Select Page

‘2-9-8 Q’ รหัส…นวัตกรรม เฝ้าระวังโรคซึมเศร้า

‘2-9-8 Q’ รหัส…นวัตกรรม เฝ้าระวังโรคซึมเศร้า

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! 35ล้านคน คือตัวเลขของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า…ทั่วโลก มากมายถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้การป้องกันแก้ไขภาวะซึมเศร้าเป็นหัวใจสำคัญหลักของการรณรงค์เนื่องในวัน สุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ประจำปี 2012 ภายใต้สโลแกนว่า “ภาวะซึมเศร้า : วิกฤตโลก” (Depression: A Global Crisis) โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกเร่งรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นภัยเงียบของสุขภาพ ที่หากไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบรุนแรง ทำให้ทำงานหรือเรียนหนังสือไม่ได้ กลายเป็นภาระการดูแลรักษาอันดับ 1 ของทั่วโลกในอีก 18 ปีข้างหน้า หรือใน พ.ศ.2573                 ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต รายงานว่าขณะนี้คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หรือประมาณ 3.3% ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีเพียง 1ใน 4 คนเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษา ซึ่งข้อมูลการให้บริการของสถานบริการสาธารณสุขทั้งประเทศ พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน มีโอกาสเข้าถึงบริการได้รับการวินิจฉัยและรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น 

                  โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินโครงการระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าระดับจังหวัด มาตั้งแต่ปี 2549 นำร่องที่ยโสธร ก่อนจะขยายผลไปใน 4 จังหวัดคือ มุกดาหาร สงขลา นครสวรรค์ และกำแพงเพชร และขยายผลไปทั่วประเทศในปี 2555 ทำให้อัตราการเข้าถึงบริการรักษาโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจาก 3.7% เป็น 21.67%

                    นพ.ธรณินทร์ กองสุข  ผอ.รพ.พระศรีมหาโพธิ์  อธิบายว่า  ก่อนจะพูดถึงโรคซึมเศร้า ต้องแยกระดับของอาการซึมเศร้าออกเป็น 3 ส่วนหลักๆก่อนคือ  อารมณ์เศร้า (Sadness)  เป็นสภาวะอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวกับบุคคลทุกเพศทุกวัย  มักเกิดขึ้นร่วมกับความรู้สึกสูญเสีย  ผิดหวัง หรือความรู้สึกอึดอัด  ทรมาน  ซึ่งตรงนี้ยังไม่ถือว่าเป็นอาการป่วย  ภาวะซึมเศร้า  (Depression)  เป็นอาการเศร้าที่มากเกินควรและนานเกินไป  ไม่ดีขึ้นแม้ได้รับกำลังใจหรืออธิบายด้วยเหตุผล  มักมีความรู้สึกด้วยค่า  รู้สึกผิด  อยากตาย  ภาวะที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน  กิจวัตรประจำวันและสังคมทั่วไป  และโรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) ซึ่งเป็นโรคของสมอง  ที่เกิดจากความบกพร่องของสารสื่อประสาท  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของชีวเคมีในสมอง   Serotonin, Nor-epinephrine  ที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า  ส่งผลให้มีภาวะผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ

                 คุณหมอธรณินทร์  บอกว่า  การดำเนินโรคของโรคซึมเศร้า  มีทั้งอาการเรื้อรังและเป็นซ้ำ  อาการเกิดโรคเป็นช่วงๆ  หายบ้างทุเลาบ้าง  และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก  โดยระยะเวลาของการอาการที่ไม่ได้รับการรักษาอยู่ประมาณ 3-16  เดือน

                   จากการศึกษาพบว่า  โรคซึมเสร้าเป็นสาเหตุถึง70%ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและต้องทรมานในภาวะไร้สมรรถภาพมากเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิงไทยรองจากโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง  ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงจะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง  20  เท่า  “กรมสุขภาพจิต  โดย  รพ.พระศรีมหาโพธิ์  ได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญในระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า  โดยใช้แบบคัดกรองโรคซึมเศร้าด้วย  2 คำถาม  แบบประเมินอาการซึมเศร้าด้วย  9  คำถาม  และแบบประเมินฆ่าตัวตายด้วย  8 คำถาม”  2  คำถามที่ว่านั้น  สามารถคัดกรองได้โดยคนในครอบครัว  อสม.ในพื้นที่  โดยถามว่า  ใน  2  สัปดาห์ที่ผ่านมารวมถึงวันนี้  ท่านรู้สึก  หดหู่  เศร้า  ท้อแท้  สิ้นหวัง  หรือไม่  และ  ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมวันนี้ท่านรู้สึกเบื่อ  ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่

              ถ้าผู้ตอบตอบต่อว่ารู้สึกทั้ง  2  ข้อ  ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองด้วยแบบประเมิน  9  คำถาม  โดยวัดระดับคะแนนตั้งแต่ไม่มีเลย  เป็นบางวัน  เป็นบ่อย  เป็นทุกวัน  ถ้าคะแนนน้อยกว่า  7 คะแนน  แสดงว่าไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก  7-12  คะแนน  มีอาการของโรคซึมเศร้าระดับเล็กน้อย  13-18  คะแนน  มีอาการระดับปานกลาง  แต่ถ้ามากกว่า  19  คะแนนถือว่าป่วยซึมเศร้าระดับรุนแรง  ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา  ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้าแทบทุกโรงพยาบาลมียารักษาโรคซึมเศร้าที่ชื่อ  Fluoxetine  ที่ราคาไม่แพง  และสามารถรักษาโรคซึมเศร้าให้หายได้

              และเนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายมากที่สุดปัจจัยหนึ่ง  หากประเมินด้วยแบบ  9  Q  หรือ 9  คำถามแล้วพบว่ามีอาการของโรคในระดับรุนแรง  ก็จะต้องเข้าสู่การประเมินด้วย  8  คำถาม  ซึ่งเป็นแบบประเมินภาวะฆ่าตัวตาย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำซากในผู้ป่วยซึมเศร้า

 

                คุณหมอวชิระ  เพ็งจันทร์  อธิบดีกรมุขภาพจิต  เสริมว่า  ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าระดับจังหวัด  โดยอบรมแพทย์  พยาบาลวิชาชีพกว่า  5,000 คน  และอบรมอสม.เพื่อเร่งค้นหาผู้ที่มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า  โดยการคัดกรองหาผู้ที่มีความเศร้าในชุมชนต่างๆ  และโรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องโดยการรักษาด้วยยาหรือจิตบำบัด  ตั้งเป้าจะเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ที่มีปัญหาให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ  70  ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้

               สัญญาณบอกเหตุอาการของโรคซึมเศร้าที่สามารถสังเกตตัวเองและคนรอบข้างได้  เช่น  มีอารมณ์ซึมเศร้า  หงุดหงิด  ก้าวร้าว,  ขาดความสนใจ  สิ่งรอบข้าง,  สมาธิเสีย  ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำสิ่งต่างๆ,  รู้สึกอ่อนเพลี,  เชื่องช้า  ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด,  รับประทานอาหารมากขึ้นหรือรับประทานอาหารน้อยลง,  นอนมากขึ้นหรือนอนน้อยลง,  ตำหนิตัวเอง  อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ  ที่พบได้มากในคนเป็นโรคซึมเศร้า และมีการพยายามฆ่าตัวตาย

              ถ้ามีอาการ  5  ใน 9 อย่างนี้นาน  2 สัปดาห์ติดต่อกัน  สังสัยได้เลยว่าถ้าคุณหรือคนรอบข้างอาจจะกำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้ว

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555 หน้า 7

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.