Select Page

จากเส้นใยสู่ภูมิปัญญา จากภูมิปัญญาสู่อาภรณ์

จากเส้นใยสู่ภูมิปัญญา จากภูมิปัญญาสู่อาภรณ์

” …ทุกแห่งที่ตามเสด็จ จะเห็นว่าชาวอีสานนี้นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ ข้าพเจ้าก็บอกว่าขอให้ฉันสักตัวจะได้ไหม เขาบอกว่าเอาไปทำไมของบ้านนอกคอกนา คนรวยๆเขาไม่ใส่กันหรอก ก็บอกกับเขาว่าสวยจริงๆไม่ใช่แกล้งยกยอ เพราะว่าเป็นของสวยงามมาก เขาก็เลยยินดี เขาบอกว่าถ้าจะใส่จริงเขาจึงจะทำให้ บอกว่าทำมาเถอะแล้วจะใส่ เขาก็ช่วยกันทำมา …” ( พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 สิงหาคม 2523)  จากพระราชดำรัสนี้ทำให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังช่วยสร้างอาชีพเสริม และสร้างรายได้เพิ่มแก่ราษฎร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อวงการผ้าไทย

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี

ภาพ : อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์

            สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สานต่องานพระราชดำรินี้ โดยการจัดโครงการ “จากเส้นใยสู่ภูมิปัญญา จากภูมิปัญญาสู่อาภรณ์” ปี 2556 (Contemporary Fashion Contest 2013) สุดยอดโครงการประกวดการออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งช่วยต่อยอดทางความคิดและนำไปสู่การพัฒนาผ้าไทย ณ หอประชุมเอสซี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท

 

          วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อเฟ้นหานักออกแบบหน้าใหม่ ที่นำผ้าของไทยมาประยุกต์ให้ร่วมสมัยและช่วยต่อยอดให้แฟชั่นผ้าไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยในรอบแรกของโครงการนี้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมจำนวนมาก  แต่มีผู้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่นคัดเหลือ 16 ผลงาน เข้าสู่รอบรองชนะเลิศ (รอบสัมภาษณ์) จากนั้นคณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานทั้ง 16 ผลงาน ให้เหลือเพียง 12 ผลงานเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556

     คณะกรรมการในรอบชิงชนะเลิศ ประกอบด้วย

          –  คุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี และคุณวัชรินทร์ ผ่องใส จากนิตยสารVogue

          –  คุณภาณุ อิงคะวัต ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ แบรนด์ Greyhound

          –  คุณวรรณศิริ คงมั่น เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Boyy

          –   คุณพัชรทรี ภักดีบุตร เจ้าของแบรนด์ Erb

          –   คุณจิริวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย บรรณาธิการแฟชั่น นิตยสาร Lips

          –   คุณสธน ตันตราภรณ์ แฟชั่นไดเร็คเตอร์ นิตยสาร L’Officiel

          –   คุณชำนัญ ภักดีสุข ครีเอทีฟและแฟชั่นไดเร็คเตอร์ นิตยสาร Harper’s Bazaar และครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ แบรนด์ฟลายนาว

          –   คุณภูมิศักดิ์ เฑียรฆประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Painkiller

           –  และคุณสุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์  หัวหน้าผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ผ้าของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ลงมติผลการตัดสินงานออกแบบสุดสร้างสรรค์ออกมาเป็น 4 รางวัลดังต่อไปนี้

 

                รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 250,000 บาท

                นายณัฐเดช เทวีทิวารักษ์ แนวคิด 9.81 : 9.81คือค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลกซึ่งมีหน่วยเป็นเมตรต่อวินาทีกำลังสอง ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงแนวคิดของงานออกแบบชิ้นนี้ คือ “การกระโดดยาง” ซึ่งก็คือการละเล่นของเด็กไทยประเภทหนึ่ง อันเป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน การเคลื่อนไหวในการละเล่นชนิดนี้ คือการกระโดดข้ามเส้นยางตามระดับความสูงในการกระโดดขึ้นและลง เปรียบเสมือนการที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วงของโลก โดยเฉพาะเมื่อร่างกายของผู้เล่นทิ้งตัวลงมาจากการกระโดดขึ้น นั่นคือการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความเร่งโน้มถ่วงโดยตรง โดยเส้นยางที่เคลื่อนที่ขึ้นลงอย่างต่อเนื่องระหว่างที่ผู้เล่นกระโดด แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองของเส้นยางต่อแรงโน้มถ่วงเช่นกัน

              รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 125,000 บาท

                นายรักพงษ์ รัยมธุรพงษ์ แนวคิด Site Sight : “Site Sight” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลักษณะของการใช้ชีวิตของคนในเมืองที่ซ่อนความวุ่นวายและความทุกข์ของตนไว้ภายใต้ความสวยงามเรียบร้อย โดยมีแนวคิดว่า “คนเราสร้างฉากที่สวยงามเพื่อเป็นการหลอกลวงว่าตนปกติ” จึงได้นำรูปแบบของอาคารที่กำลังก่อสร้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงการดิ้นรนเพื่อไปให้ถึงจุดที่สมบูรณ์ที่สุด มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำลักษณะของการปกปิดโครงสร้างและวัสดุแบบอุตสาหกรรมมาตีความในรูปแบบของเครื่องแต่งกาย เช่น การเสริมโครงสร้างและการแทรกวัสดุสังเคราะห์ในผ้าไหม

                 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เงินรางวัล 70,000 บาท และรางวัล Craftmanship เงินรางวัล 50,000 บาท


            นายภานุพงษ์ อินทะมน แนวคิด Paradise Lost : จากตำนานของชาวสุเมเรียน การกำเนิด “อีฟและอดัม”มนุษย์คู่แรกซึ่งได้กัดกินผลไม้ต้องห้ามในสวนที่พระเจ้าสร้างขึ้น ดวงตาของทั้งคู่ได้เปิดกว้างเห็นร่างของกันและกันในสภาพที่เปลือยเปล่าทั้งคู่เกิดความละอาย จึงได้นำดอกไม้และใบไม้มาปกคลุมร่างกาย รวมถึงซากของสัตว์ที่ตายแล้ว จึงใช้เรื่องราวการกำเนิดของมนุษย์คู่แรกนี้มาสู่การพัฒนาภูมิปัญญาไทย โดยนำเอาการทอผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดมหาสารคาม มาทำลายทอขึ้นใหม่ โดยใช้ลายเสือดาวเพื่อให้สอดคล้องกับแรงบันดาลใจ รวมถึงการทำดอกไม้ประดิษฐ์ที่ผสมระหว่างวัสดุอันหลากหลายบนผืนผ้าไทย

            เห็นผลงานของน้องๆนักออกแบบรุ่นใหม่แล้ว บอกได้คำเดียวว่า “ประทับใจ” และมองอนาคตวงการดีไซเนอร์ไทยว่าต้องก้าวไกลสู่สากลอย่างแน่นอน เพราะนักออกแบบรุ่นใหม่มีพัฒนาการในการสร้างสรรค์ผลงานให้โดดเด่นแสดงความเป็นสากลร่วมกับความเป็นไทยได้อย่างลงตัว

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.