Select Page

ปลุกจิตสาธารณะเพื่อสังคมเข้มแข็ง

ปลุกจิตสาธารณะเพื่อสังคมเข้มแข็ง

ที่ประเทศเกาหลีใต้มียุทธวิธีอย่างไรถึงได้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่เป็นคำตอบก็คือเขาฝึกให้พลเมืองโดยเฉพาะเยาวชนมีจิตสาธารณะ มีวินัยและมีความเป็นชาตินิยมสูง นั่นคือกุญแจแห่งความสำเร็จ ประเทศไทยเองก็เป็นห่วงและมีนโยบายหลายอย่างเพื่อปลุกจิตอาสาให้เกิดแก่คนไทยให้หวงแหนทรัพย์สมบัติของชาติและส่วนรวมเพื่อหล่อเลี้ยงสังคมไทยให้เข้มแข็งขึ้นประชาชนเข้มแข็ง ชาติแข็งแกร่ง…

          ประสาท พงษ์ศิวาภัยกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นเรื่องใหญ่ ครอบคลุมกว้างขวาง ตั้งแต่ป่าไม้ ภูเขาชายทะเล แม่น้ำลำคลอง หรือที่ดินสาธารณะ การบุกรุก ครอบครองสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายาวนาน การปราบปรามจึงเป็นเรื่องยากมาก เพราะมันมีมากมายมหาศาลทั่วประเทศ ดังนั้น ป.ป.ช. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ การเมืองเอกชน และประชาชน ช่วยรักษาสมบัติชาติ

          1.สร้างจิตสาธารณะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้มีความคิดว่าสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือสมบัติของทุกคน ประชาชนทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ในการคัดค้าน แจ้งเบาะแส ร้องเรียน และฟ้องร้อง เมื่อเห็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณสมบัติของชาติ การส่งเสริมให้บุคคลใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อน เกิดจิตสำนึก และว่ากล่าวตักเตือนทักท้วงเมื่อมีการทำลายสาธารณสมบัติ

          2.การเสริมสร้างเครือข่ายสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบการจัดตั้งกันเองโดยประชาชนในชุมชนเดียวกัน หรือจัดตั้งจากการดำเนินงานของภาครัฐหรือเอกชน มีการวางระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนเพื่อเป็นพลังในการปกป้องสาธารณสมบัติของชาติ

          3.การเข้ามีส่วนร่วมในการพิทักษ์สาธารณสมบัติด้วยวิธีต่างๆ เช่น การหยิบเอาภูมิปัญญาชาวบ้านด้านวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม หรือความเชื่อของชุมชนท้องถิ่นมาปรับประยุกต์ใช้เป็นกุศโลบายพิทักษ์สาธารณสมบัติของแผ่นดิน

 วิธีการ

          1.การสร้างคน สร้างเครือข่ายที่ชัดเจน-โครงการประชาศึกษาและชุมชนสัมพันธ์ มีการสร้างเครือข่าย ด้วยการสัมมนาแกนนำประชาชนป้องกันการทุจริต ที่เป็นตัวแทนอำเภอละ 2 คน ใน 75 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน ในการคัดเลือกแกนนำประชาชน และเป็นหน่วยบริหารโครงการในการดำเนินกิจกรรมของแกนนำเครือข่ายประชาชนที่ผ่านการสัมมนา และได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งสนับสนุนจากสำนักงานป.ป.ช.

          2.การเผยแพร่ความรู้ทางสังคม- การอบรมความรู้เกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แลกเปลี่ยนประสบการณ์กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น บุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการพนักงานท้องถิ่น การร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

          3.การเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่าย การสนับสนุนกิจกรรม และการจัดทำจดหมายข่าว เพื่อเผยแพร่กฎหมาย ระเบียบของสำนักงาน ป.ป.ช. การเผยแพร่ ผลการดำเนินกิจกรรมเครือข่ายทั่วประเทศ

          4.การใช้สื่อเพื่อสร้างจิตสำนึกการผลิตสปอตในรูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือนิทานสำหรับเด็กและเยาวชน วีซีดี

          5.การจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่นโยบายสาธารณะสู่ประชาชนการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนการจัดกิจกรรมวันสถาปนา การแถลงข่าวเปิดตัว-โครงการ การจัดกิจกรรมวันเด็ก และการจัดโครงการ ป.ป.ช. เคลื่อนที่แบบบูรณาการ ฯลฯ

          มีการเสนอแนะให้มีการใช้กระบวนการวิชาการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การให้นักวิชาการมีส่วนในการตรวจสอบ ทุกโครงการของรัฐ การใช้ระบบภูมิสารสนเทศ นักวิชาการด้านการเงิน การธนาคาร การใช้ข้อมูลจากการวิจัยของนักวิชาการสถาบันการศึกษา ร่วมกันตรวจสอบโครงการทุกโครงการของรัฐ เพื่อสร้างจิตอาสาว่าภาระในการปกป้องสาธารณสมบัติแผ่นดิน และรู้ดีว่านี่คือหน้าที่สำคัญยิ่งในฐานะที่เกิดเป็นคนไทย–จบ–

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.