Select Page

สื่อขยะ…ผ่านมุมมอง GEN-Y

สื่อขยะ…ผ่านมุมมอง GEN-Y

ในโลกการแข่งขัน “สื่อ” ต่างแย่งชิงกันโอบล้อมรอบตัวผู้คนตลอดเวลา “สื่อ” จึงเป็นได้ทั้งผู้รังสรรค์ พลัง แรงบันดาลใจและในเวลาเดียวกันก็อาจเป็นได้ทั้ง “ขยะสังคม” ที่พยายามคะยั้นคะยอตัวเองไปสู่ผู้รับ เพื่อสร้างขยะที่ให้มากล้นเกลื่อนเมืองยิ่งขึ้น แล้วสังคมจะจัดการกับปัญหาสื่อ (หรือ) ขยะ อย่างไร ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องกระตุกความคิดผู้คนให้ตั้งคำถามนี้ร่วมกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์สุดสัปดาห์ วันเสาร์ที่ 7 พศจิกายน พ.ศ. 2552

โดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี

       d001   5 เยาวชน คนยุค GEN-Y ประกอบด้วย ศิรินธร กิตติศรีไสว (ไวท์) ธนาศักดิ์ ภักดี (ฟู) บุษราภรณ์ สุพรศรี (พลอย)พัชริดา จิรภิญโญ (นก) พรรณบุศย์ หาญชเล (สายฝน)นิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคิดค้นโจทย์สื่อขยะขึ้น จนนำมาสู่การสร้างสรรค์นิทรรศการงาน “ศิลป์สะท้อนสื่อ”ภายใต้คอนเซปต์ที่ว่า “สื่อ (หรือ) ขยะ” ซึ่งจัดขึ้นที่ลานกิจกรรมชั้น G จามจุรีสแควร์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

          งานนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดแนวคิด นำเสนอหลักสูตรใหม่ของนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาฯ ปี 2553 ในรูปแบบกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และเป็นการเปิดโลกของการศึกษาที่จะหลอมรวมความรู้รูปแบบใหม่เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากผลงานนิสิตแล้ว ยังเปิดให้ศิษย์เก่าร่วมส่งผลงานเข้าร่วมด้วย

          ศิรินธรอธิบายความคิดผ่านผลงาน “ไม่มีพื้นที่ให้ข่าวดีได้ลง”ว่า ไอเดียของงานชิ้นนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า “ข่าวร้ายฟรี ข่าวดีจ่าย”เพื่อทำให้ประเด็นชัดขึ้น จึงได้ตัดภาพข่าวอาชญากรรม คนตาย เลือดสาด จากข่าวหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับต่างๆ เพื่อให้เห็นว่า ภาพร้ายเหล่านี้ทำไมนับวันจึงได้ดูรุนแรงนัก

          “ครั้งหนึ่งเคยเห็นภาพคนคลอดลูก ถ่ายให้เห็นแบบขยายทุกอย่างชัดมาก ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปขยาย  ภาพถ่ายแบบนี้กันถึงขนาดนั้น เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือเปล่า” ศิรินธร เล่าความคิดผ่านงานศิลป์

          เช่นเดียวกับ บุษราภรณ์ที่มองว่า การนำเสนอเรื่องร้ายแม้จะมีข้อดีคือทำให้คนได้ระวังตัวมากขึ้น แต่บางครั้งเมื่อได้อ่านไปมากๆ ก็ทำให้สังคมซึบซับรับแต่ด้านร้ายๆ ไป ที่สำคัญสังคมไทยไม่เคยแตะเรื่องการจัดเรตติ้งหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ภาพยนตร์และละครทีวีเริ่มมีการจัดกันแล้ว

          ธนาศักดิ์ชายหนุ่มคนเดียวในกลุ่มชื่นชอบกับผลงาน”นิตยสาร หวอดารา”ซึ่ง อดิสรณ์ ตรีสิริเกษมหรือ “ปิ๊ง”ผู้กำกับหนัง “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” ซึ่งเป็นรุ่นพี่ส่งเข้าร่วมผลงานชิ้นนี้สะท้อนว่าข่าวจากนิตยสารประเภทกอสซิปดารา แอบถ่ายดารา เกิดขึ้นเยอะเกินไป กลายเป็นขยะ และไม่มีประโยชน์ต่อคนรับสารมากนัก

          “คนรับหรือตัวคนทำจะเป็นคนกำหนดเองว่าสื่อนั้นเป็นสื่อสร้างสรรค์ หรือสื่อขยะ บางคนอาจจะมองว่าสื่อเหล่านี้เป็นสื่อขยะก็ได้ แต่บางคนก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่พวกเขาสนใจ เป็นสื่อที่มีความสร้างสรรค์และมีคุณค่า แต่งานศิลป์พวกนี้ผมต้องการบอกไปที่ตัวผู้เสพมากกว่า” ธนาศักดิ์อธิบายจุดยืนงานแสดงC-0909~1

          ด้านรุ่นพี่ศิษย์เก่าคนดังอย่าง คมกฤษ ตรีวิมล หรือ”เอส”ผู้กำกับภาพยนตร์ร้อยล้านอย่าง “เพื่อนสนิท” “แฟนฉัน” และ “สายลับจับบ้านเล็ก” พูดถึงการสร้างงานศิลป์ในชื่อว่า “นม” “หวอ”ว่างานชิ้นนี้เกิดจากการตัดแปะสรีระส่วนสำคัญของผู้หญิงที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์บันเทิง คลิปโป๊ที่รวบรวมได้จากหนังสือบอล ในเพียงวันเดียวเท่านั้น

          เอส บันทึกในแรงบันดาลใจของเขาว่า “นี่คือสารที่สื่อมวลชนได้สื่อออกมา ถึงแม้จะมีคนด่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่มันก็กลับดูสวยงาม ถูกต้อง เหมือนอยู่ในกรอบรูปที่สวยงาม สื่อเราควรจะสื่อในสิ่งที่มวลชนผู้รับสารเขาอยากจะรับรู้และสองมันเป็นสิ่งที่ผู้รับสารได้รับประโยชน์ในบางอย่าง แต่ตอนนี้เราได้รับอิทธิพลจากเมืองนอก เป็นแฟชั่น ยอดขายก็ไม่ธรรมดา เรื่องนี้มันเกิดขึ้นจริง

          ผมไม่ได้รู้สึกต่อต้านหรือก่นด่า แต่ครอบครัวต้องบอกเขาตอนนี้ผมห่วงเด็ก เพราะกลายเป็นว่าเด็กก็แต่งตัวแบบนี้เหมือนคลิปที่เด็กถ่ายกางเกงใน ดาราก็ทำกัน หนังสือพิมพ์ก็ลงกัน กลายเป็นปัญหาของสังคมไปแล้ว” เอส เล่าที่มาของผลงานตัวเอง

          ในแง่มุมข่าวหนักๆ อย่างข่าวการเมือง และข่าวความขัดแย้งต่างๆ นิสิตกลุ่มนี้ มองว่า แม้ว่าจะอยากรู้ข่าวสารบ้านเมือง แต่ข่าวการเมืองทุกวันนี้ก็ทำได้น่าเบื่อ ไม่น่าติดตามเพราะนักข่าวติดตามทุกย่างก้าวของนักการเมืองเยอะเกินไปลึกเกินไป เพียงแค่ขยับตัวก็เสนอเป็นข่าวใหญ่แล้ว

          พัชริดา บอกว่า เท่าที่เธอสังเกตในหน้า 1 หนังสือพิมพ์ลงข่าวการเมือง ด้านในก็เป็นวิเคราะห์ซ้ำ ส่วนหน้าถัดไปก็เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องเดียวกันอีก ทั้งฉบับจึงเป็นประเด็นเดียว ทั้งที่ในหนึ่งวันมันมีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย แต่สื่ออาจจะเห็นว่าไม่มีคุณค่าเรื่องข่าว ก็เลยเลือกด้านนี้ แต่สิ่งที่อยากเห็น บางครั้งอาจจะต้องคำนึงถึงความสมดุลของข่าวบ้างcover-public-post1

          “พวกเรากับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า รองลงมาก็เป็นโทรทัศน์ เพราะเราสามารถข้ามข่าวที่ไม่น่าสนใจได้ โลกของข่าวต้องเป็นโลกที่เราอยากรู้ เราเลือกเองได้ ไม่ใช่ให้ใครมาเลือกข่าวให้เรา คิดว่าสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังไม่ปรับตัว มีส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่คงต้องปรับกันแล้ว”

           เสียงจาก GEN-Y สะท้อน n.”..พวกเรากับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า รองลงมาก็เป็นโทรทัศน์ เพราะเราสามารถข้ามข่าวที่ไม่น่าสนใจได้ โลกของข่าวต้องเป็นโลกที่เราอยากรู้ เราเลือกเองได้ ไม่ใช่ให้ใครมาเลือกข่าวให้เราคิดว่าสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังไม่ปรับตัว มีส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่คงต้องปรับกันแล้ว…”

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.