Select Page

China-ASEAN Youth Camp 2010 แลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนในกลุ่มอาเซียน

China-ASEAN Youth Camp 2010 แลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนในกลุ่มอาเซียน

เปิดบันทึกเยาวชนไทย กับประสบการณ์เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน สัมผัสอารยธรรมยิ่งใหญ่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาแห่งแดนมังกร สานสัมพันธ์ในกลุ่มสมาชิกอาเซียน

   

 เรื่อง อรรถนนท์  จันทร์ทวีศักดิ์

     ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน(Asean)  อันประกอบด้วยไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า  เราจึงได้เห็นโครงการดีๆ ที่เป็นความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศสมาชิกหลายต่อหลายโครงการ และที่สำคัญคือเป็นประโยชน์แก่เยาวชนในประเทศเหล่านี้ด้วย

           โครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยแนวคิดของ นายกรัฐมนตรีของสาธารณประชาชนจีน นายเหวิน เจียเป่า (Wen jiabao) เมื่อครั้งการประชุมผู้นำประเทศจีน-อาเซียนครั้งที่ 10 (The 10th China-ASEAN Leader Meeting) ที่จะเชิญเยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนประมาณ1,000 คน ภายใน 5 ปี เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้วัฒนธรรม ภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ โครงการแคมป์เยาวชน จีน-อาเซียน (China-Asean Youth Camp) ,โครงการค่ายฤดูร้อน (Summer Camp) และโครงการเวทีอภิปรายของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Youth Entrepreneurs Forum) เป็นต้น  จึงเป็นที่มาของโครงการ “China-ASEAN Youth Camp 2010”  ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมในครั้งนี้

                                                                                             โครงการ “China-ASEAN Youth Camp 2010” โดยองค์กร All-China Youth Federation (ACYF) เป็นผู้ดำเนินการ ได้เชิญเยาวชนจากกลุ่มประเทศอาเซียน จำนวน 100 คนจาก 10 ประเทศ สมาชิกเดินทางไปทัศนศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ณ เมืองหนานหนิง (Nanning) เมืองกุ่ยหลิง (Guilin) และเมืองกุ่ยหยาง (Guiyang)     สาธารณประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 21 – 28 เมษายน 2553 ซึ่งโครงการครั้งนี้ได้ดำเนินการภายใต้หัวข้อ “เขตการค้าเสรี จีน-อาเซียนในสายตาของเยาวชน : China-Asean Free Trade Area in the eyes of youth”

          ประเทศจีนทำหน้าที่เป็น จุดศูนย์กลาง เพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา และการเปิดความรู้ เพื่อหวังสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างจีนกับอาเซียน โดยมีเยาวชนเป็นตัวขับเคลื่อนพลศาสตร์ของ เขตการค้าเสรี(FTA) ที่หวังว่าจะสร้างความความเจริญทางเศรษฐกิจในเอกภาพที่หลากหลาย และการตื่นตัวของเศรษฐกิจโลกเพื่อมีเงื่อนไข และการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ กับสหภาพยุโรป (European Union : EU) และนาฟตา (North America Free Trade Area : NAFTA) ในอนาคต 

         การมุ่งเน้นให้เยาวชนเป็นผู้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ เนื่องจากเยาวชนสามารถที่จะเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาด และยังมีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่จะเรียนรู้ เปิดรับทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา กลุ่มอาชีพที่แตกต่างกัน ในการเรียนรู้การเข้าใจร่วมกันได้ง่ายมากกว่าผู้ใหญ่  เพื่อพัฒนาเป็นบุคลากรของชาติในการพัฒนาประเทศต่อไป

          ในปี 2553 นี้ ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 10 คน ซึ่งผมเองก็เป็นผู้โชคดีหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน  การคัดเลือกจะมาจาก ประกอบด้วย ตัวแทนเจ้าหน้าที่อาวุโส ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะเยาวชน,คณะสื่อสารมวลชน  4 คน, ข้าราชการรุ่นเยาว์ 2 คน,ผู้ประกอบการ จำนวน 1 คน,เยาวชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานศิลปะ 1 คน ,เยาวชนจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลการเรียนดี 1 คน

           พวกเราทั้ง 10 คนที่เป็นตัวแทนประเทศไทยนอกจากจะไปเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้ เจ้าภาพอย่างประเทศจีนยังจัดกิจกรรมที่น่าสนใจและศึกษาอีกหลายอย่าง เช่น

          กิจกรรมจัดที่ เมืองหนานหนิง (Nanning) นอกจากจะเป็นพิธีเปิดโครงการฯ ”Opening Ceremony of China – ASEAN Youth Camp 2010 : Share the New Mission of Regional Development” ยังมีการอภิปรายสรุปในหัวข้อ “The China – ASEAN Cooperation and the Free Trade Area :  “เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้เกี่ยวกับการค้าเสรี จุดสำคัญในเรื่องนี้หลายคนคงแปลกใจที่ ทำไม “จีน” ถึงให้เยาวชนมาเรียนรู้ในเรื่องนี้ แต่เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนก็รู้ว่าเหตุผลสำคัญที่เอาเยาวชนมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะเยาวชนเป็นกลุ่มคนที่สามารถเรียนรู้ข้อผิดพลาด และรับรู้เปิดรับ สิ่งใหม่ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

         นอกจากนี้ยังพาทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กว่างซี (Guangxi Museum of Nationalities) ในสถานที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ได้อีกแหล่งหนึ่ง ที่เก็บรวบร่วมข้อมูลทางด้านประเพณี วัฒนธรรม และอารยธรรม ของชนเผ่าพื้นบ้าน ได้อย่างครบถ้วน และในช่วงค่ำยังมีพาชมภูมิทัศน์ของเมืองงหนานหนิงบนตึกสูงที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์จากความสูง 276 เมตรได้

           และในวันต่อมาที่เมืองกุ้ยหลิน (Guilin) ถ้าได้ยินชื่อเมืองนี้นักท่องเที่ยวบางท่านคงจะนึกถึงทิวเขาอันขึ้นชื่อของแหล่งท่องเที่ยวนี้ แต่ในครั้งนี้ผมได้ชมทัศนียภาพของพื้นที่ถ้ำ Reed Flute ในถ้ำแห่งนี้ได้มีการดีไซค์ และวางแปลนการจัดองค์ประกอบด้าน ฉาก แสง สี เสียง อย่างลงตัว จากจินตนาการของมนุษย์ที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น พร้อมทั้งศึกษาทางด้านนิคมอุตสาหกรรมกุ้ยหลิน (Guilin municipal enterprise or industrial zone) โดนพาไปชมโรงงานอุตสาหกรรมที่โดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี และความล้ำสมัยที่จีนจะพัฒนาสู้การค้าเสรีในอนาคต

          การเดินทางยังไม่จบเท่านั้น พวกผมทั้งหมดในโครงการฯ ยังเดินทางไปยังเมือง กุ้ยหยาง (Guiyang) ในเมืองนี้ผมได้ไปทัศนศึกษาหมู่บ้านเหมียว Kaili Xijiang Miao Village ชนเผ่าพื้นบ้านของประเทศจีนเพื่อศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะการแสดงของชนเผ่าพื้นบ้านเหมียว และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ The Sun Drum Miao&Dong Costumes Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวม เก็บรักษา ศึกษาวิจัย เทคโนโลยีขั้นตอนการผลิตเครื่องแต่งกายหลายหลากประเภทของชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศจีน โดยเน้นชนเผ่าเหมียวและดองซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีขนาดใหญ่ของจีน พร้อมกับมีการสาธิตทักษะการผลิตเครื่องแต่งกายและการทำงานศิลปะ

         ส่วนทางด้านการแพทย์ที่ขึ้นชื่อของจีนก็คงจะรู้กันในเรื่องของการฝังเข็ม ในโครงการนี้เลือกที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาจาก “วิทยาลัยแพทย์แผนจีนกุ้ยหยาง” (Guiyang Traditional Medicine College) ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีการเรียนการสอนในหลายแขนงทางการแพทย์ อาทิ การฝั่งเข็ม การนวดจับจุด การใช้ความร้อนบรรเทาอาการป่วย และการจับชีพจรอย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์จีน และการวิจัยทางตัวอย่างที่น่าสนใจอีกมากมาย

         ในวันสุดท้ายประเทศต่างๆได้มีการสัมมนาและอภิปรายโครงการ รวมถึงการบูรณาการให้เกิดเป็นรูปธรรมกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้ โดยการแลกเปลี่ยนทางความคิดของแต่ละประเทศที่แสดงความคิด และพลังเยาวชนที่จะร่วมสร้างอาเซียนสู่โลกตะวันตกในอนาคต

         นี่เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อยที่ผมนำมาเรียกน้ำย่อย สำหรับคนที่สนใจในเรื่องของ การค้าเสรี แต่อีกแง่มุมหนึ่งคือเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว ผมเชื่อว่า นักท่องเที่ยวคงอยากติดตามต่อไปว่ามีอะไรที่ดีในสิ่งที่ผมได้เจอมา รับลองได้เลยครับว่า เดี๋ยวจะเก็บรายละเอียดแต่ละที่มาพรรณนาให้ท่านผู้อ่านเข้าถึงและสถานที่เหมือนตัวท่านได้เดินทางไปพร้อมกับผมครับ @

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.