Select Page

‘61’ เลขนี้มีความหมายต่อผู้บริโภค

‘61’ เลขนี้มีความหมายต่อผู้บริโภค

“องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่ถูกกำหนดให้จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ด้วยเล็งเห็นช่องโหว่เกี่ยวกับปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสรวมตัวกันหรือมีปากมีเสียงที่จะไปทวงสิทธิ์ของตนเองอย่างเข้มแข็ง กระทั่งวันนี้ บนเส้นทางของการต่อสู้ให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยาวนานถึง 15 ปีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ยังไม่มีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเสียที

 

เรื่องและภาพ : วิรงรอง พรมมี

             การมีกฎหมาย “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” จะทำให้  มีตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง , เป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุกกรณีที่มีการเอารัดเอาเปรียบ ,ให้ความเห็นและบังคับใช้นโยบาย เพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น , ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานของรัฐว่า ให้การคุ้มครองผู้บริโภคดีพอหรือไม่จากปัญหาในปัจจุบัน , เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิ ก็อยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหน โทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร และผลักดันให้กฎหมายเป็นกฎหมาย

            ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. , สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย , สมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม , กลุ่มปลาเป็นว่ายทวนน้ำ , บริษัท กู้ดจ็อป โปรดักชั่น จำกัด , และ บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1 เรื่อง” เพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค และสื่อสารกับสังคมในวงกว้าง ผ่านทีมผู้กำกับระดับมืออาชีพ

            หนังสั้นเรื่อง “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1” เป็นหนังสั้นที่มุ่งสะท้อนปัญหาของผู้บริโภค สร้างจากเรื่องจริงที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ และชี้แนวทางออก หากปัญหาต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวคุณ คนใกล้ตัวคุณ หรือแม้แต่กับคนที่คุณรัก คุณจะมีทางออกอย่างไร 1.เรื่อง “กลับ…บ้าน” มุ่งสะท้อนปัญหารถตู้สาธารณะ กำกับโดยคุณชาญ รุ่งเรื่องเดชวัฒนา 2.เรื่อง “Disconnected” มุ่งสะท้อนปัญหาการใช้บริการเครือข่าย 3G กำกับโดยคุณบุญส่ง นาคภู่ 3.เรื่อง “กรรมใคร?” มุ่งสะท้อนปัญกาหนี้บัตรเครดิต กำกับโดยอ.ไพจิตร ศุภวารี  4.เรื่อง “Priceless” มุ่งสะท้อนปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กำกับโดยคุณมานุสส วรสิงห์  5. เรื่อง “61” มุ่งสะท้อนการต่อสู้ชีวิตของผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถตู้สาธารณะ กำกับโดยคุณพัฒนะ จิรวงศ์  6.เรื่องสารคดีสั้น “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” มุ่งเสนอการผลักดันให้มูลนิธิเป็นองค์กรอิสระตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำกับโดยคุณพัฒนะ จิรวงศ์  +1 : คลิปคำอธิษฐานจากผู้บริโภค เป็นคลิปที่เป็นพิธีกรรมสาปแช่งที่เกิดขึ้น เพื่อต้องการสะท้อนถึงทางออกที่ทำได้ในดารเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคที่ถูกกระทำ
            อีกทั้งยังมีการเสวนา “เบื้องหลังกว่าจะเป็นหนังสั้น 6+1” โดย คุณดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมฯ สสส. , คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ Chief Marketing Officer SF CORPORATION CO.,LTD. , คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , คุณไพจิตร  ศุภวารี ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง “กรรมใคร?” และคุณบุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนั้งสั้นเรื่อง “Disconnected”

          คุณดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมฯ สสส. กล่าวว่า ความคิดของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการเล่าเรื่องโกง เรื่องคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ คุณสารีก็กวักมือให้เข้ามาช่วยกัน ใช้หนังสั้นมาเป็นสื่อในเรื่องที่ต้องการเผยแพร่  เพราะเชื่อในพลังของหนังสั้นว่า หนังสั้นคือสื่อศิลปะ ที่จะช่วยนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนที่ได้รับชม บ่อยครั้งข้อมูลที่ดีๆ ที่ผู้คนควรรับรู้กลับถูกมองข้ามไม่ได้รับการเผยแพร่หรือพูดถึง เพราะมันขาดความน่าสนใจ ขาดพลังดึงดูดให้ผู้คนหันมาดูมาสนใจ แต่เมื่อมันถูกบอกเล่าอย่างมีชั้นเชิงมีเรื่องราวอย่างในรูปแบบของหนังสั้น บางครั้งเรื่องยากๆ ก็อาจเป็นเรื่องง่ายๆที่ใครก็เข้าใจได้

 

           

 

 

 

 

                   คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำเรื่องกฎหมายข้อนี้มา 15 ปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจเสียทีว่ากฎหมายข้อนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอย่างไร จะเป็นประโยชน์แก่เขาอย่างไร กฎหมายที่เราผลักดันมากว่า 15 ปีแล้ว เขาไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร ซึ่งจะได้จากการชมหนังสั้นเรื่องนี้ กฎหมายฉบับนี้กำลังเดินหน้าไป เราอยากเห็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นเสียที ฝ่าข้อจำกัดต่างๆไปได้เสียที องค์กรเพื่อผู้บริโภคอยากเห็นมันเกิดขึ้นจริง เพราะตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้วเนื่องจาก 15 ปีที่ผ่านมาเส้นทางของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ราบรื่น เมื่อผู้บริโภครู้ว่ามันมีประโยชน์อะไร ผู้บริโภคก็น่าจะช่วยกันผลักดันต่อไป เชื่อว่าคนที่ดูหนังสั้นเรื่องนี้แล้ว จะช่วยกันสนับสนุนกฎหมายมาตรานี้ต่อไป

 

          คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ Chief Marketing Officer SF CORPORATION CO.,LTD. กล่าวว่า สื่อหนังจะเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้มีผลวิจัยทางจิตวิทยายืนยันว่า “การเสพสื่อโดยมีจิตใจเพลิดเพลิน จะทำให้เขาจำได้ ฉะนั้นเวลาใครต้องการถ่ายทอดความคิดอะไรก็ตาม มักถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์” ฉะนั้นทางเอสเอฟ มองเห็นประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ เราจึงเข้าไปสนับสนุน นอกจากนี้ ในส่วนตัวมองว่าถ้าผู้ประกอบการมีคุณธรรม ปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภคก็จะลดน้อยลง ขอเอาใจช่วยมูลนิธิฯให้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนี้เกิดขึ้นจริง จะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคต่อไป

 

            คุณไพจิตร  ศุภวารี ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง “กรรมใคร?” กล่าวว่า ผมได้เริ่มทำงานให้กับ สสส. มาตั้งแต่ปี 2551 จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันก็ 6 ปีแล้ว พอ สสส.จะทำหนังคุณดนัยและคุณสารี ก็ให้ผมมากำกับภาพยนตร์ เพราะไม่ได้ทำมานานประมาณ 20 ปีแล้ว แต่ในเมื่อท่านมองเห็นความสามารถของผม ผมจึงตอบรับที่จะทำ เรื่องนี้สะท้อนเรื่องการใช้เงินในอนาคตในทางที่ผิด มันจะเป็นด้ายพันตนเองไม่จบสิ้น จนหาทางออกไม่ได้ในที่สุด ภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง ซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดได้อย่างรอบด้าน และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย

 

             คุณบุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง “Disconnected” กล่าวว่า Disconnected ในส่วนตัวผม ผมชอบทำเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อย ผมเลยลองคิดว่า ถ้า 3G เข้าถึงบ้านผมจะเกิดอะไรขึ้น อะไรจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจคิดว่ามันเป็นปัญหาเล็กๆ แต่ความจริงแล้ว มันคือปัญหาที่ยิ่งใหญ่ พลังของหนังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้ตัว นี่คือศิลปะหนัง ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นด้วยหัวใจ

            ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้ชมภาพยนตร์สั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1” แล้ว และมองเห็นถึงประโยชน์ขององค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 61) นี้ เพราะตัวดิฉันเองก็เป็นผู้บริโภคที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสินค้าและบริการที่อยู่ล้อมรอบตัวดิฉันในชีวิตประจำวัน  หากวันหนึ่งเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับดิฉัน ดิฉันจะเดินไปทางไหน จะไปขอความเป็นธรรมกับใคร ใครจะชดเชยค่าเสียหายให้ หากไม่มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมเสียที

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.