Select Page

สถิติพายุถล่มใต้ รอบ 57 ปี ปีละ 11 ลูก

สถิติพายุถล่มใต้ รอบ 57 ปี ปีละ 11 ลูก

เมื่อเกิดพายุ ความไม่แน่นอนมีอยู่แล้วนับจากทิศทาง… ระดับความรุนแรง และปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้พายุแรงมาก…น้อย ยกระดับไปถึงขั้นไหนนั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำทะเล ความชื้นในบรรยากาศ ว่าเอื้ออำนวยหรือเปล่า

           พายุดีเปรสชันในอ่าวไทยลูกล่า…ที่สร้างความเสียหายให้กับหาดใหญ่อย่างสาหัสผ่านพ้นไปแล้ว เคลื่อนไปในทะเลอันดามัน ศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 8.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.0 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
          “ดีเปรสชันลูกนี้…เป็นของธรรมดาที่เข้ามาแล้วก็ต้องทะลุออกทะเล อันดามัน เพียงแต่ว่านานๆ…จะเกิดสักลูก แล้วเมื่อออกอันดามันได้แล้วก็อาจจะเพิ่มความแรงขึ้นอีกก็ได้”
       

              ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บอก “….ก็เหมือนพายุเกย์ที่ขึ้นชุมพร…ท่าแซะ ทะลุออกไปสู่ทะเลทางมหาสมุทรอินเดีย แล้วก็เป็นพายุไซโคลนขึ้นฝั่งที่อินเดียสร้างความเสียหายมหาศาล มีคนเสียชีวิตเป็นร้อย”
       

            ดร.สมิทธ บอกว่า เมื่อเกิดพายุ ความไม่แน่นอนมีอยู่แล้วนับจากทิศทาง… ระดับความรุนแรง ส่วนปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้พายุแรงมาก…น้อย ยกระดับไปถึงขั้นไหนนั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำทะเล ความชื้นในบรรยากาศ ว่าเอื้ออำนวยหรือเปล่า
         

            “สมมติว่า…พายุเกิดขึ้นแถวๆปลายแหลมญวน แล้วก็มีความชื้นมาก… อุณหภูมิมาก แล้วก็มีความกดอากาศเข้ามาดันเอาไว้ให้อยู่ตรงนั้นนานๆ…พายุก็จะทวีกำลังแรงขึ้น”
        

              เหล่านี้คือปัจจัยที่เป็นอาหารของพายุ น้ำ…ความร้อน…ความชื้น
         

              เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา (www.tmd.go.th) ระบุว่า พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลก
         

              เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก  ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปโดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด
       

               ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้ มีการแบ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนี้….
         

               พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต…ราวๆ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
               พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอตขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต…ราวๆ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ…ไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต ขึ้นไป
         

                 ปกติแล้วพายุที่เกิดขึ้นในบ้านเรามี 2 ทิศทาง…ตะวันออก กับ ตะวันออกเฉียงใต้ ถามว่ามีโอกาสไหม…ถ้าพายุอย่างดีเปรสชันลูกล่ามีทิศทางอื่น ไม่พัดออกไปฝั่งอันดามัน แต่วกกลับขึ้นไปทางปากน้ำ…เข้าสมุทรปราการ สมุทรสาคร… กระทบลากยาวไปถึงกรุงเทพฯ   “มีโอกาส…แล้วก็เคยมีมาแล้ว” ดร.สมิทธ ว่า “พายุลินดา…พายุคิม อิทธิพลเคยขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ”
        

               พายุไต้ฝุ่นลินดา เกิดในอ่าวไทยตอนกลาง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง…อยู่ห่างไปทางตะวันออกของจังหวัดชุมพร 250 กิโลเมตร…วันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 พายุลินดาเข้าประเทศไทยที่ จ.นครศรีธรรมราช
         

              มีผู้ประสบภัย 461,263 คน…ตาย 9 คน…สูญหาย 2 คน…บาดเจ็บ 20 คนบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 9,248 หลัง…ถนนเสียหาย 1,223 แห่ง…ฝาย-ทำนบเสียหาย 40 แห่ง…สะพานชำรุด 20 แห่ง…สาธารณประโยชน์ 58 แห่ง รวมมูลค่าความเสียหาย 213,054,675 บาท
         

                 พายุที่วกเข้าปากอ่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่ ยิ่งภาวะบรรยากาศปัจจุบัน โลกร้อน ลานีญา เอลนิโญ จะทำให้เกิดพายุง่ายขึ้น…
          ดร.สมิทธ บอกว่า ลานีญา ทำให้เกิดพายุง่ายขึ้น คือมันเอื้ออำนวย และสภาวะอากาศปัจจุบัน อาจทำให้เกิดพายุได้ถี่มากขึ้นด้วย เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนขึ้น…
         

           “เราต้องเฝ้าติดตาม พายุเข้าอ่าวไทย ถึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็คงไม่มีใคร บอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพียงแต่เฝ้าระวังถึงจุดก่อตัวว่าอยู่ตรงไหน…”
         

            ถ้าพายุก่อตัวในตำแหน่งละติจูดต่ำๆ ตรงทิศใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ มาจากมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทะเลจีน แล้วตัวที่ก่ออยู่ใต้หมู่เกาะฟิลิปปินส์ หรือเฉียดเข้ามาทางใต้ของเกาะฟิลิปปินส์…
         

            พายุลูกนี้ก็จะมาทางทิศตะวันตก แล้วก็จะมาเฉียดปลายแหลมญวน จุดกำเนิดพายุ ทิศทางพายุลักษณะนี้ ถ้าเกิดขึ้นก็เป็นไปได้ที่จะพัดเข้ามาที่ปากอ่าวไทย
         

            พายุอย่างนี้อันตราย…พายุแบบนี้ไม่ระบุช่วงเวลา 100 ปีเกิดครั้ง…หรือ 50 ปี จะเกิดสักที ช่วงปลายปีอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า…พายุจะเข้าช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม
         

           ดร.สมิทธ บอกว่า เรายังแค่อยู่ในช่วงเริ่ม จากสถิติช่วงวันที่ 1-10 พฤศจิกายน… รอบ 57 ปีจะมีพายุอย่างนี้เข้า 11 ลูก วันนี้เข้าแค่ลูกเดียวเท่านั้น ส่วนทิศทาง ก็อยู่ในพื้นที่ละแวกนี้ แล้วก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจจนเกินไปเพราะสถิติเป็นเช่นนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นอย่างนี้ทุกปี
         

           เสริมข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เดือนพฤศจิกายน พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ได้มากกว่าประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพายุเคลื่อนผ่านมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมด…
          

               ที่ผ่านเข้ามา 28 ลูกบริเวณที่พา ยุเคลื่อนผ่านได้มากเป็นอันดับรองลงไป ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสงขลา
               อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยตอนบน ยังมีบางพื้นที่ที่ศูนย์กลางพายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ต่อกับภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระแก้ว
       

               เดือนธันวาคม พายุทั้งหมดจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป…ศูนย์กลางมากที่สุดอยู่ที่สงขลาและพัทลุง  เส้นทางพายุที่ผันผวนสุ่มเสี่ยง…ย้อนถึงสตอร์มเซิร์จที่เคยวิตกกันไปแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะรุกเข้าไปสร้างความเสียหายถึงกรุงเทพฯ ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหม?
            

            “วันนี้…ยังมีความเป็นไปได้ ถ้าพายุเข้ามาแล้วระดับความแรงเป็นพายุโซนร้อน เข้ามาถึงก้นอ่าว ตัว ก…ก็จะมีสตอร์มเซิร์จเกิดขึ้นได้….”
         

             หมายความว่า…พายุมีลม ถ้าลมเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็จะมีสตอร์มเซิร์จ มีคลื่นซัดเข้ามาฝั่ง เราเรียกว่า… “สตอร์มเซิร์จ (Storm surge)”

              สตอร์มเซิร์จ..เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุหมุนโซนร้อน ที่ยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นกว่าปกติ อันเนื่องมาจากความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณนั้น หมายความว่า เวลาที่หย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านไปพร้อมกับศูนย์กลางของพายุจะทำให้แรงกด ยกระดับน้ำจนกลายเป็นโดมน้ำ เคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่ง
        

              สตอร์มเซิร์จ กับ คลื่นยักษ์สึนามิ ลักษณะการเกิดต่างกัน แต่ ผลคล้ายกัน คือ เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ถล่มเข้าหาฝั่ง คะเนความเสียหาย สตอร์มเซิร์จ อาจจะเลวร้ายกว่ามาก
            

              สตอร์มเซิร์จ เกิดขึ้นพร้อมพายุ ท้องฟ้าปั่นป่วน สภาพอากาศเลวร้าย เมฆฝน ก่อตัว ฝนตกหนัก ลมพัดแรง ชายฝั่งเกิดคลื่นถาโถมอย่างหนัก และคลื่นในทะเลสูง โชคร้ายเมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้าหาฝั่ง ก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดเข้าฝั่ง ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ
         

                ดร.สมิทธ บอกว่า ปีนี้…เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีว่าพายุจะแรง หรือจะมีพายุลูกอื่นๆตามมาสร้างความเสียหายอะไรอีกหรือเปล่า เพราะถ้าพายุก่อตัวแล้วไม่รุนแรงตอนขึ้นฝั่งก็ไม่เป็นไร สร้างความเสียหายไม่มาก แต่ถ้าเร็วระดับ 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง…ความรุนแรงมีแน่ แล้วความเสียหายก็จะตามมาอีกนับไม่ถ้วน
         

              “ลูกที่ผ่านไปแล้วยังโชคดี…ถ้าขึ้นมาตัว ก ท่วมไปหมดแล้ว…สมุทรสาคร สมุทรสงคราม…น้ำที่ท่วมขังอยู่แล้ว กรุงเทพฯจะจมน้ำเลย”
         

               ดร.สมิทธ บอกอีกว่า ทิศทางบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นอาหารพายุ…
        

               จะพาไป แล้วถ้าขึ้นมาแถวเพชรบุรีก็แย่ โอกาสที่พายุจะสร้างความเสียหายแบบนี้ ก็ต้องลุ้นกันในช่วงสองเดือนท้ายปี แต่ไม่ลากยาวไปถึงเดือนมกราคมปีหน้า  “การตั้งรับ เตือนภัยเพื่อเตรียมตัวป้องกันจึงมีความสำคัญ ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า 2 วันได้ยิ่งดี หรือถ้าเอาแบบเร่งด่วนก็น่าจะมีเวลา 24 ชั่วโมง…ความเสียหายที่หนักหนาจะลดลงไปได้มาก”  เหล่านี้คือมุมมองจากประสบการณ์ของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ.–จบ–
 
          ที่มา: http://www.thairath.co.th

About The Author

aof

1 Comment

  1. touchkay

    จัดระบบ heading และย่อหน้าได้ดีขึ้นมากเลยค่ะ heading ไปโผล่ในเนื้อหาเพียง ๒ บรรทัดแรกเท่านั้น ต่อมาเป็นเนื้อหาตามปรกติ มาถูกทางแล้วค่ะ ทำต่อไป

    น้องเก๋

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.