Select Page

“ครั้งแรกของไทย ศิริราชพบวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวน”

“ครั้งแรกของไทย ศิริราชพบวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวน”

สำหรับการรักษาวิธีใหม่นี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯทำการรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 2 ราย นับเป็นผู้ป่วย 2 รายแรกของประเทศไทย และเดือนมีนาคมนี้ จะมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพิ่มเติมอีก 3 ราย อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการใส่ลิ้นหัวใจเทียมแบบใหม่ผ่านสายสวน ยังคงมีราคาแพง ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดตั้งกองทุน เพื่อผู้ป่วยสูงอายุ เปิดรับบริจาคเงินนำมาซื้อลิ้นหัวใจให้ผู้ป่วยสูงอายุที่ยากไร้ 

          เมื่อววันพฤหัสบดีที่ 11 ก.พ. 53  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดแถลงข่าวครั้งแรกของไทย ศิริราชใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่” โดยมี ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์   กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธาน ร่วมด้วย ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  ผศ.นพ.ปรัญญา   สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผศ.นพ.สุวัจชัย   พรรัตนรังสี แพทย์ประจำสาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์และนางนิภา หิรัญบำรุง ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคลิ้นหัวใจตีบ ณ ห้องประชุมคณะฯ  ตึกอำนวยการ ชั้น 2  รพ.ศิริราช

         ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่า จากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้โรคต่างๆ ที่เมื่อก่อนคนเราคิดว่ารักษาไม่ได้ กลับหายขาดรอดชีวิต ทั้งยังช่วยลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อน เป็นผลให้จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกและประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึง  11% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ ฉะนั้นการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดีนับเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในทางที่ถดถอย เช่น เลนส์ตาเสื่อมกลายเป็นต้อ ข้อเข่าเสื่อม หรือแม้กระทั่งโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจเสื่อม เกิดการตีบขึ้น    ในอดีตมักพบว่าโรคลิ้นหัวใจตีบเกิดจากโรครูห์มาติก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุไม่มาก แต่ในปัจจุบันโรคนี้มักเกิดจากการเสื่อม สภาพของลิ้นหัวใจ ยิ่งผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นเท่าไร อุบัติการณ์ของโรคลิ้นหัวใจตีบก็จะสูงขึ้นเท่านั้น โรคนี้ถือเป็นภัยเงียบ เนื่องจากลิ้นหัวใจตีบเพียงเล็กน้อย  จะไม่แสดงอาการใดๆ เลยในระยะแรกจนกว่าหัวใจไม่สามารถทนรับกับปริมาณเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เกิดอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา และอาจเสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที  

            ผศ.นพ.สุวัจชัย พรรัตนรังสี แพทย์ประจำสาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์กล่าวว่า  ลิ้นหัวใจ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของหัวใจ ในขณะที่หัวใจกำลังบีบตัว เมื่อเลือดไหลผ่านออกไป  ลิ้นหัวใจจะปิดไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับมา จึงทำหน้าที่เสมือนประตูปิด – เปิด  ควบคุมให้เลือดในหัวใจไหลไปทิศทางเดียวสู่ปอดเพื่อฟอกออกซิเจนแล้วไหลกลับสู่ระบบโลหิตอีกครั้ง   เมื่อมีปัญหาของลิ้นหัวใจรั่ว เลือดจะไหลย้อนกลับมา แต่ถ้าลิ้นหัวใจตีบ  เลือดจะไหลผ่านลิ้นหัวใจได้ลำบาก ในผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เนื่องจากลิ้นหัวใจเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงดันจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้น อาจมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ  ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้น และเปิดได้น้อยลง   ผู้ป่วยจะเกิดอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ใจสั่น ขาบวม  ตามมาด้วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียงฟู่บริเวณลิ้นหัวใจ จนถึงขั้นเป็นลมหมดสติบ่อยๆ  ยิ่งลิ้นหัวใจตีบมาก หัวใจก็ยิ่งไม่สามารถจะบีบเลือดออกสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งและหัวใจล้มเหลวในที่สุด โดยสถิติแล้วเมื่อผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบมีสภาวะหัวใจล้มเหลว จะมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 2 ปี สูงถึง 50 %

            

 

 

 

 

 

 

         

        

สำหรับวิธีการรักษานั้น ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและ      ทรวงอก  ภาควิชาศัลยศาสตร์กล่าวว่า “วิธีรักษาโรคลิ้นหัวตีบที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก คือ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเป็น การรักษาที่ได้ผลดีเยี่ยม  ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1–2 %เท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบจำนวนหนึ่ง ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุมากๆ หรือผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดในช่องอกมาก่อน รวมทั้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค   ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้สูงถึง 20% หรือมากกว่า เป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลายรายมักจะไม่ได้รับการส่งต่อไปยังศัลยแพทย์หรือหมอผ่าตัด หรือไม่ก็ถูกปฏิเสธการผ่าตัดไปเสียก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง เพราะหัวใจที่ต้องบีบเลือดผ่านลิ้นหัวใจที่ตีบจะค่อยๆ ล้มเหลว และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด”

               ผศ.นพ.ปรัญญา กล่าวต่อว่าน่ายินดีที่ขณะนี้วิทยาการทางการแพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยลิ้นหัวใจตีบกลุ่มนี้ให้รอดชีวิตได้ ด้วยการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปแทนที่ลิ้นเดิมที่เสื่อมสภาพโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ซึ่งแตกต่างจากวิธีผ่าตัดที่ใช้กันในปัจจุบันคือ ต้องดมยาสลบ  ผ่าตัดเปิดกระดูกหน้าอก  แล้วใช้เครื่อง ปอดหัวใจเทียมทำงานแทนหัวใจกับปอด  ซึ่งระหว่างที่ศัลยแพทย์ตัดลิ้นหัวใจเก่าออกและเย็บลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่จะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง และอยู่โรงพยาบาลพักฟื้นประมาณ  7 – 10   วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นส่วนวิธีการใหม่จะใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวน  โดยจะนำลิ้นหัวใจเทียมแบบใหม่ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถหดและขยายตัวได้มาใส่ที่ปลายของสายสวน  จากนั้นใช้สายสวนนำลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปอยู่ ระหว่างลิ้นหัวใจเดิม  แล้วจึงทำการขยายลิ้นหัวใจเทียมด้วยบัลลูนให้ขยายใหญ่ขึ้นคล้ายๆ กับการกางร่มลิ้นหัวใจเทียมที่กางขยายออกจะเข้าไปแทนที่ลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพแล้ว ซึ่งวิธีการใส่สายสวนสามารถใส่ผ่านขาหนีบ  หรือในกรณีที่เส้นเลือดบริเวณขาหนีบเล็กเกินไป  จะใส่ผ่านแผลเล็กที่ชายโครงเข้าไปทางปลายหัวใจ โดยตรง โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกระดูกหน้าอก ไม่ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม  และไม่ต้องหยุดหัวใจ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น   อีกทั้งผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นกว่าและฟื้นตัวได้เร็วกว่าด้วย

                และสำหรับวิธีใหม่นี้  คณะแพทย์ศิริราชได้ทำการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนในผู้ป่วยไปแล้ว   2 ราย  เมื่อวันที่  17 ธันวาคม  2552   นับเป็นผู้ป่วยรายแรกและรายที่สองของประเทศไทย  และเป็นรายที่  14  และ 15 ของเอเชีย  ซึ่งขณะนี้มีเพียงประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเท่านั้นที่ใช้วิธีนี้  และในเดือนมีนาคม 2553 จะมีผู้ป่วยเข้ารับการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเพิ่มอีก 3 ราย   
                อย่างไรก็ตาม แม้การใส่ลิ้นหัวใจเทียมแบบใหม่ผ่านสายสวนจะเป็นวิธีที่ดี แต่ขณะนี้ยังมีราคาแพง    ฉะนั้นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ลิ้นหัวใจแบบใหม่นี้ แต่ไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้จัดตั้ง กองทุนรักษาลิ้นหัวใจด้วยสายสวนเพื่อผู้ป่วยสูงอายุ  ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อนำมาซื้อ ลิ้นหัวใจให้แก่ผู้ป่วยสูงอายุยากไร้ได้ทุกวันที่ ศิริราชมูลนิธิ   ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1  โรงพยาบาลศิริราช โทร. 0 2419 7658 – 60 

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.