Select Page

ตรุษจีนไหว้ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” คนแห่แก้ ปีชง สะเดาะเคราะห์ ขอพรให้พ้นทุกข์ปีเศรษฐกิจวิบัติ

ตรุษจีนไหว้ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” คนแห่แก้ ปีชง สะเดาะเคราะห์ ขอพรให้พ้นทุกข์ปีเศรษฐกิจวิบัติ

วันตรุษจีน ปี53 ปีเสือนี้ว่าเป็นปี “เสือขาว” ซึ่งเสือขาวเป็นเสือที่อยู่ประจำทางทิศตะวันตก อีกนัยหนึ่ง ทิศตะวันตก เป็น ทิศแห่งความตาย ดังนั้น “เสือขาว”นี้จึงเป็น “เสือดุ” สำหรับปีชงได้แก่ ปีวอก, ปีขาล, ปีมะเส็ง , และ ปีกุน เป็นปีร่วมชง จึงนิยมไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและผ่อนหนักให้เป็นเบา

“ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” คำอวยพร วันปีใหม่ของชาวจีน มาถึงแล้ว!!! ทั้งยังดังกระหึ่มไปทั้งประเทศไทย

          จะไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อประชากรของบ้านเมืองนี้ เกือบ 70 ล้านคน ไม่ว่าต้นตระกูลสายไหนก็ต้องมีเชื้อสายจีนมาผสมปนเปอยู่ไม่มากก็น้อย เอาแค่เบาะๆ “แซ่” ของชาวจีนในเมืองไทยมีการอัพเดทของสมาคมจีนล่าสุด พบว่ามีถึง 60 ตระกูลแซ่ในปัจจุบัน ขณะที่การสำรวจปี 2553 พบเพียงแค่ 10 ตระกูลแซ่เท่านั้น ส่วนแซ่ไหนมีจำนวนคนเท่าไหร่อย่าไปสนใจเลย เพราะเรื่องสำคัญที่จะว่ากันเป็นเรื่อง “สิริมงคล” วันขึ้นปีใหม่ของคนจีน หรือ “ตรุษจีน”

          วันตรุษจีน ปี 2553 ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นปีนักษัตร “ขาล” หรือ “เสือ” ความหมายของปีเสือปีนี้เป็นอย่างไร? ร้าย หรือ ดี?

          อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน กล่าวถึงตรุษจีนปีเสือนี้ว่าเป็นปี “เสือขาว” เพราะว่าเป็นปีของทิศตะวันตก ซึ่งเสือขาวเป็นเสือที่อยู่ประจำทางทิศตะวันตก อีกนัยหนึ่ง ทิศตะวันตก เป็น ทิศแห่งความตาย ดังนั้น “เสือขาว” ปี 2553 นี้จึงเป็น “เสือดุ”

          คำว่า “เสือดุ” ในทางโหราศาสตร์นั้นย่อมหมายถึงเป็นปีแห่งธุรกิจการค้าล้มละลายกันมากเป็นประวัติการณ์บริษัทห้างร้านพากันปิดกิจการล้มระเนระนาด มีอุปสรรค ยากลำบากในการลงทุน

          ส่วนคนที่เกิดปีขาลกลับไม่ย่ำแย่ เพราะอยู่ภายใต้อิทธิพลของเสือ ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ทุกคนหากจะดูชะตาราศีคนปีเสือต้องดูองค์ประกอบอย่างอื่นด้วย เช่น วัน เดือน ปีเกิด

          สำหรับอาจารย์วิโรจน์แล้ว บอกว่ามีทางแก้คือ “การมีสติ”  “ต้องมีสติในทุกๆเรื่อง…จริงๆ แล้วดวงคนเราแก้ไม่ได้ แต่ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ใครที่เป็นปีชงก็ไปแก้ชง ไปไหว้ ตั่ว เหล่า เอี้ย ขอพร” เสียงแนะนำจากปรมาจารย์วัฒนธรรมจีน

          “ตั่ว เหล่า เอี้ย” ที่อาจารย์วิโรจน์เอ่ยถึงท่านประดิษฐานอยู่ที่ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กทม.ดังนั้น หากใครจะไหว้ตั่ว เหล่า เอี้ยตามคำแนะนำแล้วก็ต้องไปที่ศาลเจ้าพ่อเสือ

          “ตั่ว เหล่า เอี้ย” เป็นองค์ประธานของศาลเจ้าพ่อเสือ เมื่อเดินเข้าไปภายในศาลจะเห็นเด่นสง่าอยู่ตรงกลางของแท่นบูชา ทางซ้ายมือเป็น “เจ้าพ่อเสือ” แต่คนไทยมักเข้าใจผิดคิดว่าท่าน ตั่ว เหล่า เอี้ยเป็น “เจ้าพ่อเสือ” จริงๆ แล้วไม่ใช่!

          คนที่เกิดปีชงในปีขาล 2553 ได้แก่ ปีวอก (ลิง), ปีขาล (เสือ), ปีมะเส็ง (งูเล็ก), เป็นปีร่วมชงและ ปีกุน(หมู) ปีร่วมชง เป็นปีที่ต้องไปไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและผ่อนหนักให้เป็นเบา

          ประเสริฐ เวสสุกรรรมานุกูล ผู้จัดการและดูแลศาลเจ้าพ่อเสือ บอกเล่าว่า ปีนี้คนมาไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือมีจำนวนมากกว่าทุกปี ในรอบ 12 ปีที่เห็นมานี้มากที่สุด มากมาตั้งแต่ปลายปี 2552 แล้ว ยิ่งใกล้วันตรุษจีนก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะว่าปีนี้เป็นปีขาล (เสือ) และเป็นปีชงด้วย

          “ศาลแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์มากและแรง คนที่มาจะรู้และเขาเชื่อศรัทธา ส่วนใหญ่มาขอพร ขอเลื่อน ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือขอในเรื่องธุรกิจค้าขาย เวลาจะตัดสินทำธุรกิจแล้วไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดี เจริญรุ่งเรืองไหม ก็จะมาเสี่ยงเซียมซี ถามท่าน หรือมาไหว้ขอพรให้ธุรกิจที่ทำอยู่มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีอุปสรรค บางคนจะตัดสินใจซื้อหุ้น ดี-ไม่ดี จะมาถามจากเจ้าพ่อใหญ่ (ตั่ว เหล่า เอี้ย) ซึ่งท่านมีเมตตามากบางคนก็มาขอเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่มาขอในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานจะสำเร็จทุกราย”

          นั่นคือความศักดิ์สิทธิ์ของ “เจ้าพ่อใหญ่” หรือ ตั่ว เหล่า เอี้ย ที่ผู้จัดการดูแลศาลบอกไว้

          ส่วน “เจ้าพ่อเสือ” นั้น ประเสริฐบอกว่า ท่านศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของอำนาจ บารมี จะเมตตาช่วยเหลือคนที่มาไหว้ซึ่งจะต้องไหว้ให้ถูกต้อง

          “เจ้าพ่อเสือ คือองค์ที่อยู่ด้านซ้ายมือของตั่ว เหล่า เอี้ย คนที่มาไหว้ก็ต้องไหว้ให้ถูกต้อง ไหว้แบบไหน ของเซ่นไหว้อย่างไร หากไม่รู้ก็มาถามได้เรามีพนักงานคอยแนะนำ โดยเฉพาะคนที่เป็นปีชง (ขาล-วอก-มะเส็ง-กุน) ปีนี้ต้องมาไหว้เจ้าพ่อเสือเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีเคราะห์ร้ายทั้งหลายให้ออกไปจากชีวิต”

          อย่างไรก็ตาม ของไหว้ไม่ได้กำหนดตายตัวประเสริฐบอกว่าขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละคน บางคนถ้ามีฐานะดีก็ของไหว้มาก ส่วนคนฐานะยากจนแค่ธูปเทียนก็พอแล้ว ชุดละ 20 บาท มีจำหน่ายภายในศาล เมื่อไหว้เสร็จแล้วทางเจ้าหน้าที่ศาลจะมอบ”ส้มสิริมงคล” ให้กลับบ้านไป 4 ผล เพื่อความเจริญรุ่งเรือง          

          นอกเหนือจากเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าในศาล และเจ้าพ่อเสือแล้ว ประเสริฐยังชี้ชวนให้ดูความงดงามของสถาปัตยกรรมของศาลเก่าแก่โบราณแห่งนี้ ซึ่งว่าไปแล้วหากได้พินิจพิจารณาโดยละเอียด โดยไม่มีแถวแน่นขนัดของผู้คนที่มาศาลมาบดบังเป็นระยะๆ แล้ว นับว่าสถาปัตยกรรมภายในศาลเจ้าพ่อเสือและวัตถุโบราณที่ประดับประดาอยู่นั้นงดงามเกินคำบรรยาย

          ตั้งแต่เช้าตรู่…หกนาฬิกาจนถึงห้าโมงเย็นแถวแน่นขนัดของผู้ที่เคารพศรัทธาต่อเจ้าพ่อเสือทยอยหนาตาขึ้นเรื่อยๆ ควันธูปตลบอบอวนกระจัดกระจายเมื่อถูกพัดลมขนาดยักษ์เป่าให้ลอยขึ้นไปในที่สูง หลายคนน้ำตาไหลเพราะแสบตา  แต่ด้วยความเคารพศรัทธามากล้นที่มีต่อ ตั่ว เหล่า เอี้ย และ เจ้าพ่อเสือ คนแน่นขนาดไหน ควันธูปมากมายเพียงไร คนเหล่านั้นก็ยังดั้งด้นไปจนถึงหน้าแท่นบูชา

          เครื่องเซ่นไหว้ ดอกไม้กระดาษไหว้ จัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบในถาด ลงมือจุดธูป เทียนหลับตาแล้วพนมมือ อธิษฐานขอพรในสิ่งที่มุ่งมาดปรารถนา  ใกล้ๆ กันกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ บางกลุ่มง่วนอยู่กับการเขย่ากระบอกเซียมซีอย่างตั้งอกตั้งใจ ในยามข้าวยากหมากแพง ปัญหารุมเร้า ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจวุ่นวาย

          จะมีที่ไหนเป็นที่พึ่งทางใจได้ดีเท่านี้…ไม่มีอีกแล้ว

          ความเป็นมา”ศาลเจ้าพ่อเสือ”

          เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วเก่าแก่ ที่ทั้งคนไทยและคนจีนไปกราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธามากที่สุด สร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋ว เดิมตั้งอยู่ ถนนบำรุงเมือง เมื่อมีการขยายถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่บริเวณทางสามแพร่ง ถนนตะนาว ปัจจุบัน โดยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินให้สร้าง

          สมัยนั้นเจ้าของที่ดินคือ กระทรวงธรรมการ ซึ่งแต่เดิมก็ดูแลศาลเจ้าพ่อเสือ แล้วต่อมารัฐได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยดูแล กระทั่งปัจจุบัน

          คนจีนเรียกว่า “ตั่ว เหล่า เอี้ย” หรือ “ศาลเจ้าพ่อใหญ่” เป็นศาลเจ้า ที่ประดิษฐานเฮี้ยงเทียนเซียงตี่, เจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู, และ เจ้าแม่ทับทิมส่วนคนไทยเรียกศาลเจ้าพ่อเสือ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ 2525

          สำหรับตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” นั้น มีคู่มากับประวัติของวัดมหรรณพาราม ซึ่งอยู่ตรงข้ามเยื้องๆ กับศาลเจ้า เล่าสืบต่อกันมาว่าสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมหลังวัดมหรรณพารามเป็น ที่รกร้างป่าดง มีเสืออาศัยอยู่และมีบ้านคนเป็นแม่ลูกคู่หนึ่ง คือนาง ผ่องกับ นายสอน

          วันหนึ่งนายสอนไปอาหารในป่าแล้วถูกเสือกัดแขนขา ส่วนเสือก็ถูกแทงที่หน้าและต้นคอ นายสอนสู้ไม่ได้จึงกระโดดลงน้ำตะเกียกตะกายหนีกลับบ้าน แต่มาถึงแค่รั้วบ้านก็ขาดใจตาย เมื่อแม่รู้เข้าจึงไปแจ้งความที่อำเภอให้ออกล่าเสือนำมาลงโทษ ด้วยความสงสารทางอำเภอจึงออกล่าเสือตามคำขอก่อนไปได้ไปขอพรหลวงพ่อพระร่วงที่โบสถ์ ขอให้กับเสือได้ง่าย ก็ปรากฏว่าสามารถจับมาได้อย่างง่ายดาย และนำตัวมาประหารนางผ่องเห็นเสือน้ำตาไหลจึงสงสาร ขอเสือเป็นลูกแทนนายสอนที่ตายไป

          เสืออยู่กับยายผ่องจนกระทั่งยายผ่องจะตาย ชาวบ้านทำเชิงตะกอนเผาศพยายผ่อง ขณะที่ไฟลุกไหม้อยู่นั้นเสือก็กระโจนเข้าไปในไฟตายตามไปด้วย ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลใกล้กับวัด โดยเอากระดูกเสือบรรจุไว้ในแท่นพร้อมรูปปั้นเสือ และอัญเชิญดวงวิญญาณเสือให้มาสถิตอยู่ในศาล เรียกว่าศาลเจ้าพ่อเสือ

          คนจีนส่วนใหญ่มาไหว้ “เจ้าพ่อใหญ่” หรือ ตั่ว เหล่า เอี้ย เป็นหลัก ส่วนเจ้าพ่อเสือเป็นองค์รองโดยเจ้าพ่อใหญ่นั้นเป็นเทพเจ้าที่มีบารมีใหญ่ที่สุดของจีน 

          ในเรื่องของรายได้ของศาลเจ้าพ่อเสือ มาจากการขายธูปเทียนและของไหว้ที่อยู่ภายในศาลเจ้า ธูปเทียนชุดละ 20 บาท ส่วนของไหว้แล้วแต่ว่ามีอะไรบ้าง หมูดิบ ไข่ดิบ ผลไม้ ข้าวเหนียวหวาน และถ้าเป็นปีชงก็ใช้ชุดปัดตัวสะเดาะเคราะห์ 1 ชุด ประกอบด้วยยันต์โบราณ 6 แผ่น กระดาษเงิน กระดาษทอง และธูปเทียน จำหน่ายชุดละ 60 บาทเท่านั้น

          การซื้อของไหว้ หรือชุดปัดตัว หากเป็นการซื้อข้างนอกศาลเจ้าราคาจะสูงมาก บางคนถูกหลอกให้นำของไปไหว้ก่อนแล้วมาคิดเงินที่หลัง โดนพ่อค้าแม่ค้าโกงบอกราคาหลายพันบาท บางรายถึงหมื่นบาทก็มี ปรากฎเป็นคดีความที่โรงพัก สน.สำราญราษฎร์ จำนวนนับสิบคดี จนต้องมีป้ายคำเตือนระวังถูกหลอกติดตั้งไว้ในศาลเจ้า

          ภายในศาลเจ้าจะมีตู้แดงรับบริจาคเงินตั้งอยู่ด้วย เงินบริจาคในตู้นี้จะส่งไปที่กทม.แล้วจากนั้นจึงส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยจะเปิดตู้ได้ต้องมีกุญแจไขจาก 3 หน่วยงาน ฉะนั้นรายได้ส่วนนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับทางศาล

          วิธีไหว้สักการะ ตั่ว เหล่า เอี้ย ธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียน แดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง

          ส่วนการสักการะเจ้าพ่อเสือ จะต้องซื้อเครื่องเซ่น ประกอบด้วยหมูสามชั้น ไข่สด และข้าวเหนียวหวาน มีทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่แล้วแต่จะเลือกเสร็จแล้วผู้คนนิยมเสี่ยงเซียมซีในศาลเจ้าแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 42 ใบ ใครเสี่ยงทายได้ใบไหนก็แล้วแต่ดวงชะตาที่แน่ๆ…เซียมซีที่ศาลเจ้าพ่อเสือได้ชื่อว่าแม่นและศักดิ์สิทธิ์อย่างแรง 

          เวลาเปิด-ปิดศาลเจ้าพ่อเสือ    โดยปกติเปิดวลา 06.00 น. และปิดในเวลา 17.00 น. แต่สำหรับในช่วงตรุษจีน คือตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 จะเปิดให้ไหว้ทั้งคืนไปจนถึงเช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันตรุษจีน เปิดเรื่อยไปจนถึง 17.00 น. ก็ปิดตามเวลาปกติ

 

 

ที่มา: นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 10 ก.พ. 2553

About The Author

aof

2 Comments

  1. kerojang

    มาแชร์ประสบการณ์ค่ะ เพิ่งไปมาเมื่อเสาร์ที่27ก.พ.53 เราเองก็ไม่ค่อยรู้ลำดับพิธีการไหว้สักเท่าไหร่จึงถามกับเจ้าหน้าที่ในศาลเจ้าพ่อเสือเอาค่ะ ชุดสักการะที่มีขายหน้าศาลถ้าเป็นชุดใหญ่มีกระทงทองด้วยจะราคา 190 บาท ส่วนชุดหมู 3 ชั้น+ไข่สด+พวงมาลัย+กระดาษปัดตัว+ธูปเทียน(ธูป 15 ดอก) ชุดละ 120 บาท ซื้อแล้วก็ยังไม่ต้องจุดธูปเทียน ให้เอาชุดถวายไปถวายที่เจ้าพ่อเสืออยู่ทางซ้ายด้านในก่อน โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้นำของถวายยกไปตรงหน้ารูปปั้นเจ้าพ่อแล้วพูดว่าเฮงเฮงเฮง เราก็รับพรไปแล้วก็เอากระดาษมาปัดตัว 12 ครั้ง ปัดออกจากหัวถึงเอว ถ้าคนแน่นก็ยืนปัดตรงไหนก็ได้ค่ะ แล้วนำกระดาษที่เราใช้ปัดตัวแล้วไปส่งให้เจ้าหน้าที่ที่เตาเผาทางด้านขวา เจ้าหน้าที่ก็จะเผากระดาษนั้นให้เรา ต่อไปก็จุดเทียนและธูปที่ข้างเตาเผากระดาษ แล้วก็นำธูป 3 ดอกไปไหว้จี้กงที่อยู่ติดกำแพงด้านหน้าตรงทางเข้าศาลด้านซ้าย และก็ปักธูปที่กระถางธูปสองข้างประตูศาล ข้างละ 3 ดอก จากนั้นก็เดินไปไหว้เจ้าพ่อเสือและเจ้าพ่อใหญ่(องค์ประธาน)ด้วยธูปองค์ละ 3 ดอก เป็นอันจบพิธีไหว้ศาลค่ะ เวลาเดินออกก็เดินไปทางเตาเผากระดาษ เช่าฮู้ซึ่งเป็นยันต์ผ้าไว้ป้องกันภัยให้แคล้วคลาดปลอดภัย ขอให้เฮงเฮงโชคดีร่ำรวยตลอดปีเสือนี้ค่ะ 🙂

  2. ning

    ขอบคุณค่ะ ขอให้เฮงๆ รวยๆ โชคดีทุกๆสิ่งในปีเสือนะคะ

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.