Select Page

“พลังการชื่นชม” พลังบวก พลังบุญ

“พลังการชื่นชม” พลังบวก พลังบุญ

“การชื่นชมยินดี” เป็นพลังทางบวกที่สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ ให้กลายเป็นสถานที่ที่สวยงามน่าอยู่ สามารถทำให้จิตใจที่ห่อเหี่ยวไร้ความหวัง กลายเป็นจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความชุ่มชื่น ดังน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ให้เติบโตอย่างสดชื่นสวยงาม ความชื่นชมยินดีในทางพระพุทธศาสนาก็คือ “การแสดงมุทิตาจิตแด่เพื่อนร่วมโลก” เป็นพรหมวิหารธรรมที่กระทำได้ยากข้อหนึ่ง เพราะต้องฝ่าฟันความริษยาที่ฝังตัวอยู่ในจิตส่วนลึกของมนุษย์ที่เปรียบเป็นเชื้อไฟ และปล่อยให้มันปะทุเป็นเปลวเพลิงแผดเผาจิตใจทั้งของตัวเราและคนอื่นได้ในที่สุด (ท่าน ว.วชิรเมธี)

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี

ขอขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ค คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย

 

                     เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ได้จัดเสวนาเรื่อง “พลังการชื่นชม” ณ ห้องประชุมพุทธคยา อาคารอัมรินทร์พลาซ่า ชั้น 22 โดยมีอาจารย์วุฒิพงศ์  ถายะพิงค์ เจ้าของหนังสือเรื่องพลังการชื่นชม เป็นวิทยากร

 

              อาจารย์วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ เป็นนักจิตเวช และเจ้าของศาสตร์พลังการชื่นชม จบการศึกษาสาขาพยาบาลผดุงครรภ์และพยาบาลจิตเวช ,ศึกษาศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกสุขศึกษา, นิเทศศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกการประชาสัมพันธ์ ,บริหารธุรกิจ วิชาเอกการตลาด ,ปริญญาโทสาขานิเทศศาสตร์ และสาขาพุทธศาสนาและปรัชญา อาจารย์วุฒิพงศ์จึงเป็นทั้งพยาบาลสุขภาพจิต นักสุขศึกษา นักประชาสัมพันธ์ นักการสื่อสารและนักศาสนาปรัชญาผสมผสานกันอยู่ในตนเอง มีผลงานเขียนมากกว่า 300 เรื่อง

 

             พลังการชื่นชม เป็นศาสตร์ที่อาจารย์วุฒิพงศ์ศึกษามากว่า 7 ปี โดยสร้างหลักการชื่นชมที่ดีและมีประสิทธิภาพ 7 ประการ  ซึ่งมีเจตนาที่จะเชิญชวนทุกท่านร่วมกันกระตุ้นเร้าสังคมทั้งในระดับครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน  และสังคมโดยรวมให้ร่วมกันชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน เพื่อให้เป็นสังคมแห่งความปลาบปลื้มและปีติยินดี พลังแห่งความชื่นชมส่งผลต่อกันทั้งการสื่อสาร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสังคม ทั้งยังเป็นเครื่องมือเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตลอดจนน้อมนำสู่ความภาคภูมิใจในชีวิต ทั้งผู้กล่าวชื่นชมและผู้ได้รับการชื่นชม ทั้งยังมีพลังในระดับอภิปรัชญาที่อาจมองด้วยตาไม่เห็น  อีกทั้งยังสลายอารมณ์อาฆาตมาดร้ายให้กลายเป็นกัลยาณมิตรต่อกันได้

 

                การชื่นชมที่ดีและมีประสิทธิภาพมีหลักการ 7 ประการ ดังนี้

1.มองคนโดยภาพรวม การมองคนโดยรวม เป็นวิธีการมองทุกๆด้าน ทุกๆมิติ ทั้งด้านดี ด้านเสีย ข้อจำกัด ปมเด่น ปมด้อย พรสวรรค์ พรแสวง การงาน ครอบครัว สังคม ทุกสิ่งทุกอย่างในความเป็นเขา

2.รวบรวมความดี เมื่อมองคนโดยองค์รวมนั้น ขณะมองโดยองค์รวมให้พยายามค้นหาคุณงามความดีของเขาให้พบมากๆ เพราะทันทีที่พบคุณงามความดีของเขาเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อความรู้สึกของเราให้ชื่นชม และมีทัศนคติที่ดีต่อเขาเพิ่มขึ้น

3.นำความดีมาชื่นชมทีละประเด็น เมื่อรวบรวมความดีไว้มากแล้ว หากจะกล่าวชื่นชม ให้นำมาชื่นชมทีละประเด็นๆ และควรมีคำว่า “ผม/ดิฉันรู้สึกชื่นชมคุณที่…” การชมทีละประเด็นเป็นเสมือนการฉีดวัคซีนทีละเข็ม จะช่วยให้เขารู้สึกดีและมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

4.บอกพยานหลักฐานของประเด็นที่ชื่นชม การบอกพยานหลักฐานของประเด็นที่เราชื่นชมนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องกำบังจากตัวเรา ไม่ให้เขาเข้าใจว้าราไม่จริงใจ เพราะการบอกหลักฐานที่ประจักษ์แก่ตัวเขาเองในทุกประเด็นนั้น จะช่วยให้เขาเข้าใจและยอมรับในประเด็นที่เราชื่นชมว่าเป็นจริง

 5.อาจเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือสิ่งอื่น แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ต้องให้ผู้ได้รับการชื่นชมรู้สึกว่า ตัวเขาดีกว่าหรือเหนือกว่าสิ่งที่เรานำไปเปรียบเทียบ ประเด็นเปรียบเทียบนี้ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่หากทำได้ จำทำให้ผู้ที่เรากล่าวชมภาคภูมิใจและปีติยินดียิ่งๆขึ้น อนึ่งไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับผู้ที่กล่าวชื่นชมเอง เพราะอาจเป็นการยกตนข่มท่าน หรือทำให้ผู้กล่าวชื่นชมด้อยกว่าผู้ถูกชม พลังของการชื่นชมอาจลดลงได้

6.ชื่นชมเรื่องใดให้สรุปย้ำเรื่องนั้น การสรุปย้ำประเด็นที่เราชื่นชม ให้ผู้ที่เราชื่นชมได้รับรู้ครั้งนั้น เป็นการสรุปสาระสำคัญของประเด็นที่ชื่นชม เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการชื่นชมเกิดความตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและจูงใจที่ลึกซึ้งต่อตัวเขาเอง

7.ชื่นชมจริงๆ ห้ามแฝงเร้นด้วยการตำหนิหรือประเมิน ขณะที่ชื่นชมขอให้เพ่งความสนใจและใส่ใจในประเด็นที่ชื่นชมเท่านั้น ห้ามตำหนิหรือประเมิน แม้ในความจริงอาจมองเห็นแง่มุมของความไม่สมบูรณ์บ้างก็ตาม ไม่ควรหยิบขึ้นมาสื่อสารต่อเนื่อง เพราะหากมีมิติของการตำหนิติเตียนอยู่ในการชื่นชมนั้น จะทำให้พลังของการชื่นชมลดลง

 

                ดิฉันอยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองนำ 7 วิธีสร้างพลังการชื่นชมไปใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา  อาฆาตมาดร้าย คนไร้ความสุข ขาดความอบอุ่น ขาดความศรัทธาในตนเอง ขาดความเชื่อมั่นว่าชีวิตตนเองมีคุณค่า เพราะคำพูดร้ายๆ คำต่อว่า ด่าทอ เป็นวิธีที่ถูกใช้แก้ปัญหามานมนาน แต่ก็ไม่ได้ผลเสียที มีแต่ปัญหาจะรุกลามยิ่งขึ้น วันนี้ดิฉันจึงขอเชิญชวนทุกคนมาเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาด้วยความคิดใหม่ที่ว่า “พลังการชื่นชม คำพูดง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนทุกเรื่องให้กลายเป็นดี”

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.