Select Page

พูดอย่างไรจึงจะเรียกว่าพูดดี และเคล็ดลับ 5 ข้อเพื่อสร้างความมั่นใจในการพูด

พูดอย่างไรจึงจะเรียกว่าพูดดี  และเคล็ดลับ 5 ข้อเพื่อสร้างความมั่นใจในการพูด

คนที่พูดมาก ไม่ได้แปลว่าพูดเก่งเสมอไป หรือแม้จะมีความหมายใกล้เคียงกันมาก แต่ก็ยังไม่เท่ากับการ “พูดดี” ผู้ที่อยู่ในขั้นพูดดีนั้นคือผู้ที่ใช้ภาษาได้อย่างเหมาะสม พูดถูกกาลเทศะ  พูดจาไพเราะน่าฟัง และอาจถึงขั้นพูดได้อย่างมีชั้นเชิงแพรวพราว  แต่จะทำ อย่างไรให้พูดได้ดี  และขจัดความประหม่าเวลาที่จะต้องพูดในที่สาธารณะ  ดิฉันมีเคล็ดลับสำคัญ 5  ข้อมาฝากค่ะ

เรื่อง  : สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

          บางคนที่ดิฉันเคยพบนั้นเป็นพวกที่พูดไม่หยุดเลยค่ะ  พูดเรื่องโน้น เรื่องนั้น เรื่องนี้ ได้อย่างยืดยาว ฟังแล้วเหนื่อย  และจะยิ่งน่าเบื่อเข้าไปใหญ่ ถ้าคนๆนั้นพูดแต่เรื่องของตัวเอง  ไม่เป็นผู้ฟังบ้าง หรือไม่ยอมให้คนอื่นแลกเปลี่ยนความคิด หรือประสบการณ์ของเขาบ้างเลย ยิ่งถ้าการสนทนานั้นมีเวลาน้อยนิดเท่าไร คนที่ยึดครองเวลาพูดแต่เรื่องของตัวเองคนเดียวก็จะยิ่งน่าเบื่อเท่านั้น

          บางคนมีเรื่องราวในชีวิตที่คนอื่นอยากรู้ อยากฟัง  แต่เขากลับไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ เล่าเรื่องไม่เป็น จับต้นชนปลายไม่ถูก  แถมยังพูดติดๆ ขัดๆ อีกต่างหาก  แบบนี้ก็หมดโอกาสในการสนทนาสนุกๆ หรือเปิดดัวเองออกไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ๆ อย่างน่าเสียดาย

           ขณะที่บางคน แม้จะไม่มีประสบการณ์ชีวิตโชกโชนอะไรกว่าคนอื่นเลย แต่ทุกครั้งที่เขาพูด  หรือเล่าเรื่องอะไรก็ตาม  ก็มีความน่าสนใจ น่าฟังอยู่เสมอ นั่นเป็นความสามารถในการสื่อสาร  ที่ดิฉันไม่ได้มองว่าเป็นเพราะพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนะคะ  แต่มองว่าเป็นการหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วัยเด็ก  การเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอต่างหาก

           ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้พูดประเภทไหนก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการพูดในวงสนทนาเล็กๆ กับการพูดในที่สาธารณะ ก็คือ “การเตรียมตัว” ยิ่งพูดต่อหน้าคนหมู่มากเท่าไร ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้นเท่านั้น เพราะการเปิดตัวไปเป็นผู้พูดในที่สาธารณะ ย่อมหมายความว่าคุณถูกคาดหวังในการพูดแต่ละครั้ง มากขึ้นกว่าการพูดกับเพื่อนฝูง คุณต้องมีทักษะในการควบคุมตนเองในการพูด  มีการเตรียมเนื้อหาที่จะพูดให้เหมาะสมกับงาน บรรยากาศ  สถานที่ และผู้ฟัง  คุณต้องพร้อมที่จะปรากฎกายอย่างสง่างาม ภูมิฐาน แต่งกายถูกกาลเทศะ และคุณต้องสามารถเป็นเจ้าของเวทีนั้นได้ตลอดการพูดอย่างน่าประทับใจ

          ดิฉันได้เป็นวิทยากรทางด้าน “การพัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสาร” มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เริ่มจากการได้รับเชิญไปพูดตามหัวข้อที่ผู้จัดกำหนดขึ้น  ส่วนใหญ่มักเป็นการบรรยายคราวละ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งพบว่าผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ ก็จะได้รับความรู้ในระดับที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของตนเอง  ใครที่มีทักษะ หรือต้องพูด ต้องนำเสนองานอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ก็จะเข้าใจวิธีการและนำเคล็ดลับไปปรับใช้กับตัวเองได้มากกว่าคนที่ไม่เคยมีทักษะ  ไม่ค่อยได้พูดต่อหน้าคนหมู่มากมาก่อน

           ต่อมาดิฉันจึงทดลองคิดค้นหลักสูตรขึ้นเอง  เน้นการฝึกปฏิบัติแบบเข้มข้น  ผู้เข้าอบรมทุกคนต้องลุกขึ้นนำเสนอตลอดเวลา ตามโจทย์ที่ได้รับ  ตั้งแต่การนำเสนอเรื่องของตัวเอง เรื่องใกล้ตัว ความประทับใจในชีวิต หรือสิ่งของบางอย่างที่คุ้นเคย  ก่อนจะนำไปสู่เรื่องไกลตัว ที่จำเป็นต่อการทำงานมากขึ้น  เช่นการนำเสนอข่าวสาร แนวคิด  นำเสนอโครงการ หรือแผนงานต่างๆหรือพัฒนาไปจนถึงขั้นการบรรยายพิเศษ การกล่าวสุนทรพจน์  หรือปาฐกถา สุดแท้แต่โอกาสและเส้นทางของแต่ละคน

           วิธีการฝึกพูดจากเรื่องใกล้ตัว ออกไปจนไกลตัวนี่เอง  ทำให้ดิฉันเห็นว่า เป็นแนวทางที่ทุกคนสามารถนำไปลองฝึกฝนดูได้นะคะ เพราะคุณจะได้เริ่มฝึกความมั่นใจในการพูดไปพร้อมๆ กับฝึกเรื่องเนื้อหาที่จะพูดด้วย  หากเริ่มต้นด้วยเรื่องที่คุณเองก็ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง  ไม่รู้สึกอย่างแรงกล้าที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็น  คุณก็จะขาดพลังในการพูดเรื่องนั้นๆ  และรู้สึกไม่มั่นใจ  ประหม่า  และนำเสนอได้ไม่ดีพอ  เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ คุณก็จะรู้สึกเข็ดขยาดต่อการพูดในที่สาธารณะไปตลอด

          นอกจากการฝึกฝนจากเรื่องใกล้ๆตัว  เรื่องที่เราเข้าใจดี หรือเรื่องที่มีความรู้สึกอย่างแรงกล้าที่จะพูดแล้ว  ก็ต้องฝึกฝนการใช้เสียง  วิธีการออกเสียงอย่างถูกต้อง ชัดเจน ทรงพลัง ตลอดจนบุคลิกภาพที่น่าประทับใจด้วย  เช่นการนั่ง ยืน หรือเดิน ที่สง่าผ่าเผย  การสบสายตาผู้ฟัง มีรอยยิ้มที่เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูด  การใช้มือและอุปกรณ์ประกอบอย่างเป็นธรรมชาติไม่ดูเหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอม  เวลาพูดก็จะต้องมีจังหวะจะโคน  ควบคุมระดับเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องและสถานที่ ควบคุมเวลาในการพูดให้อยู่ในประเด็นและความยาวที่กำหนด นอกจากนี้ยังจะต้องดูแลเรื่องบุคลิกภาพภายนอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงภาษากายด้วยสำหรับความมั่นใจ  ซึ่งหลายคนบอกว่าสร้างยากนักหนานั้น  มีเคล็ดลับอยู่แค่ 5  ข้อเท่านั้นเองค่ะ

เคล็ดลับข้อแรก  มั่นใจด้วยการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี 

           ความไม่พร้อม หรือความไม่รู้  ทำให้เกิดความไม่มั่นใจค่ะ ถ้าไม่รู้ว่าจะพูดอะไร  ไม่เข้าใจเรื่องที่พูด  ก็จงทำการบ้านให้หนัก เตรียมข้อมูลให้มากที่สุด มากกว่าที่จะต้องใช้  และทำการบ้านด้วยว่างานที่จะต้องไปพูดนั้นเป็นงานอะไร  ใครจัด ใครฟัง และคาดหวังอะไรจากเรา เพื่อจะได้เตรียมตัวให้ถูกกาลเทศะ  ไม่ทำให้ผู้เชิญต้องผิดหวัง

เคล็ดลับข้อที่ 2 มั่นใจด้วยสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

            คงไม่ดีแน่ถ้าท่านใช้ร่างกายอย่างหักโหม  อดหลับอดนอนมาก่อนถึงวันที่จะต้องพูดในที่สาธารณะ  หน้าตาที่ทรุดโทรม เสียงที่แหบพร่า และพลังงานที่อ่อนล้าจะทำให้ คุณขาดความมั่นใจไปแทบหมด  และสิ่งที่สุดวิสัยอย่างยิ่งคือการเจ็บป่วยกะทันหันก่อนถึงวันงาน ดังนั้น หากจะเอาดีด้านการพูด  ก็จงดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีอย่างสม่ำเสมอค่ะ

เคล็ดลับข้อที่ 3 มั่นใจด้วยการแต่งกายดี

          เนื่องจากการพูดในที่สาธารณะ หรือไปออกรายการโทรทัศน์ เราจะต้องอยู่ท่ามกลางสายตาของคนหมู่มาก  ดังนั้น จงให้ความใส่ใจในรายละเอียดของการแต่งกาย ตั้งแต่การแต่งกายแบบไหนที่เจ้าภาพระบุไว้ในบัตรเชิญ  หรือผู้จัดงานต้องการให้แต่งกายตามสีหลักของงาน หรือเข้ากับฉากโทรทัศน์อย่างไรหรือไม่  การพูดของท่านต้องยืนหรือนั่ง(ควรรู้แม้กระทั่งนั่งเก้าอี้แบบไหนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะสุภาพสตรี ที่บางทีใส่กระโปรงคลุมเข่าแบบสุภาพแล้ว  แต่ไปเจอโซฟาหรือเก้าอี้ที่นั่งแล้วกระโปรงเลิกขึ้นไปถึงขาอ่อน  แบบนี้ก็เสียความมั่นใจ ต้องนั่งกระมิดกระเมี้ยนไปตลอดการพูด)  ความสะอาดเรียบร้อยของเสื้อผ้าก็เช่นกัน เพราะเป็นตัวบ่งบอกว่าท่านดูแลตัวเองดีแค่ไหน  ส่วนการแต่งหน้าทำผม ก็เป็นองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆเพราะ จะทำให้ท่านมั่นใจหรือสูญเสียความมั่นใจก็ได้

 

 

เคล็ดลับข้อที่ 4 มั่นใจจากจินตนาการ สู่ความมั่นใจในการพูด

         อยากให้ผู้พูดที่ประหม่า แข้งขาสั่น เหงื่อแตก มือเย็นไปหมด เวลาที่จะต้องพูดต่อหน้าคนหมู่มาก  ใช้จินตนาการเป็นตัวช่วยค่ะ  เรื่องนี้ไม่ได้เพ้อเจ้อ  แต่เป็นเคล็ดลับสำคัญของบรรดานักแสดงมืออาชีพ และนักพูดที่มีชื่อเสียงมากมาย หากเราเชื่อว่าเรามั่นใจ หรือแสดงท่าทางที่มั่นใจออกมา  ร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง และสั่งการให้เรามั่นใจจริงๆ ดังนั้น หากเราเชื่อว่าเราทำได้  เราพูดต่อหน้าคนหมู่มากได้ดี และทุกคนต้องการฟังเราพูด  เราก็จะเริ่มต้นพูดจากความรู้สึกเช่นนั้นได้เอง

เคล็ดลับข้อที่ 5 มั่นใจจากการฝึกฝนจนชำนาญ

          เมื่อทำตามเคล็ดลับทั้ง 4 ข้อมาแล้วข้อสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งค่ะ  นั่นก็คือการฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน จนเกิดความชำนาญ เพราะไม่มีทักษะความสามารถใดได้มาโดยไม่ฝึกฝน  เหมือนคนที่จะฝึกว่ายน้ำให้เป็น  มีหนทางเดียวก็คือต้องลงน้ำ  จะพูดให้ได้ดี ก็เช่นกัน เราต้องฝึกพูด  และหาโอกาสพูดต่อหน้าคนหมู่มากอยู่เสมอนั่นเองค่ะ

 

           เชิญชมคลิปตัวอย่างการอบรมหลักสูตร “พัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสารเพื่องานโทรทัศน์”  ในหัวข้อเกี่ยวกับการพูดเรื่องราวที่ตนเองประทับใจค่ะ

 

(คลิกชมคลิปวีดีโอ)

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.