Select Page

บัตรประชาชนใบแรกของหนู

บัตรประชาชนใบแรกของหนู

กลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับข่าวการทำบัตรประชาชนของเด็กอายุ 7 ปีบริบูรณ์ บนความสงสัยของบรรดาผู้ปกครองว่าทำไมเด็กๆ ต้องมีบัตรประชาชน ทำไปแล้วได้ประโยชน์อะไร บางคนถึงขนาดมองลึกลงไปว่า มีใครมีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้ด้วยหรือไม่

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี

ภาพ : พงษ์พันธ์ พวงพิลา

   11 กรกฎาคม 2554 เป็นวันที่เปิดให้ทำบัตรประชาชนเด็กวันแรก และเด็กที่อยู่ในวัยนี้ทั่วประเทศก็มีประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลยทีเดียว ประโยชน์ของการทำบัตรประชาชนเด็กคือ การยืนยันตัวบุคคล เพราะในขั้นตอนการทำบัตร จะมีการบันทึกข้อมูล ทำให้การสวมรอยตัวบุคคล โดยคนต่างด้าวทำได้ยากขึ้น และที่สำคัญ ถ้าสังเกตในประเทศที่ก้าวหน้าแล้ว เขาจะเริ่มทำบัตรประชาชนตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งถ้าทำตอนอายุ 7 ขวบ ก็เป็นช่วงอายุที่เหมาะสม ในการรักษาสิทธิพลเมือง

                กรุงเทพมหานคร เล็งเห็นถึงการบริการที่ต้องการเข้าถึงประชาชน โดยลดข้อจำกัดด้านเวลาในการเข้ารับบริการ จึงมีแนวคิดทำโครงการ Bangkok Mobile Service หรือรถบริการทะเบียนเคลื่อนที่ ซึ่งให้บริการตามจุดชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการมาตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จนปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว
 
 

 

               คุณฤกษ์ดี วิศาลอรรถกิจ เจ้าพนักงานปกครอง 7 ว. เล่าว่า “…รถบริการทะเบียนเคลื่อนที่ จะให้บริการตั้งแต่ 09.30-17.30 น.โดย กทม.มีแนวคิดมาจากต้องการบริการให้เป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพราะจากเดิมประชาชนต้องเดินเข้าไปทำบัตรประชาชน(walk in) ที่สำนักงานเขต หรืออำเภอ เราก็เลยปรับแนวคิดใหม่ว่า อยากตั้งจุดบริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยนำรถไปตั้งจุดบริการ ณ ที่ใดที่หนึ่ง อาจจะเป็นที่ในชุมชน ห้างสรรพสินค้า บริษัท โรงเรียน องค์กรที่มีคนจำนวนมาก และที่สาธารณะ แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ ก.พ.51 แต่ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก อาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง หรือมีการประชาสัมพันธ์น้อย ตอนนี้ กทม. มีรถแบบนี้เพียงคันเดียว เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณและจำนวนเจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่ประจำรถหากทำงานแบบเต็มอัตราจะมี 7 คน แต่วันนี้มี 5 คน คือ ข้าราชการประจำ 2 คน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติให้ทำบัตรประชาชน และน้องๆที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการอีก 3 คน การจัดเวรจะใช้วิธีสับเปลี่ยนแบบวันต่อวัน การให้บริการทำบัตรสมาร์ทการ์ดบนรถบริการฯนี้ จะมีกรณีทำบัตรครั้งแรก (ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ) ,กรณีบัตรชำรุด ,กรณีเปลี่ยนที่อยู่ ,กรณีเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล ,กรณีบัตรหมดอายุ แต่จะยกเว้นกรณีบัตรหายที่ต้องมีการสอบสวน เพราะที่นี่เน้นการให้บริการที่รวดเร็ว แผนการทำงานคือ 1เดือนจะไปตั้งจุดบริการ 4 จุด โดยคำนึงถึงสัญญาณลิงค์ระบบของบริษัท ทีโอที เขตที่รถจะไปให้บริการ ต้องเป็นเขตที่มีผู้เข้าใช้บริการหนาแน่น เช่น เขตบางกะปิ เขตบางเขน เขตบางนา เขตลาดกระบัง เป็นต้น ซึ่งสถิติอยู่ที่ 150-200 คนต่อวัน ส่วนสถิติของรถบริการฯนี้มีผู้ใช้บริการมากที่สุด 200 กว่าคน (230-250 คน) และน้อยที่สุด 1 คนก็เคยมี เนื่องจากระบบมีปัญหา และผู้ใช้บริการไม่อยากรอ การทำงานของรถบริการฯนี้ไม่มีวันหยุด เว้นเสียแต่จะเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดที่ได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษ คำถามที่มาจากการทำบัตรประชาชนเด็ก ที่มักได้ยินบ่อยจากพ่อแม่เด็ก คือ ทำไมเด็กๆอายุ 7 ขวบต้องมีบัตรประชาชนแล้วหรือ? ก็เลยต้องตอบเขาไปว่าบัตรประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะตอนนี้ระบบข้อมูลเป็น Electronic Citizen แล้ว หมายความว่า ข้อมูลในบัตรประชาชน รวมถึงเลข 13 หลัก (PID)  จะเป็นข้อมูลยืนยันตัวบุคคลซึ่งจะลิงค์กับโรงพยาบาล เวลาเกิดอุบัติเหตุกับเด็กๆ ก็จะสามารถรู้ได้ว่าเด็กคนนี้เป็นใคร นอกจากนี้เสียงตอบรับจากเด็กๆก็ดีด้วย เพราะเด็กๆชอบ เหมือนได้ของใหม่ไปอวดเพื่อนๆ เอกสารที่ต้องใช้ มีเพียงสูจิบัตรและบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง และตอนนี้มีเด็กใน กทม. มาทำบัตรแล้วพอสมควร หากต้องการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก็ติดต่อได้ที่ 02-611-0721 E-Mail  Address : ard@bangkok.go.th และ www.bangkok.ard หรือ ค้นหาในกูเกิล ด้วยคำว่า สำนักงานปกครองและทะเบียน กรุงเทพมหานคร ก็ได้…”          

         เราลองมาฟังความรู้สึกของเด็กๆที่มาใช้บริการรถบริการทะเบียนเคลื่อนที่ในวันนี้กันนะคะ ว่าเด็กๆรู้สึกอย่างไรกับบัตรประชาชนใบแรกที่เขาได้รับ

         ด.ญ.ชญานิษฐ์ พิมลวิชยากิจ หรือ น้องโยเกิร์ต  อายุ 8 ปีครึ่ง เล่าให้ฟังว่า “…รู้สึกตื่นเต้นกับการทำบัตรใบแรกนี้มาก ทราบเรื่องทำบัตรนี้จากการดูข่าว ว่าเด็ก 7  ขวบ ต้องมีบัตรประชาชน แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องมี ก็ถามพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ก็บอกว่าจะได้เป็นการยืนยันข้อมูล ขอเชิญชวนเพื่อนๆที่ยังไม่ได้ทำ ไปทำบัตรกันนะคะ จะได้มีบัตรประชาชนเป็นของตัวเอง…”

                ด.ช.จักรินทร์ เอมประพันธ์ หรือน้อง อาละฟัด อายุ 11ปี บอกว่า “…รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ แม่บอกว่าจะพามาทำบัตรประชาชน เพราะเคยได้ยินข่าวมาบ้างแล้ว ว่าเด็กต้องมีบัตรประชาชน ซึ่งจะทำได้เด็กต้องมีอายุ 7 ปี ขึ้นไป…”
 
 

 

              ไม่ว่าบัตรประชาชนใบนี้จะเกิดจากมุมมองที่ดีหรือไม่ดีของใครก็ตาม แต่มันคือการยืนยันสิทธิในการเป็นพลเมืองไทยของเด็กไทยทุกคน ซึ่งจำเป็นต้องรักษาไว้ บัตรใบนี้อาจเป็นก้าวแรกที่สอนให้หนูๆ อายุ 7 ขวบมีความรับผิดชอบในการดูแลทรัพย์สินของตนเองมากยิ่งขึ้น และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องอธิบายให้ลูกฟังถึงความสำคัญของบัตรใบนี้ด้วย

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.