Select Page

พิพิธภัณฑ์ The Sun Drum Miao&Dong Costumes Museum

พิพิธภัณฑ์ The Sun Drum Miao&Dong Costumes Museum

สถานที่จัดแสดงเครื่องแต่งกายของชนเผ่าเหมียว ชนเผ่าดอง และชนเผ่าอื่นๆ มากกว่า 100 ชุดนี้ แม้จะเป็นสถานที่เล็กๆ ที่ใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” แตกต่างจากความใหญ่โตทั่วไปของพิพิธภัณฑ์อื่น  แต่ที่แห่งนี้สามารถเก็บรวบรวม ความล้ำค่าของวัฒนธรรม  และบรรพบุรุษ มิให้เลือนหายไป….

       

  โดย อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์

 

 

       พิพิธภัณฑ์ The Sun Drum Miao&Dong Costumes เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท Qiandongnan Sun Drum Embroidery Company เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวม เก็บรักษา ศึกษาวิจัย เทคโนโลยีขั้นตอนการผลิตเครื่องแต่งกายหลายหลากประเภทของชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศจีน โดยเน้นชนเผ่าเหมียวและดองซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีขนาดใหญ่ของจีน

          The Sun Drum Miao&Dong Costumes เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นชนเผ่าเหมียวและดองพร้อมกับมีการสาธิตทักษะการผลิตเครื่องแต่งกายและการทำงานศิลปะ เช่น วาดรูป จากคนของชนเผ่านั้นๆ โดยมีจุดประสงค์ที่จะช่วยวิจัย พัฒนา และปกป้องรักษาเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของชนเผ่าพื้นเมืองมิให้เลือนหายไป ท่ามกลางการพัฒนาอันรวดเร็วของโลกสมัยใหม่ พร้อมทั้งเพื่อเป็นฐานข้อมูลและแหล่งอ้างอิงด้านเครื่องแต่งกายดั้งเดิมของชนเผ่าเหมียวและดอง    สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้า ดังนั้น จึงได้ถือกำเนิดศูนย์การจัดแสดงทางวัฒนธรรมแห่งนี้ขึ้นมา 

          ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชนเผ่าเหมียว ชนเผ่าดอง และชนเผ่าอื่นๆ มากกว่า 100 ชุดการแสดง พร้อมคำบรรยายใต้เครื่องแต่งกายนั้นๆ ถึงยุคสมัย วัตถุดิบ และโอกาสในการสวมใส่ เช่น งานแต่งงาน งานพิธีต่างๆ ทำให้ผู้ที่เข้าชมสามารถเข้าใจได้

          และมีการจัดแสดงเครื่องประดับอีกกว่า 200 ชิ้น พร้อมทั้งผ้าบาติก ผ้าม่านลายปัก เทคนิคการตัดกระดาษเป็นรูปแบบต่างๆ กว่า 500 ชิ้น เพื่อใช้ประดับตกแต่งในโอกาสพิเศษ เครื่องเงิน อุปกรณ์การเย็บปักถักร้อย และรูปวาด อย่างหลากหลาย

          การนำเสนอประวัติของชนเผ่าเหมียวและดอง ผ่านเครื่องแต่งกายประจำชนเผ่าแล้ว อีกหนึ่งจุดประสงค์ของทางพิพิธภัณฑ์ คือ การมีส่วนร่วมของผู้ชม เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าถึงและเรียนรู้วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ได้ ใกล้ชิดมากขึ้น ทางพิพิธภัณฑ์จึงมีเจ้าหน้าที่หญิงกว่า 23 คน จากชนเผ่าเหมียวและดอง จากหลายหมู่บ้าน คอยแสดงและสาธิตทักษะเย็บปักเครื่องแต่งกายและทักษะผลิตงานศิลปะให้แก่ผู้เยี่ยมชม

         ซึ่งพนักงานเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศลำดับที่ 2 และ 3 และรางวัลพิเศษ จากเวทีการประกวดแข่งขัน “The Colorful Guizhou Tourist Merchandise Tournament” ในปี 2006 เป็นการรับประกันได้ว่าสิ่งที่พนักงานชาวพื้นเมืองในพิพิธภัณฑ์เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริง และผลงานที่ทำออกมาเต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของชาวพื้นเมืองและรักษาความดั้งเดิมไว้จริง

          ในแต่ละห้องการแสดงผลงานจะแบ่งเป็นสัดส่วน เปรียบเสมือนห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีโมเดล ให้เราได้ศึกษาค้นคว้า

          อาทิ กระบวนการทำผ้าม่านลายปักที่ผมได้ไปเห็นอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะเริ่มการผลิตกระบวนการแรกคือการออกแบบลวดลาย ส่วนมากที่เราใช้ในการร่างแบบ หรือลวดลายที่เราต้องการก็ต้องใช้ดินสอวาดเพื่อเป็นแบบก่อนการปัก แต่ในที่นี้ใช้น้ำตาเทียนเป็นเครื่องมือในการร่างแบบ หรือลวดลายที่เขาต้องการซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตในอดีตได้อย่างเด่นชัดก่อนความเจริญของโลกสมัยใหม่ ที่มนุษย์ได้เรียนรู้และสร้างเครื่องมือที่ช่วยทุนแรงอย่างเช่น “ดินสอ” หลังจากการที่สร้างลวดลายที่ต้องการเสร็จ จะเป็นขั้นตอนการปัก จะปักด้วยมือ เพื่อให้เกิดความประณีตของเส้นดายและลวดลาย

          ในปัจจุบันสินค้าบางชิ้นที่มีขายตามท้องตลาด มีการลอกเลียนแบบลวดลาย ตั้งแต่กระบวนการผลิตมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เริ่มจากการวาดลวดลายจนถึงขั้นตอนการปัก จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นเครื่องจักรกลสำหรับพิมพ์ลาย และเครื่องปัก เข้ามาใช้ทดแทนเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว สะดวกสบาย แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไว้ได้แบบไม่มีผิดเพี้ยนเลย….

          โอกาสในการเรียนรู้ประวัติและความสำคัญของเครื่องแต่งกายประเภทต่างๆ ของชนเผ่าพื้นบ้าน จากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องแต่งกาย เรียนรู้วิธีการผลิตเครื่องแต่งกาย และการผลิตงานศิลปะ จากการสาธิต ยังเป็นบทสะท้อนให้หันกลับมามองชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่ยังคงถูกละทิ้ง ลิดรอนสิทธิ ไม่เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ และถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกผลักไสให้ไปอยู่ในชายขอบของสังคม

         การเรียนรู้มุมมองการทำงานของรัฐบาลจีน ที่ให้ความสนใจในการพัฒนาชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม คงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชนเผ่าไว้นั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ตอกย้ำแต่กับเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความเจริญในอนาคตที่เราต้องให้ความสำคัญต่อคนไทยทุกชนชั้น ทุกพื้นที่ของแผ่นดินไทย…………

          ผมเชื่อ ! ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ถ้าทุกประเทศ เล็งเห็นคุณค่าของกลุ่มชนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิต ที่สืบทอดมาในอดีต เราคงได้เห็นภาพและสิ่งที่น่าจดจำได้อีกหลายหลายในอีกหลายมุมของโลกไม่ใช่แค่ประเทศจีน…….

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.