Select Page

“ขอจิ๋มพูด : The Vagina Monologue”

“ขอจิ๋มพูด  : The Vagina Monologue”

“ถ้าจิ๋มคุณพูดได้ มันอยากพูดว่าอะไร?” คุณฟังไม่ผิดหรอกค่ะ ดิฉันถามคำถามนี้จากหัวใจไปถึงมนุษย์ทุกคน บนโลกใบนี้ ทั้งชายและหญิง พอพูดเรื่องอย่างนี้คนก็คิดว่าเอาเรื่องต่ำ หยาบคาย ไร้การศึกษามาพูด คุณหลงลืมไปหรือเปล่าว่า “จิ๋ม” ที่เรากำลังพูดถึงนั้น แท้จริงแล้วคือที่ที่ให้ทุกคนลืมตามาดูโลกสวยงามใบนี้ ดังนั้น “จิ๋ม” ก็คือหัวใจที่เสียสละ และพร้อมจะตายแทนคนที่เขารักได้ นี่แหละจิ๋ม นี่แหละผู้หญิง และจะไม่ใช่วัตถุทางเพศอีกต่อไป

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี
ภาพ : อนุสรณ์ มีบุญ

           เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 นักศึกษาสาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดแสดงละครเวทีเรื่อง “ขอจิ๋มพูด” ขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม ตึกคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเปิดให้เข้าชมฟรี อีกทั้งยังมีการระดมทุนช่วยเหลือผู้หญิง และจำหน่ายเสื้อ “I LOVE VAGINA” ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะมอบให้แก่มูลนิธิกระจกเงา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

             โดยละครเวทีเรื่อง “ขอจิ๋มพูด” เป็นผลงานการประพันธ์ของ Eve Ensler นักเขียนชาวอเมริกัน ได้แสดงครั้งแรกในนิวยอร์กเมื่อปี 1996 ด้วยรูปแบบของการเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับช่องคลอด (Vagina) ซึ่งเธอได้ข้อมูลจากการตระเวนสัมภาษณ์ผู้หญิงในหลายประเทศทั่วโลกมากกว่า 200 คน โดยถามถึงความรู้สึกของเธอที่มีต่อ “ของสงวน” หรือช่องคลอดนี้ Eve Ensler บอกว่าผู้หญิงไม่ว่าชาติไหน ก็อายที่จะพูดถึงเรื่องนี้ทั้งนั้น ละครเวทีเรื่องนี้จึงได้ถูกนำไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ กว่า 48 ภาษา และจัดแสดงในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก บทละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งได้รับรางวัล “Obie Award” ซึ่งต่อมาได้เป็นบทละครที่เด่นในด้านการต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับเพศหญิง ละครเวทีเรื่อง “ขอจิ๋มพูด”  นี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดย อ.พันพัสสา ธูปเทียน อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            การแสดงในครั้งนี้เป็นเรื่องราวของผู้หญิงทั้ง 7 คน ที่ผลัดกันเล่าเรื่องราวที่ตนเองประสบเกี่ยวกับ “จิ๋ม” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง “The Vagina Monologue หรือ ขอจิ๋มพูด” เป็นละครที่มีสาระสำคัญหลักที่ต้องการสื่อสารกับคนดูคือ “การหันกลับมาให้ความสนใจกับตนเองและรู้จักที่จะรักตนเอง” โดยเฉพาะเมื่อคนดูคนนั้นเป็นผู้หญิง ทั้งนี้เพราะจิ๋ม หรืออวัยวะเพศหญิงนั้น ต่างก็เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ค่าว่าเป็น สิ่งที่สกปรก น่ารังเกียจ จัดเป็นเรื่อง “ต่ำ” ที่จะพูดถึง แต่หากเรามองในมุมใหม่ ที่กลับกันว่า จิ๋ม เป็นอวัยวะหนึ่งของเรา เหมือนกับ หู ตา จมูก และที่สำคัญ จิ๋ม ยังเป็นอวัยวะเดียวที่ทำให้เราต่างแตกต่างเพศชายได้อย่างเห็นได้ชัดและหากเรากล้าที่จะยอมรับและพูด จิ๋ม ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ตัวตนของเรา ก็อาจเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เราเริ่มเปิดใจ มองตัวเองในมุมที่ต่างออกไปจากเดิม และเริ่มที่จะให้ความสนใจ ใส่ใจกับตัวเอง ยอมรับตัวเอง รวมไปถึงปลดปล่อยตัวเองให้หลุดจากข้อจำกัดเดิมๆด้วย อนึ่ง ในกรณีที่ใครๆต่างให้ค่ากับ “จิ๋ม” ว่าเป็นสิ่งสกปรก หากเราสามารถที่จะข้ามก้าวผ่านสิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้แล้วนั้น ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะยากไปกว่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมองในมุมมองใหม่แล้ว ผู้ชมก็จะพบว่าข้อความง่ายๆที่ซ่อนอยู่ว่า จงหันมารักตัวของคุณ และจิ๋มที่เป็นของคุณกันเถอะค่ะ

         นางสาวรัตติกร ชัยวี นักศึกษาสาขาสื่อสารการแสดง ชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้ฟังว่า “ดิฉันได้ดูละครเรื่องขอจิ๋มพูดของสวนสุนันทา แล้วดิฉันก็รู้สึกว่าสนใจมากในเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องจริงๆที่ผู้หญิงพูด แต่เขาก็ไม่กล้าพูดออกมาในสังคมปกติ แต่พอดิฉันต้องทำปริญญานิพนธ์ ดิฉันก็คิดถึงบทละครเรื่องนี้ และอยากจะให้ประโยชน์กับผู้ชมมากที่สุด นั่นก็คือเพศหญิง เพราะดิฉันก็เป็นผู้หญิงด้วย และดิฉันเองก็จะมีความรู้สึกมากๆ เวลาดูข่าวผู้หญิงถูกข่มขืน ถูกทำร้ายร่างกาย มันกระทบต่อความรู้สึกโดยตรง นี่คือเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำละครที่ให้ผู้หญิง และผู้ชายมาดู มาฟัง ว่าจริงๆแล้วผู้หญิงอยากพูดอะไร โดยไม่มีปิด ไม่มีเปลือก

           สิ่งที่อยากสื่ออันดับแรกเลยคือ อยากให้ดูแล้วผู้หญิงเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นคุณค่าของจิ๋ม และเห็นคุณค่าของเพศผู้ให้กำเนิด และผู้ชายเองเวลามาดูก็อยากจะให้เขารักที่ผู้หญิงเป็นมนุษย์ ไม่ใช่วัตถุทางเพศ ที่มาสำเร็จความใคร่เมื่อเขาต้องการ อยากให้มองลึกลงไปว่าผู้หญิงก็คือคนนะ ซึ่งเขาคือเพศแม่ของคุณ ถ้าเกิดไม่มีแม่ คุณก็เกิดมาไม่ได้ และตรงนั้น ตรงที่คุณใช้สำเร็จความใคร่ มันคือที่ที่คุณเกิด คือที่ที่เสียสละรูปร่างเวลาจะให้มนุษย์สักคนลืมตาดูโลก อยากให้เขาเห็นว่า จิ๋ม หรือผู้หญิงเสียสละมากแค่ไหน 

           แง่คิดที่ผู้ชมจะได้รับกลับไปคือ ผู้หญิงรักตัวเองมากยิ่งขึ้น ผู้ชายควรให้เกียรติผู้หญิงมากยิ่งขึ้น รักแม่มากขึ้น และคุณจะไม่รังเกียจจุดๆนั้น “จิ๋มของคุณ” ละครเวทีเรื่องนี้อาจจะเปลี่ยนความคิดของคนไปหมดไม่ได้ แต่อยากจะให้เขาคิดได้ว่านี่คืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย มันคือตัวตนของเรา คือสิ่งที่มีค่า สุดท้ายคือเมื่อดูละครเรื่องนี้แล้ว ดิฉันอยากให้ความรุนแรงในสังคมลดลง

         ได้ฟังอย่างนี้แล้ว ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าละครเวทีเรื่อง “ขอจิ๋มพูด  : The Vagina Monologueจะเป็นสื่อกลางในการยุติความรุนแรงในสังคมได้ไม่มากก็น้อย ตามความมุ่งหวังของนักศึกษากลุ่มนี้ และผู้แต่งอย่าง Eve Ensler นี่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการดึงให้ทุกคนฉุกคิดว่า แม้เพศหญิงจะเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าเพศชาย แต่ผู้หญิงก็เป็นคนเหมือนกับผู้ชาย มีชีวิต มีจิตใจ มีเลือดเนื้อ มีสิทธิเสรีภาพ และมีหัวใจที่พร้อมจะเสียสละ หยุดเถอะนะคะ หยุดทำร้ายผู้หญิง หยุดทำร้ายเพศแม่ หยุดความรุนแรงในสังคม”

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.