Select Page

บัตรประชาชน : จากแผ่นพับ ถึงสมาร์ทการ์ด

บัตรประชาชน : จากแผ่นพับ ถึงสมาร์ทการ์ด

ในวันที่ต้องไปถ่ายรูปทำบัตรประชาชนครั้งแรกในชีวิต เมื่ออายุครบ 15 ปี บริบูรณ์  ทุกคนคงตื่นเต้นไม่แพ้กัน เพราะนั่นหมายถึงการก้าวออกจากเขตแดนของความเป็นเด็กหญิง-เด็กชาย สู่ความเป็นผู้ใหญ่ (อย่างน้อยก็ด้วยคำ หน้าว่า นาย หรือ นางสาว) ถึงตอนนี้หลายคนอาจทำ บัตรมาแล้วหลายใบ รูปแบบบัตรก็เปลี่ยนไปหลายรุ่น  ขณะที่บางคน ก็เป็นพลเมืองไทยยุคสมาร์ทการ์ดแล้ว ลองย้อนกลับไปดูบัตรรุ่นคุณปู่คุณย่า หรือคุณทวดของเรากันค่ะ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

เรื่อง/ภาพ :  สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

           เอกสารแผ่นพับคล้ายสมุดพกของเด็กนักเรียนนี้คือบัตรประจำตัวประชาชน ในปี พ.ศ. 2486 ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้มีเอกสารประจำตัว โดยในยุคนั้น ต้องมีระบุการเดินทางเข้าหรือออกจากถิ่นที่อยู่คล้ายกับทะเบียนบ้านอีกด้วย 

           บัตรประชาชนเริ่มมีขนาดกะทัดรัดพร้อมภาพถ่ายเจ้าของบัตรแบบขาวดำ  ตั้งแต่ปี 2506 ใครที่อายุ 48 ปีขึ้นไป เคยได้พกพาบัตรรุ่นนี้แน่นอน  และต่างก็คงเคยบ่นอุบ..ว่ารูปหน้าบัตรนั้นช่างไม่หล่อ ไม่สวยเอาเสียเลย….

           จนกระทั่งถึงปี 2531  คนไทยจึงได้ใช้บัตรประจำตัวที่เป็นภาพสีเป็นครั้งแรก  ส่วนข้อมูลหน้าบัตรก็เริ่มระบุหมู่โลหิต ตามพัฒนาการของการบริการสาธารณสุขด้วย ไปเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุอะไรที่ไหน  หน้าบัตรก็บอกให้เสร็จสรรพว่าคนๆ นั้น มีเลือดกรุ๊ปอะไร หากต้องผ่าตัด หรือถ่ายเลือดด้วยสาเหตุใด ก็จะได้ไม่ผิดไม่พลาด

           ต่อมาในปี พ.ศ.2539 บัตรประชาชนแบบใหม่ลักษณะเป็นบัตรแข็งคล้ายกับสมาร์ทการ์ดนี้ก็ปรากฎขึ้น  และได้รับการปรับปรุงข้อมูลที่บันทึกลงในบัตรมาโดยลำดับ  จนถึงปัจจุบัน บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ ก็สามารถบันทึกข้อมูลได้มากขึ้น และเชื่อมโยงกันได้หล่ายหน่วยงาน เช่น กรมการปกครอง กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นต้น ขณะที่ข้อมูลในบัตรก็จะมีชั้นความลับ ว่าหน่วยงานใดสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน  เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนด้วย และยังมีวิวัฒนาการเรื่องการป้องกันการปลอมแปลงบัตร  ด้วยการสร้างจุดซ่อนเร้นถึง 12 จุดทั้งด้านหน้าและด้านหลังบัตร ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือเฉพาะเท่านั้น 

          หลังจากกรมการปกครองออกบัตรแบบสมาร์ทการ์ดให้ประชาชนมาตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2 รุ่นแล้ว ต่อมามีการออกกหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดหาบัตร เป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยมีการกำหนดลักษณะของบัตรอย่างละเอียด แต่เมื่อเกิดปัญหาเรื่องรูปแบบบัตรที่ทางกระทรวงไอซีทีจัดหาให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่เป็นไปตามกำหนด จึงมีการตีกลับไป และตกลงกันไม่ได้อยู่เนิ่นนาน ทำให้ผู้ติดต่อทำบัตรประชาชนต้องรับใบแทน หรือใบเหลือง ใบชมพู ถึง 4 ล้านคน

          ถึงต้นปี 2554 เสียงทวงถามเรื่องบัตรสมาร์ทการ์ดก็ดังขึ้นเรื่อยๆ  และฝ่ายค้านก็เตรียมข้อมูลทำท่าว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วย  พอถึงวันที่ 1 มีนาคม มีรายงานข่าวว่า นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถามขึ้นมากลางวงประชุม ครม.ก็ไม่มีเสียงตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาดไทย ทั้งไอซีที พ่วงด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์  จากนั้นพอวันรุ่งขึ้นเท่านั้นล่ะค่ะ  ความคืบหน้าก็ชัดเจนปุบปับ รองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้จะมีบัตรสมาร์ทการ์ดที่ได้ตรวจสอบคุณภาพ โดยกระทรวงไอซีที กระทรวงวิทยาศาสตร์ และส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ให้ประชาชนได้จำนวน 1.5 ล้านใบ และในเดือน เม.ย.อีก 1.5 ล้านใบ จากนั้นในเดือน พ.ค.จะได้ครบทั้งหมด 4 ล้านใบ ไม่ต้องใช้บัตรเหลืองอีกต่อไปแล้ว” และยังบอกอีกว่า สิ่งที่ตกลงกันคือในวันเดียวกันนี้ (2 มี.ค.) กระทรวงมหาดไทยจะมีหนังสือไปถึงกระทรวงไอซีทีอย่างเป็นทางการว่าเห็นชอบในคุณสมบัติของบัตรตามกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกใหม่ จากนั้นไอซีทีก็จะตั้งกรรมการตรวจรับบัตรที่ผู้ผลิตส่งมาจำนวน 9 ล้านใบ และก็จะสุ่มตรวจทางเทคนิคว่าคุณสมบัติดีอยู่หรือไม่ เพราะผลิตมานานแล้ว จากนั้นก็ส่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง และทยอยส่งให้กระทรวงมหาดไทยต่อไป แนวทางทั้งหมดได้หารือเป็นที่ยุติ ซึ่งตนได้ให้ทั้ง 3 กระทรวงทำบันทึกไว้ และตนก็ได้ทำเรื่องรายงานนายกรัฐมนตรีแล้วก็มีการแก้ปัญหาระหว่างกระทรวงกัน และรองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงไอซีทีก็ส่งบัตรไปให้กระทรวงมหาดไทย  เห็นไหมคะ บทจะเร็วก็เร็วกันได้ชั่วข้ามคืน  แต่บทจะช้าก็ดองเค็มกันอยู่เป็นปีๆ

          ดิฉันถือโอกาสไปสังเกตการณ์ถึงกรมการปกครอง ซึ่งตั้งอยู่ที่คลอง 9  จ.ปทุมธานี  ได้เห็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องรับภาระหลังจากเบื้องบนสั่งมาแบบเร่งด่วน ตรวจบัตรกันแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน  การตรวจรับบัตรนั้นใช้ทั้งคน ใช้ทั้งเครื่องค่ะ เมื่อผ่านชั้นแรก ดูว่าบัตรไม่มีปัญหาภายนอกแล้ว  ก็จะลงรหัสบนบัตร และลงโครงสร้างโปรแกรม บน ไอซีชิป โดยใช้เครื่อง  Pre-Personalization และตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนกระจายไปยังสำนักทะเบียน ต่างๆ 1,078 แห่งทั่วประเทศ  ดูวิธีการตรวจสอบ และฟังรายละเอียดต่างๆ แล้วก็มั่นใจค่ะ  ว่าบัตรประชาชนแบบเอนกประสงค์ หรือบัตรสมาร์ทการ์ดนี้ทำให้ทั้งตัวเรา และหน่วยงานราชการที่ต้องดูแลเรื่องทะเบียนราษฎรและข้อมูลประจำตัวเวลาที่ประชาชนไปเข้ารับบริการอะไรสะดวกขึ้นมากมาย  ที่สำคัญคือได้รับการยืนยันว่าบัตรประชาชนของคนไทยยุคนี้ ก้าวหน้า และทันสมัยในอันดับต้นๆ ของโลกเชียวนะคะ (แค่ถือใบเหลืองรอกันนานหน่อยแค่นั้นเอง)

(ชมคลิปวิดีโอ)

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.