Select Page

ทุกภาคส่วนร่วมมือกันหยุดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของไทย ในเวทีเสวนาสาธารณะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ที่บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เสาร์ที่ 27 เมษายนนี้

ทุกภาคส่วนร่วมมือกันหยุดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของไทย ในเวทีเสวนาสาธารณะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ที่บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เสาร์ที่ 27 เมษายนนี้

ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตั้งอยู่ที่ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ  เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะวัดขุนสมุทราวาส หรือวัดขุนสมุทรจีน  ซึ่งยืนหยัดต่อสู้กับพลังธรรมชาติแห่งท้องทะเลมานานหลายทศวรรษ  ผืนดินที่แต่เดิมเคยยื่นยาวออกไปในทะเล ถูกกัดเซาะกลืนกินเข้ามาจนสภาพภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด  พื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน ที่เคยมีมากกว่า 1,000 ไร่ในปี พ.ศ.2520 เหลือเพียงประมาณ 78 ไร่ ในปี พ.ศ.2555 ขณะที่พื้นที่ป่าชายเลนลดลงประมาณ 20,500 ไร่ คงเหลือประมาณ 3,800 ไร่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลยิ่งขึ้น  ด้วยอัตราการกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี ทำให้บริเวณหมู่ที่ 9 พื้นที่หายไปประมาณ 1 กิโลเมตรแล้ว ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา นับเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงจนถึงขั้นวิกฤต  ส่งผลให้ประชาชนอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปจากพื้นที่ บ้างก็ถอยร่นเข้ามาจากทะเลปลูกบ้านเรือนอยู่แนวหลังวัดขุนสมุทรจีน และแทบไม่มีที่ไปอีกแล้ว จนชาวบ้านนำโดยนางสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านขุนสมุทรจีน เป็นกำลังหลักรวมตัวชาวบ้านในการสู้กับปัญหาด้วยแนวคิดที่ว่า “เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว…และถ้าเราอยู่ไม่ได้ต่อไปพระสมุทรเจดีย์ หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน”

                 นอกจากนี้    ภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงจากผลกระทบเรื่องโลกร้อน  ยังส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำประมงชายฝั่งและเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลชายฝั่งซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน  เนื่องจากที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำน้อยลง  และยังถูกซ้ำเติมจากธุรกิจประมงขนาดใหญ่เข้ามากอบโกยทรัพยากรในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านหมดช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพ  กระทบต่อวิถีชีวิตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมากว่า 300 ปี  “วิถีชีวิตของชาวบ้านขุนสมุทรจีนที่พออยู่พอกิน ออกทะเลเพื่อหาหอย หาปู แม้กระทั่งคนอายุ 70 ปี ก็ยังสามารถออกทะเลหาเลี้ยงชีพพอกินได้  คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเงิน เรือยังไม่ค่อยมีกันเลย มีแค่สวิงอัน มีถังใบ มีกระดานแผ่น ก็สามารถงมหอย จับปู เลี้ยงตัวพออยู่รอดได้  วันสองร้อย สามร้อย ห้าร้อย โชคดีเป็นพันก็มี ชีวิตพออยู่พอกินแบบนี้จะหาที่ไหน….แต่เดี๋ยวนี้หายไปหมด หาแบบเดิมไม่ได้แล้ว  แต่ก็ยังพอมีพออยู่พอกิน สมัยก่อนพวกเราร่ำรวยจากธรรมชาติ ออกไปวางปลาที ได้ปลาทูมาต้มเป็นหม้อๆ ตัวใหญ่สามสี่นิ้ว  พอค้างคืนก็ไม่กิน โยนทิ้งเลย เพราะตื่นเช้ามาก็ออกปลาอีก  ก็ได้กลับมาอย่างเหลือเฟืออีก  หน้าบ้านเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตนี่เอง ถ้ามีกำลังก็ออกไปโกยเอาผู้ใหญ่สมรฉายภาพในอดีต

                 การดำเนินการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่หมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน  เริ่มตั้งแต่ชาวบ้านทำ เขื่อนหินทิ้ง คือช่วยกันนำหินมากองกับดินโดยไม่ได้ใช้โครงสร้างที่เป็นฐานราก  เขื่อนเสาไฟฟ้า คือใช้เสาไฟฟ้าปักเรียงกันเป็นแนวยาวในทะเลเพื่อป้องกันความแรงของคลื่น บางครั้งมีการใช้ยางรถยนต์สวมเสาไฟฟ้าเพื่อช่วยลดความแรงคลื่นเพิ่ม  ต่อมาหน่วยงานต่างๆ ได้นำไม้ไผ่มาปักเป็นแนวป้องกันคลื่น หรือ เขื่อนไม้ไผ่หลายครั้ง หลายรูปแบบ รวมทั้งมีการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยจากหลายสถาบัน  ผลงานการวิจัยที่สำคัญที่บ้านขุนสมุทรจีนและเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นหาดเลนของประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ได้สนับสนุนงานวิจัย โครงการศึกษาบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ ในระยะแรก ด้วยงบประมาณ 5 ล้านบาท  พร้อมกันนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงกับจังหวัดสมุทรปราการ ให้ทางจังหวัดสนับสนุนงบประมาณในส่วนที่เป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นแนวกันคลื่นของโครงการฯ จำนวน 5 ล้านบาท  เกิดเป็นผลงานการก่อสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2550  เป็นเสาคอนกรีตทรงสามเหลี่ยม ปักลึกลงในทะเล เรียงแถวสามชั้น ห่างกัน 1.5 เมตร ในลักษณะฟันปลา และเรียงยาวประมาณ 250 เมตร เมื่อคลื่นซัดเข้ามากระทบเสาคอนกรีต คลื่นจะแตกออก 2 ข้าง และสะท้อนไปมาตามแนวเสา  จึงลดแรงปะทะของคลื่น และค่อยๆสลายตัวลง โดยตะกอนที่ลอยมาจะตกตะกอนบริเวณชายฝั่งหลังแนวเขื่อน เขื่อนสลายกำลังคลื่นนี้ ได้รับการจดสิทธิบัตรชื่อว่า ขุนสมุทรจีน 49A2”งานวิจัยชิ้นนี้สามารถหยุดยั้งการกัดเซาะชายฝั่งได้ โครงสร้างยังคงทนอยู่จนถึงปัจจุบัน และการเสริมสร้างตะกอนด้านท้ายเขื่อนทำให้สามารถปลูกป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่หลบภัยจากคลื่นลมแรงของสัตว์บางชนิดได้  แต่ด้วยการขาดงบประมาณสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปได้ โครงการดังกล่าวจึงยุติลง และเห็นผลได้ในพื้นที่เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งเท่านั้น 

                  อีกด้านหนึ่ง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำ  และระบบแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พื้นที่ชุมชนวัดขุนสมุทรจีนและชุมชนต่อเนื่อง ใช้เวลามากว่า 5 ปีในการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ได้ข้อสรุปให้สร้างแนวสลายพลังงานคลื่น ความยาว 3,600 เมตร กินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ป้อมพระจุลจอมเกล้า ไปจนถึง ต.นาเกลือ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งหมายความว่า บริเวณบ้านขุนสมุทรจีน และวัดขุนสมุทรจีน จะอยู่ในแนวสลายพลังงานคลื่นนี้ด้วย  โดยนอกจากลดพลังงานคลื่นแล้ว  ยังเพิ่มโอกาสในการตกตะกอนและการเกิดขึ้นของป่าชายเลน  เป็นการลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ยังออกแบบระบบระบายน้ำ ถนน ลานจอดรถ ลานสันทนาการและท่าเทียบเรือ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยววัดขุนสมุทรจีนและพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย

                 ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจรภาคกลาง ตอนกลาง 5 จังหวัด หรือ เบญจบูรพา (จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว และปราจีนบุรี) ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา นายคณิต เอี่ยมระหงส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้เสนอโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบริเวณวัดขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ผลการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง  เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  โดยโครงการดังกล่าว ใช้งบประมาณ 2,729 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี  ครอบคลุมพื้นที่หลักๆประกอบด้วย 1. พื้นที่ชุมชนบริเวณวัดขุนสมุทรจีน และชุมชนต่อเนื่อง ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทร ปราการ 2. พื้นที่ชุมชนวัดสาขลาและชุมชนต่อเนื่อง ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ 3. พื้นที่เทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่า เทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ และชุมชนต่อเนื่อง

                การแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณบ้านขุนสมุทรจีน เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงาน รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ มีความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา  และลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหากันหลายต่อหลายครั้ง  แต่การดำเนินการยังขาดความต่อเนื่องและเป็นเอกภาพ  เนื่องจากองค์ความรู้ รวมถึงกฎหมาย ระเบียบข้อปฏิบัติในการดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน มีความแตกต่างกันไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขออนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการ และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีความละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องท้าทายในการแก้ปัญหาให้ทันวิกฤตการณ์การกัดเซาะแผ่นดินที่รุกคืบเข้ามาทีละน้อย เสมือนภัยเงียบ ซึ่งในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ผืนดินที่ติดทะเลของไทย 2,600  กิโลเมตร จะถูกกลืนหายไปกลายเป็นทะเลอีกไม่รู้เท่าไร

               ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.)รุ่นที่ 4 ภายใต้การดำเนินการอบรมของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้  ประกอบกับข้อกำหนดของหลักสูตรที่ผู้เข้าอบรมต้องจัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ  บสส.4  จึงเลือกนำเสนอปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง  โดยมุ่งเน้นที่บ้านขุนสมุทรจีน ซึ่งเป็นจุดที่วิกฤตที่สุดของประเทศ เป็นต้นแบบ   เริ่มจากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการและข่าวสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชนมาเป็นเวลานาน  รวมทั้งการลงพื้นที่รับฟังปัญหาทั้งจากผู้ใหญ่บ้านสมร เข่งสมุทร ผู้นำคนสำคัญของชุมชนแหลมฟ้าผ่า  ปลัด อบต.แหลมฟ้าผ่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสมุทรปราการ  อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง  นอกจากนี้ ยังติดตามสัมภาษณ์นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง  และตัวแทนรัฐบาล เพื่อรวบรวมประเด็นต่างๆ เตรียมการเปิดเวทีเสวนาสาธารณะในวันที่ 27 เมษายนนี้   ซึ่ง ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันผ่านรายการทางวิทยุจุฬาฯ ว่ายินดีไปเป็นประธาน และร่วมพูดคุยหาแนวทางแก้ปัญหาในเวทีดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรมในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานทางด้านนี้โดยตรง  ขณะที่ พ.จ.อ.อุดร บุญช่วยแล้ว ปลัด อบต.แหลมฟ้าผ่า เปิดเผยว่า มีความคาดหวังสูงมากกับเวทีเสวนาในครั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสมานั่งคุยกันแบบครบทุกภาคส่วนจริงๆ  หลังจากที่การแก้ปัญหาที่ผ่านมายาวนานไม่ขับเคลื่อนไปไหน เพราะแต่ละหน่วยงานก็ทำไปตามแนวทางของตัวเอง ไม่ได้บูรณาการกันอย่างแท้จริง  และที่พิเศษคือการเสวนาที่จัดโดยคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรซึ่งเป็นสื่อมวลชนอาวุโสจำนวนมาก ก็คาดว่าจะมีพลังในการสื่อสารประเด็นออกไปสู่สาธารณะได้อย่างดียิ่ง  ส่วนผู้ใหญ่สมร ก็ฝากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมให้เกิดการเสวนาในครั้งนี้ขึ้น  และเชิญชวนให้สื่อมวลชนติดตามแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้กันให้ถึงที่สุด  เพราะโดยส่วนตัวแล้วจะยืนหยัดต่อสู้ไม่หนีไปไหน และจะคอยเป็นด่านปกป้องกรุงเทพฯไว้  เป็นการทำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประเทศไทย

               เวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง กู้วิกฤตขุนสมุทรจีนป้องกันชายฝั่งอย่างยั่งยืน”  โดย ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.)รุ่นที่ จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2556 ตั้งแต่เวลา 09:00 .-16:30 .ที่บ้านขุนสมุทรจีน  ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ กิจกรรมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ในภาคเช้าเป็นการเสวนา ที่ประกอบด้วยตัวแทนทุกภาคส่วน   ได้รับเกียรติจาก ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี          รองนายกรัฐมนตรี    นายเกียรติศักดิ์ จันทรา                        รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง  พ...อุดร บุญช่วยแล้ว  ปลัด อบต.แหลมฟ้าผ่า      ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานวิจัยขุนสมุทรจีน 49A2 และนางสมร เข่งสมุทร  ผู้ใหญ่บ้านขุนสมุทรจีน นอกจากนี้ บสส.4 ยังได้เชิญผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมสังเกตการณ์และเสนอความคิดเห็น  อาทิ  นายประชา ประสพดี     รมช.กระทรวงมหาดไทย และ ส..สมุทรปราการ นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ผู้แทนหน่วยงานในกองทัพเรือ  ประกอบด้วย กรมอุทกศาสตร์  ฐานทัพเรือกรุงเทพ กองเรือทุ่นระเบิด อู่เรือพระจุลจอมเกล้า และเจ้าของพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ  ตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. นายก อบต. เป็นต้น  ที่สำคัญคือ ชาวชุมชนขุนสมุทรจีน  ที่ต่อสู้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็งมาเป็นเวลายาวนาน   จบแล้วรับประทานอาหารกลางวันและปลูกป่าชายเลนร่วมกันในช่วงบ่าย 

               กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ  ซีพีเอฟ และ เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด  รวมทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และชาว บสส.4 ทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานในครั้งนี้ขึ้นให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง  จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านขุนสมุทรจีน และติดตามแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยต่อไป

 

เรียบเรียงโดย สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์  หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง(บสส.)รุ่นที่ 4

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.