Select Page

ไขความลับ คนไทยทำไมไม่เก่งภาษา

ไขความลับ คนไทยทำไมไม่เก่งภาษา

“เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถม แต่ทำไมภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง” …เป็นคำถามที่ได้ยินได้ฟังเป็นประจำ กระทั่งกลายเป็นเหมือนเสียงรำพึงไปในที่สุด  11 ปีเป็นเวลาไม่ใช่น้อย ถ้ารวมการศึกษาระดับอาชีวะเข้าไปด้วย คิดสะระตะนับ 20 ปี แต่นักศึกษาจำนวนไม่น้อยใช้ภาษาอังกฤษได้แค่ระดับงูๆ ปลาๆ

ภาพคุณครูกำลังสอนหนังสือนักเรียน

ภาพคุณครูกำลังสอนหนังสือนักเรียน

เด็กบางคนขยันมาก ถึงขนาดสามารถท่องดิกชันนารีได้ทั้งเล่ม ภาษาอังกฤษคำไหนแปลว่าอะไร ถามมา-ตอบได้หมด แต่พอให้พูดกลับตกม้าตาย พ่อแม่ยุคใหม่ที่มีสตางค์จึงตัดปัญหาด้วยการส่งลูกไปเรียนเมืองนอก และด้วยเหตุนี้ทำให้ปัจจุบันมีโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนสองภาษาเกิดขึ้นมากมาย เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยไม่ต้องส่งลูกไปเรียนให้ไกลหูไกลตา แล้วกับเด็กด้อยโอกาส พ่อแม่ไม่มีเงินพอที่จะส่งเข้าโรงเรียนแพงๆ เล่า…

ไม่ยาก! ถ้าเข้าใจหลักการ การเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้พูดได้ ฟังเข้าใจ เหมือนเจ้าของภาษา ไม่ยากเลย ขอเพียงมีความตั้งใจ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนภาษาอังกฤษทำได้ง่ายขึ้น สามารถฝึกได้เองในทุกที่ทุกเวลา

ธานินทร์ เอื้ออภิธร ประธานกรรมการบริหาร เลิร์นบาลานซ์ กรุ๊ป ซึ่งดูแลทิศทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนาและการนำ “ไอที” เข้ามาช่วยในการเรียนภาษาอังกฤษให้กับ “เอ็นคอนเส็ปท์” โรงเรียนกวดวิชาแถวหน้าของเมืองไทย เล่าถึง ช่องโหว่ของระบบการศึกษาของไทยว่า ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมของสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “สถานะ” มากกว่าความสามารถ ทำให้เด็กไทยแข่งกันเรียนเพื่อให้ได้ใบปริญญา เป็นใบเบิกทางสู่การมีหน้ามีตา มีหน้าที่การงานที่ดี

เช่นเดียวกับปัญหาของการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทย นักเรียน/นักศึกษาส่วนใหญ่เรียนเพื่อจะสอบผ่าน ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่แคบ โลกสมัยใหม่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่การแค่ “เรียนเพื่อสอบ” แต่ต้อง “เรียนเพื่อการเรียนรู้”

เพราะหน้าที่ของภาษาคือ เพื่อการสื่อสาร นับแต่นี้ไป ใครใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ คุณคือจุดอ่อน ยิ่งในห้วงเวลาเตรียมรับการเปิดประชาคมอาเซียน ถ้าพูดอังกฤษไม่ได้ กลายเป็นจุดบอดในทันที

แล้วจะฝึกภาษาอย่างไรดี?

ภาพเด็กอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ

ภาพเด็กอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ

แทนที่จะเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้รู้ภาษาอังกฤษ ธานินทร์แนะว่า ควรมีการตั้งเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น เรียนเพื่อประโยชน์ในด้านอื่น โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือ เหมือนกับการเรียนวิชาต่างๆ ด้วยภาษาอังกฤษทำให้ต้อง “เป็น” ภาษาอังกฤษ เพื่อจะเรียนวิชานั้นๆ เข้าใจ เช่นเดียวกับคนวัยทำงานทั่วไป อาทิ คนที่มีอาชีพขับแท็กซี่เรียนภาษาอังกฤษ เพื่อการรับรองผู้โดยสารชาวต่างประเทศ หรือ หมอนวดแผนโบราณเรียนเพื่อสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้มีกำลังใจในการเรียน ทั้งนี้ จะให้ดีควรหาเพื่อนร่วมเรียน เพราะส่วนใหญ่เมื่อเรียนคนเดียวจะล้มเลิกความตั้งใจโดยง่าย

“จริงๆ แล้วการเรียนภาษาอังกฤษมีอยู่ 4 ด้าน ด้านแรก เรียกว่า Syntax หรือ “ไวยากรณ์” ด้านที่ 2 Semantics คือ “ความหมาย” คนไทยส่วนใหญ่เรียนแค่ 2 ตัวนี้ คือ Vocabulary กับ Grammar แม้แต่เด็กที่เรียนก็จะจำแค่นี้ แต่จริงๆ หลายประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แทบไม่ได้เรียน 2 ตัวนี้เลย 2 ตัวนี้เป็นเพียงผลพลอยได้

แต่ 2 ตัวที่เป็นตัวหลัก คือ Phonology “การออกเสียงที่ถูกต้อง” กับ Pragmatics คือ “การใช้จริง”

ธานินทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า “สองตัวแรกไวยากรณ์และความหมาย ใช้สมองซีกซ้ายในการเรียน ต้องใช้ตรรกะในการเรียน ต้องใช้ความจำเยอะมาก

แต่เรื่องการออกเสียงเป็นสมองซีกขวา เป็นเรื่องของทักษะ ออกเสียงถูกหรือไม่ถูก ส่วน Pragmatics บางคนคิดว่าคือ การเดินเข้าไปหาฝรั่งแล้วเซย์ ฮัลโหล ฮาว อาร์ ยู แต่…ไม่ใช่ ที่จริงเป็นความเข้าใจในวัฒนธรรม และการใช้ภาษาได้ถูกต้องในทางวัฒนธรรม

“คนไทยไม่เรียนเรื่องวัฒนธรรมต่างชาติ จึงไม่เข้าใจบริบทของวัฒนธรรมทางภาษา แม้ประโยคถูกแต่บริบทผิดความหมายก็ผิด ยกตัวอย่างคำทักทายของคนไทยจะทักว่า “กินข้าวหรือยัง” นี่คือบริบทของคนอินโดไชน่า แต่ถ้าไปทักแบบนี้กับฝรั่ง มันเป็นบริบททางวัฒนธรรมที่แปลก เขาอาจจะคิดว่ามายุ่งเรื่องของฉันทำไม”

ภาพคำถามว่าคุณพูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่

ภาพคำถามว่าคุณพูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่

แล้วเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร จึงสามารถใช้ได้เหมือนเจ้าของภาษา? สิ่งสำคัญอยู่ที่เรื่องของ “เสียง” คนไทยจำเสียงผิด เนื่องจากขาดต้นแบบที่ถูกต้อง แม้จะเขียนถูกแต่ออกเสียงผิดฝรั่งก็ไม่เข้าใจ ซึ่งตรงนี้เทคโนโลยีช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูภาพยนตร์พากย์ภาษาอังกฤษ หรือโหลดแอพพลิเคชั่น สอนภาษาอังกฤษได้ทั้งนั้น

หัวใจสำคัญคือ ถ้าเป็นหนังให้ปิดซับไตเติ้ลฟังเสียงอย่างเดียว โดยหยุด (pause) เป็นระยะๆ และออกเสียงตาม ซึ่งควรทำซ้ำๆ กระทั่งสามารถออกเสียงได้เหมือนกับต้นแบบ “เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราออกเสียงได้ถูกต้อง เราจะฟังได้ทันที”

ธานินทร์ยืนยัน พร้อมกับอธิบายถึงกระบวนการรับรู้ในสมองว่า สมองคนเราแบ่งเป็นชั้นๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้ข้อมูลใหม่ เรียกว่า “เวิร์กกิ้ง เมมโมรี่” (Working Memory) จะจำได้ 7 ตัว ซึ่งการรับรู้ตรงนี้ของแต่ละคนจะต่างกัน บางคนจำได้ 12 บางคนจำได้แค่ 5 แต่ส่วนใหญ่จะจำได้ 7 ฉะนั้นเวลาที่เราฟังชาวต่างชาติพูดแล้วฟังไม่ทัน เพราะนั่นเป็นข้อมูลใหม่ที่เรายังไม่เคยรับรู้มาก่อน

ถ้าเรารับรู้ข้อมูลนั้นมาแล้ว ระบบการทำงานของสมองจะใช้อีกส่วนซึ่งอยู่ด้านใต้ เรียกว่า “ลอง เทอม เวิร์กกี้ง เมมโมรี” (Long Term Working Memory) เป็นส่วนที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นการฝึกทักษะจึงเป็นสิ่งจำเป็น

การเรียนภาษาอังกฤษผ่านการดูภาพยนตร์ โดยปิดซับไตเติ้ล ฟังซ้ำหลายๆ ครั้ง จำทั้งประโยคไปเลย นอกจากจะได้เสียงที่ถูกต้องแล้ว ผลพลอยได้คือ จะได้ทั้งทักษะ ไวยากรณ์ รูปประโยค และความหมายโดยอัตโนมัติ ยิ่งกระแสของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ยิ่งทำให้เรื่องของการฝึกทักษะเป็นสิ่งจำเป็น

ภาพคุณครูสอนภาษาอังกฤษ

ภาพคุณครูสอนภาษาอังกฤษ

ธานินทร์สะท้อนถึงแนวโน้มของโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษในปัจจุบันในฐานะผู้คร่ำหวอดในแวดวงว่า โรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษมี 2 แบบ คือ 1. เรียนวิชาการ (Academic) และ การเรียนทักษะ (Skill)

สองตลาดนี้อยู่แยกกันโดยสิ้นเชิง เมื่อก่อนคนที่เรียนทักษะจะเป็นผู้ใหญ่วัยต้นๆ จนทำงาน ปัจจุบันคนสนใจมากขึ้นในทุกระดับ เพราะกระแสของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้เรื่องของทักษะเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งในเด็กเล็กด้วย จากเดิมที่เริ่มเรียนกันตอน ม.5-6 ปัจจุบัน ม.1 เริ่มกวดวิชาแล้ว

เพราะ “การจำ” เริ่มจาก “การทำ” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ การเอาตัวเองเข้าไปสัมพันธ์จึงเกิดการเรียนรู้ เกิดการจำขึ้นในสมอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 10 กันยายน 2556 หน้า 21

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.