Select Page

ทำดีมีอาชีพ : เรียนรู้เพื่อเลือกทางเดินชีวิต ของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทำดีมีอาชีพ : เรียนรู้เพื่อเลือกทางเดินชีวิต ของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นมายาวนาน โดยเฉพาะตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนทหารเมื่อปี 2547 เป็นต้นมาถึงวันนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น และพบว่าหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ก่อเหตุคือวัยรุ่นที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีงานทำ จึงถูกชักจูงให้เข้าสู่ขบวนการรุนแรงได้ง่าย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)และกองทัพบก จึงจัดโครงการ”ทำดีมีอาชีพ” ให้เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ฝึกทักษะอาชีพ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และสร้างประโยชน์แก่ชุมชน

เรื่อง:- สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

            ดิฉันเคยได้ยินชื่อโครงการ “ทำดีมีอาชีพ” มาบ้างเหมือนกัน แต่ก็ยอมรับว่าติดตามเพียงผิวเผิน จวบจนกระทั่งได้มีโอกาสไปเป็นพิธีกรให้ กอ.รมน. ในการจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ เพื่อจะประชาสัมพันธ์โครงการนี้ รวมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่สื่อมวลชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2553 จึงได้รู้จักโครงการนี้มากขึ้น

           กอ.รมน.และกองทัพบก เป็นเจ้าภาพในการชักชวนเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีงานทำ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกชักจูงให้หลงเชื่อสิ่งผิดๆ แล้วไปก่อเหตุรุนแรง ให้สมัครเข้าเรียนในหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นต่างๆ ตามความสนใจ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างปรับอากาศ หรือช่างเสริมสวย เป็นต้น ใช้เวลาเรียน 49 วัน โดยส่งไปเรียนยังสถาบันอาชีวศึกษาในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่างๆ ตามที่สถาบันนั้นๆ จะมีความพร้อม เพราะสถานศึกษาจะต้องจัดหาที่พักให้ด้วย ส่วนทาง กอ.รมน.ก็จะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเบี้ยเลี้ยงประจำ วันตลอดระยะเวลาของการอบรม

          นอกจากจุดมุ่งหมายหลักในการฝึกวิชาชีพแล้ว การที่เยาวชนทั้งหมดได้ไปใช้ชีวิตต่างถิ่นระยะหนึ่ง ก็ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ความแตกต่างของเยาวชนภาคอื่นๆ และการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ด้วย แต่กว่าจะปรับตัวกันได้ก็ประสบปัญหาไม่น้อย เนื่องจากบางคนเกิดและเติบโตในชุมชนท้องถิ่น ไม่เคยอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรมหรือต่างศาสนาเลย ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกันพอสมควร และอีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ เยาวชนที่สมัครเข้ารับการอบรมตามเพื่อน ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะฝึกวิชาชีพนั้นๆ ด้วยความสนใจหรือความถนัดที่แท้จริง เมื่ออบรมกลับมาแล้วก็ไม่ได้นำมาประกอบอาชีพอะไร ปล่อยให้วิชานั้นสูญเปล่า เท่ากับกอ.รมน.เองก็เสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย นอกจากนี้ บางคนที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว อยากจะประกอบอาชีพ แต่ฐานะทางบ้านยากจน ก็ไม่มีทุนรอนที่จะตั้งต้นทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ทราบว่าทาง กอ.รมน.ก็ได้เตรียมวางแผนหาทุนตั้งต้นให้สำหรับเยาวชนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง โดยให้รวมกลุ่มกันเพื่อขอรับทุน ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นทุนแบบให้เปล่า หรือเงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ คงต้องรอฟังความชัดเจนอีกครั้ง

           อย่างไรก็ตาม โครงการ”ทำดีมีอาชีพ” ก็ได้ช่วยตอบโจทย์ชีวิตของเยาวชนที่รักการเรียนรู้ และมีความฝันที่จะประกอบธุรกิจเป็นของตัวเอง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พอสมควร แม้ว่าจำนวนเยาวชนที่ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 30,000 คน ยังไม่อาจประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นโอกาสของชีวิต ที่พวกเขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ และเลือกเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ชมคลิปวิดีโอ ที่ดิฉันสนทนานอกรอบกับตัวแทนเยาวชน ในโครงการทำดีมีอาชีพ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2553 ค่ะ

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.