว์ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบได้ดีมาก” นางสาวกาญจนี กล่าว

          ล่าสุด คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากตราช้าง คอตโต้ และมูลนิธิที่อยู่อาศัยประเทศไทย ได้ร่วมคัดเลือกผลงานที่ออกแบบได้ตรงตามแนวคิดของโครงการฯ และใช้วัสดุที่ตอบโจทย์ของความทนทานต่อน้ำได้ดี 3 ผลงานสุดท้ายเพื่อนำไปสร้างในพื้นที่จริง ได้แก่

           1. ผลงาน ‘FLOW’ โดย น.ส.รวิภา อุสาหะนันท์ และนายธาวิน หาญบุญเศรษฐ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ซึ่งใช้แนวความคิด “บ้านที่ไหลเวียนได้ ทั้งเรื่อง น้ำ อากาศ การอยู่อาศัย” ด้วยประสบการณ์จากการเป็นอาสาสมัครลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทำให้ทราบว่าปัญหาหลักๆ ของผู้ประสบภัยคือ การขาดแคลนของอุปโภคบริโภคจำเป็น ดังนั้น จึงออกแบบบ้านโดยเน้นเรื่องการระบายอากาศ การปั่นไฟ การสำรองน้ำ บ้านที่จะอยู่กับน้ำได้จะต้องสามารถระบายอากาศได้มากกว่าปกติ จึงมีหน้าต่าง แบบเปิดกว้าง

         นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบเป็นบ้านเชื่อมต่อกัน 2 หลัง หลังหนึ่งมีชั้นใต้ถุนสูง 1 เมตร ส่วนอีกหลังมีใต้ถุนสูง 2 เมตร เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่ต่างกันไป นอกจากนี้ ส่วนกลางที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านออกแบบให้มีการปลูกผักสมุนไพร เช่น ตะไคร้ เพื่อไล่ยุงและแมลงรบกวน ที่สำคัญในบ้านจะมีถังสำรองน้ำที่สามารถกรองน้ำได้ในตัวด้วย

           2. ผลงาน ‘บ้านแบ่งให้คิด’ โดยนายชาญศิลป์ ตาลเอี่ยม, นายวรัท รอดเพชรไพร และนายวิชญ์ภาส ถาวโรฤทธิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีแนวความคิดว่า “เมื่อคนจำนวนมากหนีน้ำมาด้วยกัน พวกเขาจะมีชีวิตรอดร่วมกันได้อย่างไร” การหนีน้ำนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต ดังนั้น การออกแบบบ้านจึงใช้วิธีหลบหลีกที่เรียบง่ายที่สุด นั่นคือการยกขึ้นหนีน้ำ หลังจากหนีได้สำเร็จเราก็จะรู้ได้ว่าเรากำลังยืนหยัดอยู่ท่ามกลางวิกฤติ ซึ่งการที่จะอยู่รอดได้ด้วยตัวคนเดียวนั้นถือว่ายากมาก ไม่ว่าอย่างไรย่อมมีคนรอบข้างที่หนีน้ำมาพร้อมกับเรา ทั้งนี้ การสร้างความร่วมมือและการช่วยเหลือกันภายในชุมชนจะช่วยให้ทุกคน สามารถรอดไปจากวิกฤติได้ จึงมีการออกแบบเส้นทางและพื้นที่ชุมชนที่สามารถต่อเติมจากส่วนชานบ้านได้ในเวลาน้ำท่วม เรียกง่ายๆ ว่า การคงไว้ซึ่งระบบสัญจรภายในชุมชน เป็นพื้นที่อิสระที่เจ้าของบ้าน แต่ละคนสามารถต่อเติมออกมาเป็นรูปแบบวิถีชีวิตของตนเองได้

          3. ผลงาน ‘HFF – House for Flood’ โดย นายชัยภัทร ชุติคามี, นายเพิ่มพล เพิ่มพูลสินชัย และนายสุพพัต ทองอุไรพร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งใช้แนวความคิด “บ้านที่สามารถจำศีลได้เหมือนกบ…เพื่อรอเวลาที่น้ำมา” บ้านที่อยู่ในเส้นทางน้ำผ่าน จะเกิดน้ำเอ่อท่วมในระดับ 1-2 เมตร ในช่วงเวลาเดิมๆ ในรอบปี เปรียบได้กับการจำศีลของกบ ซึ่งการจำศีลของกบต้องมีความพร้อม หรือถ้าเปรียบกับคนนั่นก็คือการมีปัจจัยสี่ จึงออกแบบบ้านให้มีพื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง มีถังเก็บน้ำใช้จากรางน้ำฝน ส่วนหลังคาสามารถตากน้ำให้น้ำสะอาดเพื่อใช้ดื่มยามน้ำท่วม เมื่อยามขาดแคลนน้ำดื่ม รวมไปถึงการออกแบบให้บ้านมีลมพัดผ่านระบายความร้อนให้บ้านที่อยู่

            นอกจากนี้ ยังออกแบบให้รองรับการต่อเติมขยายอยู่รวมกัน เป็นสังคมเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามเกิดภัยพิบัติอีกด้วย บ้านหลังนี้ออกแบบบนพื้นฐานของระบบอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถผลิตได้ในจำนวนมาก และลดการเหลือเศษของวัสดุ โดยใช้ขนาดมาตรฐานของวัสดุพื้นฐานมาใช้ออกแบบการก่อสร้างเป็นระบบแห้ง (Prefabrication) เพื่อความรวดเร็วและไม่ทำลายสภาพแวดล้อม

             จากนี้คณะกรรมการจะนำแบบที่เข้ารอบ 3 ทีมสุดท้าย ไปสร้างบ้านจริงบนพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ และจะทำการตัดสินจากบ้านสร้างจริงภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ ขอเชิญร่วมพิสูจน์ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทยในการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนไทย พร้อมพบกับมุมความรู้เรื่องแนวทางการเลือกวัสดุในการก่อสร้างที่คำนึงถึงความปลอดภัย แข็งแรง และทนทานต่อน้ำได้ฟรี ระหว่างวันที่ 19-29 ตุลาคมนี้ ณ เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ ถ.เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ระหว่างเวลา 10.30-19.00 น.กรรมที่จะช่วยรองรับภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเย์ ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2555

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.