Select Page

เกษตรเมืองกรุง

เกษตรเมืองกรุง

หากพูดถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร  หลายคนคงนึกถึงภาพของความเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยว ศูนย์กลางหน่วยงานราชการ จนลืมนึกไปว่าภายใต้อาณาเขตอันกว้างขวางนั้น ยังมีพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้ กรุงเทพฯมีพื้นที่การเกษตรมากกว่า 180,000 ไร่ และชาวกรุงเทพฯมีอาชีพเกษตรกรรมมากกว่า 13,000 ครอบครัว กระจายอยู่ใน 26 เขตจาก 50 เขต แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทำให้กรุงเทพฯต้องจัดงานมหกรรมสินค้าด้านการเกษตรของกรุงเทพมหานครขึ้น

เรื่อง : วิรงรอง  พรมมี

ภาพ : พงษ์พันธ์ พวงพิลา

       งานมหกรรมสินค้าด้านการเกษตรของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 ส.ค. 2554 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเผยแพร่ผลิตผลทางการเกษตร ของกรุงเทพมหานครให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และ มีแหล่งตลาดรองรับ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย โดยมีกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการด้านการเกษตร การประกวดผลผลิตด้านการเกษตร การประกวดกิจกรรมของแม่บ้าน พ่อบ้านเกษตรกร  ยุวเกษตรกร และครูเกษตรของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังมีการจัดแสดงผลผลิตทางการเกษตรของกรุงเทพมหานครนานาชนิด ซึ่งมีเกษตรกร จากพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เข้าร่วมนำผลผลิตมาจำหน่ายในราคาผู้ผลิตโดยตรง

          จุดสนใจของงานนี้ที่ดิฉันอยากนำเสนอ หลังจากไปเดินมาแล้วตั้งแต่วันแรกของงานคือ นิทรรศการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจัดไว้ในส่วนกลางของงานอย่างสวยงาม ที่ตรงนั้นถูกแบ่งเป็น 30:30:30 และ10 ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแบ่งป็นพื้นที่ทำนา ทำไร่ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และที่อยู่อาศัย อีกส่วนหนึ่งคือผักไฮโดรโพนิกส์ หรือการปลูกพืชในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ ทดแทนการปลูกพืชในดิน ที่เราใช้ในการปลูกพืชในการเกษตรทั่วไปนั่นเอง ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจและเหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองกรุง เนื่องจากในเมืองมีพื้นที่น้อยกว่าชนบท จึงขอนำเสนอในวันนี้

           พรเพ็ญ ชาวเขาพระ หรือ พี่น้อย ผู้จำหน่ายผักไฮโดรโพนิกส์ เขตสายไหม เล่าให้ฟังว่า “…ธุรกิจนี้เป็นของเจ้านายซึ่งทำมาประมาณ 6 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคือ เจ้านายจบเกษตรมาและต้องการทำธุรกิจส่วนตัว วิธีทำก็ไม่ยากเพียงแค่นำฟองน้ำมาผ่าเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ แล้วนำเมล็ดไปหยอดตามช่องรอยตัดของฟองน้ำ จากนั้นก็นำไปแช่น้ำ แล้วนำขึ้นภาชนะที่สามารถนำฟองน้ำลงไปวางได้ ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์จะเกิดต้นอ่อน หลังจากนั้นก็ฉีกฟองน้ำออก นำต้นอ่อนไปลงรางที่เตรียมไว้ โดยในรางนั้นจะมีน้ำซึ่งผสมปุ๋ยธาตุอาหารเรียบร้อยแล้ว น้ำในรางหมุนเวียนด้วยระบบมอเตอร์ และพืชก็จะดูดสารอาหารเหล่านั้นมาเลี้ยงต้นให้เจริญเติบโต พื้นที่ที่ใช้ปลูกมีประมาณ 2 ไร่ ผลผลิตจะขายได้กำไรเป็นหมื่นบาทต่อเดือน ผักที่สามารถปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ได้คือ คะน้า กวางตุ้งฮ่องเต้  กวางตุ้งธรรมดา ผักสลัด(ผักกาดหอม) ผักขม ผักบุ้ง เป็นต้น ระยะเวลาที่ใช้ปลูกและเก็บเกี่ยวประมาณ 2 สัปดาห์ครึ่ง (15 – 20 วัน) ผักของเราทุกชนิดปลอดสารพิษแน่นอน ตลาดของเราคือแถวสายไหม ตลาดวงศกร และอนามัยสายไหม โดยนำผักไปส่งเขา

           ก่อนหน้านั้นเคยปลูกผักใช้ดินมา 5 ปี แต่พอผักโฮโดรโพนิกส์เข้ามาก็เลยพัฒนาต่อยอดจนประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาทำผักแบบนี้ แต่รายได้ก็ไม่ต่างกันสักเท่าไร เจ้านายเขา ทำด้วยใจรัก ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เขาถือว่าได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาจากสาขาการเกษตร และนี่ก็เป็นธุรกิจส่วนตัวด้วย รายได้หลักของเขามาจากการจัดสวน ผักไฮโดรโพนิกส์เป็นงานอดิเรก หรืออาชีพเสริม เขาคิดค้น และนำมาสอนให้เราทำ ลูกจ้างของเขามีทั้งหมด 6 คน แต่ทำผักไฮโดรโพนิกส์ เพียง 2 คน อย่างที่บอกไปแล้วว่ารักที่จะทำ ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ที่มางานนี้เพราะต้องการขายราง ซึ่งมีสองราคา คือ 4,000 (รางแขวน ผูกด้วยเชือกป่าน) และ 5,000 บาท (รางตั้งกับพื้น โครงสร้างเป็นเหล็ก) ส่วนผักที่นำมาจำหน่ายในวันนี้ทุกชนิดราคา 10 บาทเท่านั้นนะคะ ขายถูก เพราะเราปลูกเองค่ะ… ”

          เห็นไหมคะว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนๆ ก็สามารถปลูกผักสวนครัวได้  เพราะปัจจุบันการปลูกผักไม่จำเป็นต้องใช้ดินแล้ว แถมผักที่ได้ยังสะอาด และปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่ แพะสร้างรายได้ เขตทุ่งครุ ,ไร่หญ้า เศรษฐกิจสีเขียว เขตมีนบุรี ,ปลาสวยงาม เขตประเวศ, นาข้าวในเมืองหลวง เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง ,ฟาร์มเห็ดยายฉิม เกษตรยั่งยืน เขตบางเขน, กล้วยไม้นานาพันธุ์ เขตตลิ่งชัน หนองแขม ทวีวัฒนา, สวนผักลอยฟ้า พื้นที่เล็กๆ ก็เขียวได้ เขตหลักสี่, สีสันไก่แจ้ เขตวังทองหลาง, ผักปลอดสารพิษ บางแค และ ตำนานส้มบางมด เขตจอมทอง ที่สูญหายไปกว่า 10 ปี บัดนี้ได้กลับมาแล้ว และยังคงรสชาติที่หวานแหลม ผสมกับอมเปรี้ยวนิดๆเหมือนเดิม

                   สำหรับใครที่ปีนี้พลาดงานดีดี อย่างงานมหกรรมสินค้าด้านการเกษตรของกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ต้องเสียใจนะคะ เพราะกรุงเทพฯ เขาต้องการจัดงานดีๆ แบบนี้ทุกปีเลยค่ะ อดใจรอไว้พบกันปีหน้านะคะ

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.