Select Page

อยู่ดีกินดี ตามวิถีพอเพียง

อยู่ดีกินดี ตามวิถีพอเพียง

โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘โครงการอยู่ดีมีสุข’ เป็นโครงการซึ่งเน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมุ่งให้ประชาชนและครอบครัวสามารถพึ่งตนเองได้ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในทุกๆกิจกรรม

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี

ภาพ : พงษ์พันธ์ พวงพิลา


ในวันนี้เราจะพาไปสัมผัสกับวิถีชุมชนซึ่งเรียบง่ายภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือที่เรียกกันว่าโครงการอยุ่ดีมีสุข  บ้านหมี่ตะลุ่ม หมู่7 ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมาที่นี่ที่เดียวก็จะได้สัมผัสโครงการดีๆมากมาย ได้แก่ โครงการกองทุนหมู่บ้าน ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับอำเภอต้นแบบเฉลิมพระเกียรติฯ  ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน(กศน.อำเภอบางปลาม้า) โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล โครงการหมู่บ้านเขียวขจีดีเด่นระดับจังหวัดปี 2553 และโครงการอยู่ดีมีสุข โดยทุกโครงการที่ดิฉันกล่าวมาอยู่ในบริเวณเดียวกันหมดเลย  พื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ถูกแบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกผักสวนครัวและไม้ยืนต้น  เลี้ยงสัตว์ บ่อเลี้ยงปลา  สนามกีฬา  ศูนย์ประชุมหมู่บ้านและพื้นที่สาธิตทำปุ๋ยหมัก



จากการเดินชมศูนย์การเรียนรู้ในวันนี้ทำให้ดิฉันรู้ว่าการเป็นนักปกครองที่ดีคือ การทำให้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐงอกเงยและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ที่นี่มีพื้นที่ไม่มากแต่สามารถรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีประโยชน์ไว้ได้ครบถ้วน จุดนี้ทำให้ดิฉันเห็นถึงความสามารถของผู้ใหญ่บ้านที่สามารถแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ได้อย่างลงตัว ก้าวแรกเมื่อลงจากรถตู้ตอนนั้นเวลาประมาณบ่ายสามโมง ฉันตื่นเต้นกับศูนย์การเรียนรู้ที่นี่เพราะฟังจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านว่า มีอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ลึกๆในใจก็แอบคิดว่าจะจริงหรือ ที่ที่เดียวจะรวมทุกอย่างไว้ได้จริงหรือ แต่ก็เป็นไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใหญ่บอกมีอยู่จริง จุดแรกที่ไปดูคือป้ายประกาศเกียรติคุณหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะเรียงรายกันถึง 5  ป้ายอยู่หน้าศูนย์ฯ ถัดเข้าไปจะเป็นสนามฟุตบอลของหมู่บ้าน ฉันหันไปถามผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่นำชมว่า “ ทำไมไม่มีคนเล่นเลยคะ” เขาตอบฉันว่า “เพราะยังไม่เย็นครับ คนเตะบอลเขารอแดดร่มจะได้ไม่ร้อนมากครับ” หากเดินต่อไปอีกนิดด้านหลังสนามฟุตบอลจะเป็นโรงเพาะเห็ดนางฟ้าที่ออกดอกบ้างไม่ออกบ้าง ถัดไปอีกจะเป็นเล้าเป็ดเล้าไก่ ฉันเห็นมันเดินขวักไขว่จิกอาหาร ที่พื้นก็มีไข่ของมันด้วย ถัดไปอีกเป็นบ่อปลา น้ำในบ่อนี้จะถูกใช้ตักมารดผักสวนครัว เขยิบไปอีกหน่อยจะเป็นแปลงปลูกผักสวนครัว ที่เห็นก็มีมะนาว พริกขี้หนู ใบกระเพรา ตะไคร้ ก็จำพวกผักที่ปลูกง่ายๆนั่นแหละ ซึ่งผู้ใหญ่บอกไว้ว่าผักพวกนี้ถ้าใครอยากกินก็สามารถเก็บไปกินได้เลย เพราะคนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน จากการสมัครสมาชิกในราคาหุ้นละ 100 บาท ต่อไปผู้ช่วยพาฉันไปดูหมูหลุม ระหว่างทางเป็นแนวทิวไผ่ ว้าว!มีหน่อไม้ด้วย บริเวณนี้ลมเย็นมาก ถึงแล้วเล้าหมูหลุมแต่น่าเสียดายที่เขาจับหมูไปแล้ว เลยเหลือแต่เล้าที่เต็มไปด้วยดินผสมขี้หมู ผู้ช่วยอธิบายต่อว่าดินนี้อุดมสมบูรณ์มากเพราะมาจากเศษผักที่ใช้เลี้ยงหมูกับขี้หมู ดินนี้เราจะตักไปใช้ปลูกต้นไม้ซึ่งทำให้ต้นไม้โตเร็วมาก สุดท้ายเราจะไปชมปุ๋ยหมักชีวภาพ ฉันเดินผ่านอาคารไม้สองชั้นใต้ถุนโล่งหลังหนึ่งด้วย ป้ายเขาเขียนว่า “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน(กศน.อำเภอบางปลาม้า)” พื้นที่ชั้นบนใช้เรียน แต่ชั้นล่างใช้ประชุมและสาธิตความรู้ใหม่ๆของคนในชุมชน ฉันรู้เพราะภาพถ่ายที่ถูกติดไว้บนกระดาน  ฉันเดินต่อไปนิดเดียวก็พบถังปุ๋ยหมักเกือบ10 ถัง เรียงใต้ถุนอาคารอีกหลังหนึ่ง “ขออนุญาตเปิดดูได้ไหมคะ” ฉันถามผู้ช่วย เขาพยักหน้าพร้อมกับตอบว่า “ได้ครับ” ฉันไม่รีรอ เปิดทันที  แว๊บแรกของความรู้สึกที่ได้กลิ่น “โอ้ว!พระเจ้า” เกินจะบรรยายจริงๆ มีหนอนด้วยตัวเล็กกว่านิ้วก้อยหน่อยนึง ฉันรีบปิดอย่างรวดเร็ว ผู้ช่วยหัวเราะฉัน นอกจากนี้พื้นที่ด้านหน้าสุดของศูยน์ยังมีอาคารปูนชั้นเดียวเป็นพื้นที่แสดงผลงานและรางวัลที่หมู่บ้านนี้เคยได้รับอีกด้วย น่าเสียดายนะคะที่วันนี้มาแต่ไม่ได้เห็นชาวบ้านทำสินค้าโอทอปที่ดัดแปลงจากสมุนไพรในท้องถิ่น เพราะการทำสินค้าแต่ละล็อตต้องมีใบสั่งของลูกค้าก่อน แล้วชาวบ้านก็จะมารวมตัวทำกันที่นี่



การได้มาที่นี่ในวันนี้เพียงสองชั่วโมงช่างคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เพราะถือเป็นขุมทรัพย์ทางอาชีพ ทรัพยากร และปัญญา สิ่งดีๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดผู้นำที่ดีและมีวิสัยทัศน์อย่างผู้ใหญ่สุมิท โสมภีร์ ผู้ใหญ่บ้านหมี่ตะลุ่ม หมู่7 ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี  สุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใดที่คนไทยทั้งชาติอยู่ในแผ่นดินนี้อย่างมีความสุขก็ด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงเป็นผู้นำ เป็นพ่อ เป็นครู เป็นนักคิด เป็นนักปราชญ์ เป็นอัจฉริยะในทุกๆด้าน ที่ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่แก่ชาวไทย

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.