Select Page

กระทง 4 ภาคสายใยแห่งสายน้ำ

กระทง 4 ภาคสายใยแห่งสายน้ำ

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง………………

ประเพณีลอยกระทงเป็นหนึ่งในเทศกาลแห่งความสนุก ความรื่นรมย์ และเป็นประเพณีแห่งความเชื่อของชาวไทยที่ว่าเป็นการลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคา สักการะรอยพระพุทธบาท บ้างก็ว่าเป็นการลอยทุกข์ลอยโศกฯ

   เรื่อง: อนุสรณ์ มีบุญ   \   ภาพ: ชัยเวช ดวงมั่น          นิสิตฝึกงาน

          ประเพณีลอยกระทงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำ เพราะน้ำถือเป็นสิ่ง  สำคัญสำหรับการหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ ทั้งใช้ในการอุปโภคและบริโภคอยู่เป็นประจำทุกวัน แม่น้ำ-ลำคลองนับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็น ทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ วิถีชีวิตของมนุษย์จึงมีความผูกพันกับการใช้น้ำประกอบการดำรงชีวิต ส่วนหนึ่งจึงมีพิธีกรรม หรือการบูชาแม่น้ำ ที่มีการสืบทอด ประเพณีสำคัญนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณเช่น

           ภาคเหนือ นิยมทำโคมลอย เรียกว่า “ลอยโคม” หรือ “ว่าวฮม” หรือ “ว่าวควัน” ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)

               จังหวัตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า “กระทงสาย”โดยจะเริ่มจากการลอย “กระทงนำ” ซึ่งเป็นกระทงขนาดใหญ่ที่ประดิดประดอยอย่างสวยงามยิ่งใหญ่อลังการนำไปก่อนจากนั้นจึงลอย “กระทงสาย” ซึ่งเป็นกะลามะพร้าวให้ต่อเนื่องกันเป็นสายไปตามกระแสน้ำ เมื่อครบพันดวงแล้ว จึงลอย “กระทงตาม” ต่อไปในกระทงตาม มักมีการจุดพลุ หรือ ไฟพะเนียง หรือไฟเย็น หรืออื่นๆ แสดงสัญลักษณ์ว่าลอยกระทงสายเสร็จสิ้นสายนั้นๆ แล้ว ในขณะเดียวกัน บนเวที ก็ต้องมีการแสดงประกอบให้เริ่มต้น และจบลงพร้อมๆ กับการลอยกระทงสายด้วยเพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังลอยกระทงอยู่ และการลอยกระทงสายนั้นแสดงให้เห็นความร่วมมือร่วมใจและช่วยเหลือกันอย่างแท้จริง เพราะคนๆ เดียว ไม่สามารถจะลอยได้อย่างสวยงามแน่นอน เหมือนกับที่เขาว่าไว้ “สามัคคีคือพลัง”

               จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุกๆ ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง

          ภาคอีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น

                จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า “สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป” ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง การประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง11 หัวเมือง

                 จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

                  จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า “ไหลเรือไฟ“โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน

          ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด

                 กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง

                 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

 

            ภาคใต้ ส่วนใหญ่จะนำหยวกกล้วยมาทำเป็นแพ บรรจุเครื่องอาหารแล้วลอยไป จะลอยเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อให้หายเจ็บหายไข้ เป็นการลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์

             ด้วยความแตกต่างในแต่ละท้องถิ่นนี้เอง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้มีการจัดประกวดกระทงไทยสี่ภาค ในโครงการ “วัฒนธรรมกับสายน้ำสู่ประเพณีลอยกระทง” ขึ้น  ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการแข่งขันกว่า20ทีมด้วยกัน วัสดุที่นำมาประดิษฐ์กระทงล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุจากธรรมชาติแทบทั้งหมด แต่ละทีมต่างโชว์ฝีไม้ลายมือความประณีต ลวดลายที่สวยงาม และจินตนาการที่สร้างสรรค์ตามสไตล์ของเยาวชนรุ่นใหม่ งานนี้คณะกรรมการตัดสินถึงกับหนักใจในการให้คะแนนกันเลยทีเดียว สุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับรางวัลชนะการประกวด ประเภทกระทงอนุรักษ์  ได้แก่ทีมที่ 17 เป็นทีมบุคคลทั่วไป และผู้ชนะการประกวด ประเภทกระทงสร้างสรรค์  ได้แก่ ทีมที่ 3 นายกิตติศักดิ์ ฤทธิ์น้อย

             นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังมีการประกวด การละเล่นที่มีความหลากหลาย ถึงแม้ว่าประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยในแต่ละภาคนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ทัศนคติ ความเชื่อที่อยู่ในสายเลือดของความเป็นไทยไม่ได้ผิดเพี้ยนกันไปเลย ทั้งยังมีการปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมา

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.