Select Page

วิถีชีวิตมุสลิม อีกแง่มุมที่มีค่า…..

วิถีชีวิตมุสลิม อีกแง่มุมที่มีค่า…..

เมื่อพูดถึงชุมชนทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้คนส่วนมากก็จะนึกภาพเหตุการณ์ร้ายๆหลายเหตุการณ์ จนอาจมองข้ามคุณค่าและความงามของชุมชนชาวมุสลิม ที่มีรายละเอียดของวิถีชีวิต อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านบ่อหิน จังหวัดสตูล…….

 


เรื่อง/ ภาพ : อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์

           ชุมชนทางภาคใต้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเห็นได้ชัด เช่น สะระบั่นหรือผ้าโพกศีรษะ ที่เป็นเครื่องแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวอาหรับ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งการก่อกำเนิดศาสนาอิสลามที่ชาวมุสลิมนับถือ
          นอกจากนี้ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน พิธีกรรมทางศาสนา และยังมีวิถีปฏิบัติดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ แต่กาลเวลาได้เปลี่ยนไป สังคมก็มีวิวัฒนาการที่เจริญตามยุคตามสมัย แต่จะทำอย่างไรให้คงวัฒนธรรม ประเพณี เหล่านี้สืบต่อไปไม่จางหาย…..
          ผมมีโอกาสเดินทางไปทำงาน ที่จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดภูมิภาคทางตอนใต้ของประเทศไทย ที่นี่มีน้องๆนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยนครศรีธรรมราช ได้เป็นเยาวชนผู้มีจิตอาสาเข้าร่วมโครงการกับแคมป์สนุกคิดกับอินทัช
           น้องๆกว่า 50 ชีวิตได้เข้ามาร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชุมชนมุสลิม เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวมุสลิมให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ การทำงานของน้องๆ ได้มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชนพร้อมการเก็บข้อมูลด้านต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์
           รัตนวลี ภักดีโชติ นักศึกษา ม.ราชภัฎสุราษฎร์ธานี หรือว่า ‘น้องแฝง’ เล่าให้ผมฟังว่า “ ตอนแรกเริ่มมาทำโครงการโดยที่ยังไม่มีความรู้อะไรเลย มาศึกษาจากชุมชนโดยตรง พอมารู้จักก็รู้สึกว่ามันน่าจะอนุรักษ์ วัฒนธรรมชาวมุสลิมก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ไกลตัวเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆวันของแต่ละคน และการดำรงชีวิตในแต่ละวัน”
            น้องแฝง เล่าต่อว่า “ตอนหาข้อมูลจากชุมชน ก็ประทับใจในวิถีของการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่นี่ คือ ปกติทำสวนยาง หลังจากทำสวนแล้วก็มาทำอย่างอื่นอีกซึ่งสิ่งที่มาทำต่อนี้วัตถุดิบก็คือสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ไม่มีการลงทุนอะไรเพิ่ม แต่สามารถให้คุณค่าเพิ่มขึ้นด้วยตัวของมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก และอยากให้คนทั่วไปเอาเป็นแบบอย่างค่ะ”…….
            อย่างเช่น บ้านของ ฮาหยาด นุ้ยน้ำวงค์ หนึ่งในชาวบ้านบ้านบ่อหิน ที่หลังจากการทำสวน ก็จะมีงานอดิเรก โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ คือ “ใบเตยหนาม” ที่ขึ้นตามคูน้ำข้างทางมาทำเครื่องจักสานโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแค่ใช้ภูมิปัญญาที่ตนเองมีกับท้องถิ่นมาผสมผสานเข้าด้วยกัน….
           แน่นอน! เมื่อผมมีโอกาสจึงรีบเข้าพูดคุยกับ นางฮาหยาด นุ้ยน้ำวงค์ ชาวบ้านบ้านบ่อหิน ขณะที่เธอกำลังสาธิตการจักสานให้น้องๆ เธอได้เล่าถึงประวัติเครื่องใช้ เช่น เสื่อที่ทำจากใบเตยหนามว่า“เสื่อในสมัยโบราณ ชาวมุสลิมจะใช้ประกอบพิธีทางศาสนา คือพิธีศพ จะใช้เสื่อในการห่อศพ แต่สมัยนี้ได้ขาดหายไป ส่วนกระบุงใบใหญ่จะใช้เทินหัวเวลาขนของ หรือใส่ข้าวสารเหมือนคนมลายู บางสิ่งบางอย่างขาดหายไปจากชุมชนแล้ว จึงดีใจที่มีการทำพิพิธภัณฑ์ขึ้น บางอย่างที่หายไป เราก็ได้เอามาโชว์ เอามาเผยแพร่ ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป”
         หลังจากได้พูดคุยกับ ฮาหยาด ทำให้ผมเห็นคุณค่าของสิ่งของที่มาจากการจักสานเหล่านี้มากกว่าเป็นเครื่องใช้ไม้สอย หากแต่วัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดความเป็นมา วัฒนธรรม การดำรงชีวิต ของชุมชนออกมาอีกมิติหนึ่งเลยทีเดียว
          นอกจากบ้านของ ฮาหยาดแล้วผมยังมีโอกาสได้ไปเจอกับกลุ่มตัดเย็บ ที่จัดตั้งกันเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าจนเป็นที่รู้จักทั้งในชุมชน และละแวกใกล้เคียง กลุ่มตัดเย็บแห่งนี้จะรับตัดเสื้อผ้าที่หลากหลาย ไม่ว่า ผ้ายืด ผ้าบาเตะ ผ้าบูติค ตามแบบที่ลูกค้าสั่งมา เมื่อมีเศษผ้าเหลือ กลุ่มแม่บ้านเหล่านี้ก็จะใช้เศษวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำมาทำเป็นตุ๊กตา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวมุสลิม
           จ๊ะ แคยิหวา ประธานกลุ่มตัดเย็บบ้านบ่อหิน บอกว่า “การตัดเย็บของกลุ่มแม่บ้านจะเป็นงานประจำเมื่อเศษผ้าเหลือก็เอามาทำเป็นตุ๊กตาผ้าที่สวยงามของท้องถิ่น บ่งบอกถึงท้องถิ่นและวัฒนธรรมการแต่งตัวของชาวมุสลิมที่ใส่ในประเพณีต่างๆ และสิ่งที่เด็กๆมาทำตรงนี้ก็ทำให้กลุ่มตัดเย็บได้มีรูปแบบดีไซน์ที่ใหม่ทันสมัยมาเพิ่มเติมให้กลุ่ม แม้กระทั่ง เข็มกลัดลูกปัด ก็ได้มาปรับ และคิดหาวิธีการใหม่ให้สวยงามมากขึ้น”
           จ๊ะ ทิ้งท้ายก่อนที่จะตั้งหน้าตั้งตาสอนบรรดานักศึกษาเย็บชุดตุ๊กตา ว่า “การที่มาช่วยตรงนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ทางด้านสังคมวัฒนธรรม แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ยังมีผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมอยู่…”
            การเรียนรู้ ด้วยการเดินหาข้อมูลจากชุมชนบ้านบ่อหิน แห่งนี้ ได้ถูกรวบรวมมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชุมชนที่เยาวชนเข้ามาร่วมกันสร้างทั้งองค์ความรู้ สร้างทั้งองค์ประกอบของอาคารสถานที่จัดแสดงให้มั่นคงยั่งยืนบนพื้นที่ โรงเรียนบ้านบ่อหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล จนได้ออกมาอย่างที่เห็น
           โดยในอาคารจัดแสดงแห่งนี้ได้รวบรวมจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ตลอดจนพิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น การโกนผมไฟ, การสุนัต (การขลิบอวัยวะเพศชาย) ประเพณีวัฒนธรรม เช่น งานแต่งงาน, การละหมาด, การถือศีลอด ตลอดจนอาชีพในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนสืบทอดต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน………
            ด้วยพลังที่สร้างสรรค์ พลังจิตอาสา และพลังแห่งคุณค่าของเยาวชนทั้ง 50 กว่าชีวิตที่ได้ สร้าง ‘พิพิธภัณฑ์วิถีชุมชนมุสลิม’ นี้ขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยสื่อสารให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตที่แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา แต่ทุกศาสนาล้วนสอนให้คนทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข……
            สำหรับผู้ที่สนใจพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวมุสลิมแห่งนี้ ถ้าได้ผ่านมาที่จังหวัดสตูล หรือท่านที่มาท่องเที่ยวถ้ำภูผาเพชร ซึ่งเป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังติด 1ใน 5 ของเอเชียที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม ก็ลองแวะมาชมพิพิธภัณฑ์นี้ได้ เพราะสถานที่อยู่ไม่ไกลกันมากครับ ผมรับรองว่าห้องสี่เหลี่ยมห้องนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตได้ และสร้างความรู้ให้กับแขกผู้มาเยือน………….

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.