Select Page

‘อ้วน-สูงอายุ’ เสี่ยง ‘ฮีทสโตรก’

‘อ้วน-สูงอายุ’ เสี่ยง ‘ฮีทสโตรก’

ร้อนๆๆๆๆๆ ไม่ว่าไปที่ไหน ก็มีแต่คนบ่นว่าร้อนทั้งนั้น หลายปีมานี้ อากาศในช่วงหน้าร้อนดูเหมือนจะเพิ่มดีกรีความร้อนขึ้นเรื่อยๆ  เมษายน เป็นวันสงกรานต์ ซึ่งว่ากันว่า เป็นวันที่ “ร้อนที่สุด” วันหนึ่ง ในรอบปี นอกจากความร้อนจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าพิสมัยแล้ว ยังทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างกะทันหันได้อีกด้วย โดยเฉพาะโรคที่มีสถิติแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิของความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น อย่าง “โรคลมแดด” หรือ Heat Stroke

 

             นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มีอาการขาดน้ำและเกลือแร่เป็นเวลานาน โรคนี้สามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มีอาการฮีทสโตรกจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมมากเกินไป เรียกว่า Classical Heat Stroke  มักมีอาการในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในคนที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดปัญหาผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญคือ อุณหภูมิร่างกายสูง, ไม่มีเหงื่อ กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ Exertional Heat Stroke กลุ่มนี้เกิดอาการจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป อาการคล้ายกับ Classical ต่างกันตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออก มีอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย เช่น มีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย

 

             “ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยฮีทสโตรกกลุ่ม Classical ที่ส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่ามีอาการ เนื่องจากไม่มีเหงื่อออก แต่จะมีอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด การดำเนินของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากที่เริ่มมีอาการ ไม่นานก็จะมีอาการต่อเนื่องในระบบไหลเวียนของร่างกาย เช่น ภาวะขาดเหงื่อ, เพ้อ, ชัก, ไม่รู้สึกตัว, ไตล้มเหลว, มีการตายของเซลล์ตับ, หายใจเร็ว, มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การสลายกล้ามเนื้อลาย, ช็อก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้” อธิบดีกรมอนามัยบอก พร้อมกับเสริมว่า กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังการเกิดฮีทสโตรกมากที่สุดคือกลุ่มคนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ คนที่ดื่มเหล้าจัด และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

 

             อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนที่ต้องทำงานอยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ ทหารเกณฑ์ที่เข้ารับการฝึก โดยไม่ได้มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในการเผชิญสภาพอากาศร้อน  สัญญาณสำคัญของโรคนี้ที่ต้องระวังให้มากๆ คือ ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หน้ามืด หายใจเร็ว ถ้าเริ่มมีอาการเช่นนี้ต้องรีบทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงโดยเร็วที่สุด รีบออกจากแดดเข้าที่ร่มโดยเร็ว ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือถ้ามีอาการมากอาจต้องใช้วิธีเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด

 

             อธิบดีกรมอนามัย บอกด้วยว่า ในช่วงที่อากาศร้อนแบบนี้เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางครั้งอาการของฮีทสโตรกก็เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ดังนั้น ถ้ารู้ว่าต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อม เช่น ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม หรือแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

 

             

            ในช่วงอากาศร้อนจัดควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา ที่สามารถระบายความร้อนได้ดีกว่าเสื้อสีทึบหรือเสื้อผ้าที่มีความหนามากๆ, หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด, หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย หรือที่ต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศ ร้อนเป็นเวลานาน รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด ถ้าต้องไปจอดรถในที่ที่มีอากาศร้อน ไม่ควรอยู่ในรถโดยปิดกระจก

             แม้ว่าจะเปิดเครื่องปรับอากาศก็ตาม เพราะความร้อนภายนอกมีส่วนที่จะทำให้อากาศภายในรถระบายได้ไม่ดีพอ เสี่ยงต่อการเป็นลมหรือเกิดอาการฮีทสโตรกได้เช่นเดียวกัน

             สำคัญที่สุด คือ ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ผู้ที่ออกกำลังกายประจำจะสามารถทนกับสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย

 

ที่มา : http://www.thairath.co.th

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.