Select Page

ความสง่างามของสนามหลวงยุคใหม่

ความสง่างามของสนามหลวงยุคใหม่

สนามหญ้าเขียวขจี ที่ติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยการสูบน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ดูสวยงามน่านั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ใหม่ ของท้องสนามหลวง  ไม่นับการตกแต่งรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่างแม้กระทั่งม้านั่งสาธารณะ ที่ทำให้สนามหลวงดูสง่างามขึ้นมากโข  แต่หากจะให้สนามหลวงเป็นสถานที่”สวยแต่รูปจูบไม่หอม” ก็คงไม่คุ้มค่ากับงบประมาณเกือบ 200  ล้านบาท  กรุงเทพมหานครจึงวางกฎ กติกา  การบริหารจัดการพื้นที่สนามหลวงอย่างครบวงจรด้วย

เรื่อง:  สายสวรรค์  ขยันยิ่ง

ภาพ:  กองประชาสัมพันธ์  กรุงเทพมหานคร

 

              กรุงเทพมหานคร  ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสนามหลวงโดยตรง  ได้เริ่มดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม  และปัญหาสังคม ในพื้นที่สนามหลวงและปริมณฑล มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 

           ใครที่จำข่าวการย้ายนกพิราบกว่า  2 หมื่นตัว  ที่เคยมากินอาหารจากคนที่ซื้อเลี้ยงมันที่สนามหลวง ออกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมนอกเมือง เมื่อปีกลายได้  นั่นแหล่ะค่ะ  คือแผนแรกๆ ของโครงการปรับภูมิทัศน์สนามหลวงแห่งนี้  เมื่อนกพิราบไม่มี  (หรือจะมีกลับมาบ้างก็เป็นไปตามธรรมชาติ  ที่มาแล้วก็ไป ไม่ได้อยู่ประจำเป็นฝูงใหญ่เหมือนก่อน) จากนั้นก็ออกกฎห้ามจำหน่ายอาหารนกพิราบ  รวมถึงห้ามจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ที่กำหนด  ก็เป็นการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไปในคราวเดียวกัน 

 

            ผู้ค้าที่อาศัยสนามหลวงเป็นที่ทำมาหากินมานาน  หากไม่มีที่ไปก็คงไม่พ้นต้องฝืนกฎ  กทม.จึงรับมือด้วยการจัดพื้นที่ให้ข้ามฝั่งไปค้าขายกันริมคลองหลอดแทน  และเตรียมปรับภูมิทัศน์ให้คลองหลอดสวยงามกว่านี้  แต่เท่าที่ประเมินมาร่วมปี  ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ดูแลโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น บอกว่าผู้ค้าก็สามารถค้าขายได้เป็นที่น่าพอใจ แต่ กทม.ก็จะพัฒนาบริเวณริมคลองหลอดให้เป็นถนนคนเดิน  เชื่อมต่อไปยังถนนราชดำเนิน และสนามหลวง พระบรมมหาราชวัง ฟังดูแล้วอดนึกภาพตามไม่ได้ว่าจะคลาสสิคขนาดไหน (ถ้าไม่มีรถเมล์ไร้มาตรฐานมาพ่นควันดำโขมงใส่นะคะ)

            ที่ผ่านมาสนามหลวงเป็นพื้นที่เปิด  เรียกว่าเปิดกันทั้งวันทั้งคืน  จึงไม่พ้นเป็นที่อาศัยหลับนอนของคนจรจัด คนไร้บ้าน เบื่อบ้าน  หรือขอทาน ไปจนกระทั่งผู้ขายบริการทางเพศ ที่อาศัยมุมมืด  หรือร่มเงาใต้ต้นมะขามเก่าแก่รายรอบสนามหลวงเป็นแหล่งนัดพบ ร้ายถึงขั้นหามุมขายบริการกันได้แบบที่นึกไม่ถึง  เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ กทม. ยอมรับว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้เองเพียงลำพัง  จึงต้องร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการใช้กฏหมายเข้ามาจับปรับดำเนินคดีอย่างเข้มงวด  และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามามีบทบาทในการฟื้นฟูเยียวยาคนไร้บ้าน คนหนีออกจากบ้านบ้าน คนด้อยโอกาส ให้มีที่พักพิง ซึ่งเตรียมสร้างที่พักถาวรให้ที่เขตสายไหม และขอความร่วมมือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมธนารักษ์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วยหาพื้นที่รองรับเพิ่มเติมด้วย ที่ต้องให้เครดิตอย่างยิ่งอีกกลุ่มหนึ่งคือองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ที่เข้ามาดูแลคนเร่ร่อน จรจัด ในพื้นที่สนามหลวงที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างดี โดยเฉพาะข้อมูลต่างๆ ที่เขาเก็บรวบรวมมานานแล้ว  ดร.ธีระชน ยังกล่าวถึงความสำเร็จของการผลักดันขอทานต่างด้าวที่เข้ามาหากินในพื้นที่สนามหลวงกลับประเทศเพื่อนบ้าน โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์  อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ออกแรงช่วยเต็มที่

            อีกปัญหาหนึ่งที่คู่กันมากับสนามหลวงก็คือปัญหาอาชญากรรม ฉกชิงวิ่งราว โดยเฉพาะในยามวิกาล ที่บางครั้งประชาชนก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมาต่อรถโดยสารตามป้ายรถเมล์ หรือเดินลัดเลาะข้ามสนามหลวง โครงการปรับภูมิทัศน์สนามหลวงครั้งนี้จึงซื้อกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ติดตั้งรอบสนามหลวง และจัดจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เข้าเวรยามกันตลอด 24 ชั่วโมง  ถึงแม้ฟังดูแล้วอุ่นใจขึ้น  แต่ กทม.ก็ยังกำหนดเวลาเข้าใช้สนามหลวงอีกด้วย  จากที่ไม่เคยกำหนด  คราวนี้เปิดใช้ตั้งแต่เวลา 05:00 น.- 22:00 น. หลังจากนั้นก็ปิดรั้วกั้นเรียบร้อย  เว้นแต่ถนนเส้นที่ตัดผ่ากลางสนามหลวงซึ่งขยายให้กว้างขวางกว่าเดิม และยังเปิดให้เดินผ่านได้ตลอดเวลาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องเดินข้ามฝั่งไปมา

              สนามหญ้าเขียวขจีนี้ รองผู้ว่าฯธีระชน บอกว่าติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติเป็นเวลา โดยสูบน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา  และวางระบบระบายน้ำให้ดีกว่าเดิม ตอนออกแบบครั้งแรกจะปูกระเบื้องทางทิศเหนือของสนามหลวงสำหรับใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ต้องการความแข็งแรง แต่กรมศิลปากรแนะนำให้เป็นสนามหญ้าเต็มพื้นที่เพื่อความสวยงาม ประกอบกับการขึ้นทะเบียบสนามหลวงเป็นโบราณสถานแล้ว กทม.จึงใช้กฏหมายบริหารจัดการ ให้สนามหลวงใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีสำคัญทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรม เช่นการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวนมากๆ และประเดิมการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2554 เป็นงานแรกหลังจากเปิดใช้สนามหลวงยุคใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554 และเตรียมฟื้นเทศกาลแข่งขันว่าวขึ้นมาในฤดูกาลเล่นว่าว เพื่อให้บรรยากาศการที่มีครอบครัวมานั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ เตรียมอาหารมาปิคนิค มาเล่นว่าวกันที่ท้องสนามหลวงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

           ต้องจับตากันต่อไปว่าสนามหลวงยุคใหม่จะมีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนอย่างไร แต่ที่สำคัญคือ หากคนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของเงินภาษี ไม่ช่วยกันรักษาและหวงแหนดูแลสนามหลวงให้สมกับที่เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย  งบประมาณจำนวนมากที่ใช้ไปในการปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวงและปริมณฑลครั้งนี้คงสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.