Select Page

สังคม ‘แชต’ โจรชุม ลวงคนโลภผ่านวอตส์แอพ

สังคม ‘แชต’ โจรชุม ลวงคนโลภผ่านวอตส์แอพ

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรศัพท์ไปอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดบ้าง หรือเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารต่างๆ สารพัดจะอ้างนั้น ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นขบวนการต้มตุ๋นที่ระบาดไปทั่วทั้งไทย จนถูกตำรวจจับตาอย่างใกล้ชิด

เครือข่ายจากแก๊งชาวจีน ไต้หวัน เริ่มระวังตัวมากขึ้น และกำลังรอที่จะหาจังหวะที่เหยื่อเผลอ เพื่อกลับมาใช้มุขใหม่ๆ หลอกให้โอนเงินทางเอทีเอ็มไปยังบัญชีธนาคารของคนร้าย

ในระหว่างนี้กลุ่มมิจฉาชีพจากต่างชาติอื่นๆเอง ที่อยู่ในประเทศไทยเริ่มขยับแทน โดยใช้เทคโนโลยีทางโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางหากิน

หากคอลเซ็นเตอร์เป็นการหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ เลือกสุ่มเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วย 081 เป็นหลัก ใช้โชคช่วยเล็กน้อยถ้ามีคนหลงก็หวานหมู

แชตผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นการหลอกลวง ด้วยการใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็นต้องโทรคุยกัน แค่มีเบอร์โทรหรืออีเมลก็สามารถแชตกันผ่านสมาร์ตโฟน หรือโปรแกรมอย่างเป็นส่วนตัวได้แล้ว

อย่างนายไฮเซน อีวุนดู อายุ 31 ปี ชาวไนจีเรีย ซึ่งเคยเข้ามาค้าแข้งเป็นอดีตนักฟุตบอล ทีมสมุทรปราการ ระดับดิวิชัน 2 หนึ่งในผู้ต้องหาแก๊ง Scam Mail (สแกมเมล) ที่กำลังสร้างปัญหาอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งจนมุม พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ (ผบก.ปอศ.) หลังหลอกลวงคนไทยให้โอนเงิน

วิธีการโอนเงินของสแกมเมล เริ่มต้นจากอีเมลของคนที่เป็นเพื่อนถูกคนร้ายเข้าไปแฮกได้สำเร็จ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะส่งเมลแนบไปยังทุกคนที่อยู่ในรายชื่อ ส่วนมากพบว่าคนร้ายจะแอบอ้างเป็นเจ้าของเมล เพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านการเงิน อย่างเช่น อยู่ต่างประเทศแล้วถูกโจรขโมยกระเป๋าเงิน หรือถูกปล้นเอาบัตรต่างๆไปหมด

ส่วนมากเหยื่อที่ถูกหลอกจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร อ่านออกแปลได้รู้เรื่อง และขึ้นต้นประโยคว่า How ผู้เสียหายรายหนึ่งให้ความรู้ว่า มิจฉาชีพจะแฮกมาจากเจ้าของเมลจริง และส่งหาทุกคนในรายการเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยอ้างว่าเจ้าตัวเดินทางไปต่างประเทศ ถูกจี้ปล้น ไม่มีเงินเหลือ โดนเอาไปทั้งบัตรเครดิตและอื่นๆ โทรติดต่อไม่ได้ แต่โชคดีใช้เมลที่โรงแรมได้ ตอนนี้ปลอดภัย แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าโรงแรม รวมทั้งค่าแท็กซี่ไปสนามบิน ขอยืมก่อน อะไรประมาณนี้

เมื่อมีคนหลงเชื่อว่าเพื่อนกำลังเดือดร้อนจริงๆ ก็จะตกเป็นเหยื่อ โอนเงินไปให้กับพวกขบวนการสแกมเมล แต่ก็มีที่เนียนกว่านี้  คือเมื่อคนร้ายได้อีเมลแล้ว ใช้วิธีติดต่อผ่านทางแชตวอตส์แอพสร้างความไว้วางใจให้เหยื่อเชื่อก่อน อย่างนายไฮเซน คนร้ายที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศไนจีเรีย เพื่อมาหลอกคนไทยโดยเฉพาะ

ผู้เสียหายโร่ไปแจ้งความที่ บก.ปอศ. หลังแชตวอตส์แอพกับชายชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “แซนดอส” แซนดอส อ้างว่าอยู่ประเทศอังกฤษ หลังแชตกันมานานประมาณ 4 เดือน นายคนนี้ก้บอกว่าจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย โดยจะส่งพัสดุเป็นของขวัญมาให้เธอก่อน

ช่วงนี้ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งในขบวนการ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กระจายสินค้าท่าอากาศยานภูเก็ต ติดต่อกลับไปหาเธอว่าพสดุมาถึงแล้ว จากการตรวจสอบพบไอโฟน ไอแพด และเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง โดยต้องชำระค่าขนส่งสินค้าและภาษีรวมแล้ว 1 แสนบาท แน่นอนว่าต่อมาก็หายเข้าไปในกลีบเมฆตามระเบียบ

คดีนี้ตามจับไม่ยาก แต่ผู้เสียหายคงหวังจะได้เงินคืนยาก ซึ่ง พล.ต.ต.สุรพล ได้กล่าวว่าเบื้องต้น พบว่าหัวหน้าขบวนการนี้อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย และแก๊งสแกมเมลนี้มีความแตกต่างจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีวิธีการเข้ามาตีสนิทหลอกให้เหยื่อไว้ใจก่อนจะทำการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านทางบัญชีธนาคารในรูปแบบต่างๆ

พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลย (บก.ปอท.) ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่มีคนตกเป็นผู้เสียหายถูกหลอกผ่านทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ 2.โลภอยากได้ของ

“ผมคิดว่าเรื่องความรู้ด้านภาษาอังกฤษเคยเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะมีจดหมายหลอกเป็นภาษาอังกฤษส่งมาให้ ถ้าเป็นเราเราก็จะถอยหนี ปัจจุบันภาษาเป็นปัจจัยรอง คนไทยเริ่มใช้ภาษาอังกฤษเป็นแล้ว อีกอย่างคืออยากได้ของ อยากได้เงิน เห็นแต่อยากได้ของในกล่อง โลภ ถ้าคุณไม่อยากได้ของคุณจะเสียเงินไหม”

กรณีแฮกอีเมลเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.ท.สันติพัฒน์ ให้ความรู้ว่าจะมีพวกที่ส่งไปตามอีเมล หากมีการกดรับหรือตอบกลับอีเมลนั้นก็จะส่งไปยังเครื่องคนร้าย

“พวกคนร้ายก็จะเอาเมลไปนั่งดู หากใครที่ติดต่อธุรกิจก็จะมีลิสต์เมลเข้ามา ก่อนจะทำการแอดเดรสบุ๊ก เพื่อแฮกอีเมลก่อนเปลี่ยนพาสเวิร์ด กรณีนี้พบบ่อยมากที่แฮกแล้วส่งเมลไปหาคนในอีเมลแอดเดรสว่าอยู่ต่างประเทศถูกขโมยกระเป๋า ให้โอนเงิน แต่ส่วนใหญ่จะมีการหลอกให้โอนแค่ครั้งเดียว”

คนร้ายที่แฝงตัวแอบอ้างตั้งแต่รูปภาพ ชื่อนามสกุล อาชีพ ทุกอย่างล้วนถูกอุปโลกน์ขึ้นมา เพื่อหลอกลวงเหยื่อที่หลงเชื่อ บางครั้งสาวไทยก็ถูกหลอกจากสาเหตุเล็กๆ ที่เริ่มต้นขึ้นมาเพราะอยากได้แฟนฝรั่งก่อนจะถูกปั่นหัว ด้วยเงินทองหรือโทรศัพท์ให้เกิดความโลภ แต่ทุกครั้งที่จบมักจะลงเอยด้วย เสียกับเสีย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2555 หน้า 5

ขอขอบคุณภาพจาก : Lisa

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.