Select Page

สายสวรรค์ ร่วมเสวนา PR กับภารกิจนำพาองค์กรสู่ AEC

สายสวรรค์ ร่วมเสวนา PR กับภารกิจนำพาองค์กรสู่ AEC

อาชีพนักประชาสัมพันธ์ หรือ ‘พีอาร์’ เป็นตัวแทนหรือกระจกสะท้อนไปถึงภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับ นำมาซึ่งชื่อเสียงและความสำเร็จขององค์กรนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน และในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่อาเซียน พีอาร์ย่อมมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ขององค์กรให้กว้างไกลกว่าเดิม

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี

ภาพ : อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์              

                    เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับสมาคมประชาสัมพันธ์โรงแรม และสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย จัดงานเสวนา “จะ PR อย่างไรให้โดนใจสื่อ? ครั้งที่ 8” ตอน : PR นำพาองค์กรสู่อาเซียน ณ ห้องคอนเวนชั่น เอ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 มีผู้สนใจเข้าร่วมการเสนาประมาณ 400 คน            

                   โดยคุณโอฬาร สุขเกษม อดีตบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ให้เกียรติกล่าวเปิดงานเสวนา และวิทยากรทั้ง 4 ท่านในงานนี้ ถือได้ว่ามีทั้งสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพ ซึ่งร่วมถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจในอาชีพของตนเองด้วยบรรยากาศสนุกสนาน

 

              ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย กล่าวว่า พอเวลาที่เราพูดเรื่อง AEC มักเกิดคำถามว่าตื่นตัว หรือตื่นตูมกันแน่ เพราะเรื่องของ AEC เป็นเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสินค้า บริการ แรงงาน และเงินทุน ตอนนี้บ้านเราใครๆก็ทำแผนยุทธศาสตร์ AEC เราจึงต้องมาดูที่เนื้อหาขององค์กรของเราว่าตรงไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับ AEC รวบรวมเป็นศูนย์กลางข้อมูลไว้ แล้วจึงนำมาเรียบเรียง เพื่อเวลาใครในองค์กรต้องการใช้ก็จะสามารถหยิบใช้ได้สะดวก และส่งสารออกไปในทิศทางเดียวกัน ทุกวันนี้ก็มีหลายองค์กรที่มีโอกาสเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับที่ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย นี่แหละ AEC เพียงแต่เราไม่ค่อยรู้ตัวเท่านั้นเอง ผมมองว่าเรามีข้อมูลอยู่เยอะที่จะใช้สู้ในเวทีอาเซียน เพียงแต่ว่ายังไม่ได้วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นออกมา วันนี้หากพีอาร์องค์กรใดยังไม่เคยติดต่อกับพีอาร์ประเทศเพื่อนบ้านเลย ต้องลองหาลู่ทางติดต่อได้แล้ว ยังไม่สาย อีกทั้งไม่ว่าองค์กรจะไปในทิศทางใดก็ตาม เราควรมองในเรื่องของข้อตกลงขององค์กรก่อน แล้วจึงมองไปที่งานพีอาร์ว่าจะช่วยขับเคลื่อนไปอย่างไรได้บ้าง แต่ต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่หากยังไม่ชัดเจนในข้อตกลงก็ควรถามที่ CEO โดยตรง เพื่อจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าองค์กรของเราจะไปทางไหน ไปเมื่อไหร่ ไปอย่างไร ไปมาก ไปน้อย กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ประเทศไหนที่เราจะไปปักธง รวมถึงใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ ศึกษาประเทศเพื่อนบ้านให้ดี และพยายามนำตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงพีอาร์ของประเทศนั้นๆด้วย อีกอย่างเวลามองประเทศเพื่อนบ้าน อย่ามองแค่สื่ออย่างเดียว แต่ต้องมองพฤติกรรมผู้บริโภค ภาวะเศรษฐกิจ ความสนใจ เช่น อ่านหนังสือพิมพ์อะไร ดูทีวีช่องไหน แล้วมุ่งไปสู่พื้นที่ที่เราต้องการ ปัญหาที่พีอาร์พบอีกอย่างหนึ่งคือ CEO ไม่ชอบคุยกับสื่อ กลัวสื่อ พีอาร์ต้องมีการเทรนด์ให้ CEO ฝึกพูด ฝึกตอบคำถาม ฝึกให้สัมภาษณ์ ฝึกวางบุคลิกภาพเมื่อต้องออกสื่อทีวี  ทำแบบนี้จะช่วยให้ท่านไม่เกร็งเมื่อต้องออกสื่อจริงๆ สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือเล็ก ก็สามารถสร้างแบรนด์ให้ตนเองได้ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็น สร้างแบรนด์สินค้า สร้างแบรนด์องค์กร หรือแม้แต่สร้างตัวตนให้ตนเอง จงใช้ทรัพยากรใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์มากที่สุด    

         

                        คุณเอิร์ธ สายสว่าง นายกสมาคมประชาสัมพันธ์โรงแรม กล่าวว่า กระแส AEC ในปีนี้ของวงการโรงแรมและการท่องเที่ยว ถือว่าได้เปรียบกว่าใคร เพราะเราสัมผัสกับคนต่างชาติทุกวัน เราเจอพฤติกรรมของชาวต่างชาติที่หลากหลาย เราได้เปรียบด้านการบริการและภาษาอังกฤษ ด้วยใช้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งเวลาพิจารณารับคน หากพูดได้ 3-4 ภาษา ก็จะได้เปรียบมาก คนไทยต้องตื่นตัวมากขึ้น ต้องมีความสามารถอย่างรอบด้าน และตอนนี้พีอาร์ เอเจนซี ต่างชาติ ก็เข้ามาเยอะ ถ้าไม่พัฒนาตนเองอาจถูกแย่งงานได้ ปัจจุบันงานโรงแรม ก็รับคนงานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเดี๋ยวนี้เขารู้เรื่องของคนไทยเป็นอย่างดี รวมถึงเรื่องค่าแรง เราจะจ้างเขาถูกๆไม่ได้อีกแล้ว พีอาร์เดี๋ยวนี้จะเป็นแค่พีอาร์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องรู้ช่องทางติดต่อกับพีอาร์ประเทศอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่การมุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเท่านั้น แต่ต้องคิดด้วยว่าจะพีอาร์อย่างไรให้โดนใจสื่อ ให้ได้พื้นที่ข่าวในสื่อเยอะๆ และต้องโดนใจเจ้านายด้วย ถ้าใครมีเจ้านายที่เป็น ‘พีอาร์แมน’ ชอบออกสื่อ ชวนไปออกงานที่ไหนก็ไป ชอบเปิดตัว ก็จะทำให้งานพีอาร์มีประสิทธิภาพง่ายยิ่งขึ้น พีอาร์ต้องหาลู่ทางให้เจ้านายออกสื่อ ให้เจ้านายตกเป็นข่าว เรื่องสุดท้ายที่อยากเล่าสู่กันฟังคือมารยาทในการฝากข่าว ไม่ควรใช้ Mail Group แต่ควรส่งให้สื่อเป็นรายบุคคลมากกว่า เพราะเหมือนเป็นการให้เกียรติกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดควรเลือกเนื้อหาข่าวให้ตรงกับสื่อด้วย

             ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ และผู้ประกาศสถานีโทรทัศน์ Thai PBS กล่าวว่า คำว่า AEC ในบ้านเรายังตื่นตัวไม่พอ ความจริงคือเราแกร่งพอหรือเปล่า เข้าใจอาเซียนจริงๆ หรือเปล่าว่าอาเซียนคืออะไร  เพราะอาเซียนมีความหลากหลาย ซึ่งมันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้คนทั้ง 10 ชาติในอาเซียน สามารถทำงานร่วมกันได้ คนไทยควรตื่นตัวมากกว่านี้ พยายามสอดแทรกความเป็นอาเซียนเข้าไปในทุกอณู จะไปไหนมาไหนก็ต้องทำการบ้านไปเยอะๆ เปิดใจให้กว้าง และพยายามหาคนท้องถิ่นไปเป็นผู้ช่วยด้วย เพราะความเป็นอาเซียนคือ ความเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน สำหรับสื่อต้องมองไปหลายๆด้าน อย่างแรกมองประเทศไทยว่า ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน ก็มีความใส่ใจในเรื่องการศึกษา และ AEC ในระยะสั้น ทำให้เรื่องนี้ไม่ซึมซับสู่คนไทยเท่าที่ควร อีกทั้งยังต้องหาพีอาร์พันธมิตรในประเทศเพื่อนบ้าน เอาไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ทุนมากเวลาเดินทางไปประเทศนั้นๆ พีอาร์ต้องหาจุดแข็ง จุดอ่อน ขององค์กรว่ามีอะไรบ้าง และอย่าละเลยวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อจิตใจมาก เราก็ควรจะทำการบ้าน และเรียนรู้ตลอดเวลา พยายามเปิดใจ เพื่อทำความเข้าใจ และก้าวไปสู่อาเซียน อย่างไรก็ตามคนเป็นพีอาร์ต้องเป็นพีอาร์ในสายเลือด พีอาร์ต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับสื่ออย่างมาก ต้องมีน้ำใจต่อกัน สุดท้ายบ้านเรากำลังก้าวไปสู่ AEC และนานาชาติ คนไทยต้องใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสื่อสารองค์กร เพื่อให้คนสามารถติดต่อเราได้ทุกช่องทาง นี่เป็นช่องทางที่ใช้เงินน้อยที่สุดในการพีอาร์ แต่ก็อย่าลืมฝึกใช้ภาษาอังกฤษให้ชำนาญ มิเช่นนั้นเมื่ออาเซียนเปิด คนในประเทศเพื่อนบ้านอาจเข้ามาแย่งงานพีอาร์คนไทยได้            

     

                  คุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง ผู้ดำเนินรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เสาร์-อาทิตย์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ในมุมส่วนตัวของ

ดิฉันมองว่า เราเป็นสมาชิกของสังคมอาเซียนกันอยู่แล้ว ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายครอบครัวมีพี่เลี้ยงเด็ก คนสวน คนขับรถ แม่บ้าน ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน  ไปรับประทานอาหารหรือสถานบริการต่างๆ เราก็ได้สัมผัสกับคนประเทศอื่นที่มาทำงานอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นเพียงมิติที่มองเห็นได้ในชีวิตประจำวัน  การเดินทางไปมาหาสู่กันหรือท่องเที่ยวในประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่เราก็ทำได้อย่างสะดวกอยู่แล้ว ทางด้านการค้าการลงทุน ก็มีภาคธุรกิจไทยเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน และฝ่ายเพื่อนบ้านก็เข้ามาทำธุรกิจในไทยนานแล้ว เพียงแต่ยังมีจำนวนน้อย และเกิดขึ้นได้เฉพาะคนที่แข็งแรงและมีสายสัมพันธ์กว้างขวางเท่านั้น              

            แต่เมื่อมีข้อตกลงอาเซียนอย่างเป็นทางการ ทุกอย่างก็พัฒนาขึ้นอีกระดับ  โดยความร่วมมือและผูกพันกันใน 3 เสาหลักอาเซียน  คือ  ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ  และสุดท้ายคือ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ต้องรวมตัวกัน เพื่อความร่วมมือกันและรวมพลังกันให้สามารถคานอำนาจกับชาติฝั่งตะวันตก  ดังนั้น จึงมองว่า เราในฐานะสมาชิกอาเซียนก็มองอาเซียนในมิติใหม่ สวมหมวกใบใหม่หรือใส่แว่นตาอันใหม่  แต่ทั้งนี้ ยังเห็นว่า เราตื่นตัวในมิติสังคมวัฒนธรรมมากกว่ามิติอื่นๆ  เราอาจยังสนใจที่ว่าเขาแต่งกายชุดประจำชาติกันอย่างไร  ทั้งที่เราเองก็ไม่ได้สวมชุดไทยมาเสวนากันในวันนี้  ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้ในทุกๆแง่มุม ดังที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”                

              คุณสายสวรรค์ ยังถ่ายทอดประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารด้านสื่อสารองค์กร ที่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด มหาชน (บีเจซี) เมื่อปี 2555 ด้วยว่า  ช่วงปี 2555 เป็นปีที่ดีในการเปิดตัวองค์กรสู่อาเซียน  และบีเจซี เป็นหนึ่งในผู้นำของภาคธุรกิจไทยที่ไปสร้างรากฐานในประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้ว เมื่อทิศทางชัดเจน พีอาร์ก็ทำงานง่าย ได้มีโอกาสพาสื่อไปดูงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน และได้ความรู้ที่มากขึ้นว่า เวลาจะไปไหนควรศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดี จะได้ไม่เกิดปัญหาเพราะความไม่เข้าใจกัน หรือเข้าใจกันผิดในภายหลัง  นอกจากนี้  ทุกสำนักข่าวผลักดันเรื่องของ AEC อย่างต่อเนื่อง พีอาร์ก็ควรใช้โอกาสนี้เปิดตัวองค์กร เปิดตัว CEO ให้เป็นที่รับรู้ หรือเป็นแหล่งข่าวเกี่ยวกับอาเซียนให้ได้ เมื่อทำให้เป็นที่รู้จักแล้ว  สื่อก็จะเข้ามาหาเพื่อขอสัมภาษณ์ ขอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ หรือเชิญไปเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้เป็น “ฟรีพีอาร์”ที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2ฝ่าย

                   อีกประเด็นหนึ่งคือ นโยบายเกี่ยวกับ AEC ขององค์กรมักเป็นแบบ Top Down  คือจากบนลงล่าง ไม่มีพีอาร์ที่ไหนเป็น ซูเปอร์พีอาร์ ที่จะลุกขึ้นมาบอกเจ้านายได้หรอกว่าให้ทำ แต่เมื่อมีนโยบายชัดเจนแล้ว พีอาร์ต้องเป็นตัวเชื่อม แปรนโยบายนั้นออกมาเป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร  เพื่อให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน  ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดปัญหาว่าข้างบนขยับแต่ข้างล่างไม่ขยับปรับตัว  หรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับ AEC เลย                  

                  สุดท้ายคุณสายสวรรค์ ยังได้แนะนำให้พีอาร์ ใช้โซเชียลมีเดีย ให้เป็นประโยชน์  เพราะเป็นสื่อที่สามารถใช้ประชาสัมพันธ์และการตลาดได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และ ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรเลย อย่างน้อยทุกวันนี้องค์กรหรือบริษัทต้องมีเว็บไซต์แล้ว และนับวัน โซเชียล เน็ทเวิร์ค ก็มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่คุณติดตามเขา หรือเขาติดตามคุณอยู่ในเฟซบุ้ค หรือ ทวิตเตอร์  อาจกลายมาเป็นลูกค้า หรือพันธมิตรธุรกิจกันก็ได้

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.