Select Page

การแต่งตัวของ Entertainer แต่งตัวเพื่อใคร?

การแต่งตัวของ Entertainer แต่งตัวเพื่อใคร?

นักวิจารณ์ในรายการแฟชั่น โฟกัส ของคุณหนึ่ง กฤษณราช จินดาวงศ์ กูรูแฟชั่นชื่อดัง ถามผู้เข้าร่วมรายการแข่งขันแต่งกายซึ่งเป็นนักดนตรีที่ไม่ใส่ใจเรื่องการแต่งตัวเลยแม้แต่น้อยว่า คนที่อยู่ในอาชีพนักดนตรีหรืออาชีพที่ต้องเป็น Entertainer นั้น คุณทำงานสนอง Need ตัวเองหรือสร้างความสุขให้คนอื่น? การแต่งตัวของคนที่อยู่ในอาชีพนี้ ก็มีคำตอบอย่างเดียวกัน!!!

เรื่อง: สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

วันที่: 24 มกราคม 2553

          ฉันดูรายการ Fashion Focus ทาง True Visions จบก็อยากเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาทันใด เพราะได้ทั้งความรู้และมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอยู่หลายเรื่อง

ประเด็นที่รายการนำเสนอครั้งนี้คือ การแต่งกายของศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ซึ่งทั้งคุณหนึ่ง กฤษณราช กับดีไซเนอร์ที่รับเชิญมาวิจารณ์การแข่งขัน อภิปรายเปิดรายการกันได้อย่างน่าสนใจ เช่น

         “แม้ว่าการแต่งกายของศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ในประเทศไทย จะพัฒนาขึ้นมากกว่าแต่ก่อน แต่ก็ดูเหมือนจะยังตามไม่ทันศิลปินต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งศิลปินเกาหลี ที่เขาจะถูกปรุงแต่งภาพลักษณ์ได้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับทั้งตัวตนของศิลปิน และงานที่นำเสนอ……”

          “ทำไมศิลปินต้องแต่งตัวตามๆ กันไปเป็น pattern ไม่ค่อยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง…..ทำไมศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ต้องแต่งตัวอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ จะมีใครกล้าลุกขึ้นมาแต่งตัวรูปแบบใหม่ๆแล้วร้องเพลงเพื่อชีวิตให้เห็นบ้างไหม….” เรื่องเหล่านี้อภิปรายกันได้เป็นวันๆ เลยนะคะ

          ผู้เข้าแข่งขันในรายการ ที่ฉันไม่ทราบว่าเขาคัดมาอย่างไร เป็นผู้ชาย 2 คน เล่นดนตรีเป็นอาชีพ เข้าใจว่าจะแสดงตามร้านอาหารหรือสถานบันเทิง บุคลิกต่างกันเป็น 2 หนุ่ม 2 มุม

          คนหนึ่งเป็นนักดนตรี Jazz รูปร่างผอมแห้ง ปกติเป็นคนที่ไม่ชอบแต่งตัวเอาเสียเลย สวมเสื้อยืด(มักเป็นคอวี) กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ ไม่ว่าจะอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือ ไปเล่นดนตรี

          คนที่สอง รูปร่างหน้าตาอาจจะได้เปรียบกว่ารายแรกอยู่บ้าง ชอบสวมเสื้อเชิ้ตมีสีสัน ลวดลาย คู่กับกางเกงยีนส์ และรองเท้าผ้าใบเหมือนกัน

          โจทย์แรกที่กรรมการสั่ง คือ ให้เลือกหยิบเสื้อผ้าที่ทางรายการจัดเตรียมไว้ให้จำนวนมากพอสมควรมาเปลี่ยน โดยที่ยังคงความเป็นตัวของตัวเอง แต่ “ให้ดูดีขึ้นกว่าปกติ”

          รายแรกยังหยิบเสื้อยืดคอวี กับกางเกงยีนส์มาใส่ ไม่ต่างจาก Look ที่มาจากบ้าน แปลกตาไปนิดเดียวที่หยิบรองเท้าผ้าใบสีฟ้าแบบไม่ผูกเชือกมาสวม

          รายที่สองก็เหมือนกัน หยิบเสื้อเชิ้ตลายสก็อตสีเขียวๆ กับผ้าใบสีเขียว มาใส่เข้ากัน โดยท่อนล่างยังเป็นยีนส์

          แม้ฉันไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญแฟชั่น ก็ยังนึกในใจว่า “ไม่ผ่าน” แน่ เพราะทั้ง 2 คนยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่กรรมการบอกให้แต่งตัว “ดูดีขึ้นกว่าปกติ” เลย

แล้วก็จริงอย่างว่า….

          นักดนตรีแจ๊ส ที่ใส่แต่เสื้อยืดคอวี ได้รับคำแนะนำว่า ให้ลองสวมเสื้อแบบอื่นๆ ดูบ้าง เช่น หยิบแจ๊คเก็ตสวยๆ มาสวมทับเสื้อยืด หรือเสื้อยืดตัวเดียวก็ให้เลี่ยงคอวี ที่มันเน้นความผอมกะหร่อง โดยเฉพาะในเวลาเป่าแซ็กโซโฟน ที่คนก็คงจับตาไปที่การเป่าแซ็กและเห็นความผอมแห้งตั้งแต่ช่วงลำคอไปถึงหัวไหล่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          กรรมการยังแนะนำอีกว่า การแต่งตัวนั้น ไม่ได้หมายความเฉพาะเสื้อ กับกางเกง แต่ยังรวมไปถึง Accessory หรือเครื่องประดับ ตั้งแต่ หมวก เข็มขัด เข็มกลัด กำไลหรือสายรัดข้อมือด้วย ดังนั้น ถ้าแต่งตัวเรียบเกินไปแบบ “เสื้อตัว กางเกงตัว” ก็ลองนึกถึงเครื่องประดับที่ช่วยลดความธรรมดาให้ได้บ้าง  พอบอกให้เขาเลือกแจ็คเก็ตมาสวมปุ๊บ ก็ดูเลยว่ามันมีความ “แตกต่าง”

          นักดนตรีคนที่สองซึ่งเป็นมือกีตาร์ ได้รับคำชมว่าเป็นคนไม่กลัวสี คือกล้าเลือกเสื้อผ้าที่มีสีสันมาใส่ แต่สิ่งที่กรรมการต้องการก็คือเห็น Look ใหม่บ้าง

          โจทย์ที่ 2 คือการแต่งตัวขึ้นเวทีหรูในโรงแรมระดับห้าดาว นักดนตรีคนแรกหยิบแจ๊คเก็ตมาสวมทับเสื้อยีดคอวี (อีกตามเคย) แต่เลือกรองเท้าหนังสีดำมาสวม โดยให้เหตุผลว่าต้องการความสุภาพขึ้น ปรากฏว่าคราวนี้กรรมการไม่ชอบแจ็คเก็ตตัวโคร่งๆที่เขาเลือก เพราะทำให้ดู Look โดยรวมไม่สง่าเลย กรรมการท่านหนึ่งบอกว่า “ดูจนมาก” คือไม่เหมาะกับรสนิยมของแขกที่มานั่งดูดนตรีในโรงแรมห้าดาว กรรมการอีกท่านให้ลองถอดเสื้อตัวนอกเหลือแต่เสื้อยืดคอวีลายทางสีน้ำเงินคาดดำแขนยาวตัวเดียว แล้วให้หยิบหมวกสีดำมาสวม………โอ้โห!!! ใช่เลยแฮะ ดูดีมีระดับขึ้นมาเลย และพอเขาหยิบแซ็กโซโฟนสีทองมาคล้องคอโพสท์ท่าดู กรรมการถึงกับประสานเสียงกันชม…เพราะสีทองของแซ็กโดดเด่นมากเมื่ออยู่กับเสื้อสีน้ำเงินดำนั่น

ส่วนมือกีตาร์ก็ผ่านโจทย์นี้ไปได้อีก ด้วยการหยิบแจ็คเก็ตสูทสีดำมาสวมทับเสื้อเชิ้ตสี กางเกงสีดำ แต่มีคำเตือนเรื่องรองเท้าสีขาวมีลายวิบวับ ที่เขาเลือกมาสวม ว่า รองเท้าสีขาวนั้นเป็นดาบสองคมในการแต่งตัว ถ้าไม่เกิดก็ดับไปเลย….กรรมการท่านหนึ่งบอกว่า “รองเท้าขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้ดีมีเงิน…เพราะนอกจากจะมีเงินซื้อรองเท้าสีขาวแบบสวยราคาแพงแล้ว ยังต้องมีเงินดูแลรักษาไม่ให้มอซอด้วย คนมีตังค์เขาใช้รองเท้าหรือเสื้อผ้าสีขาวกันแค่ไม่กี่ครั้ง เพราะพอสีเริ่มมอเริ่มเพี้ยน มันก็หมดราคา”

          อีกเรื่องที่นักร้อง นักดนตรี ต้องนึกไว้เสมอคือ รองเท้าสีขาวจะเป็นที่สะดุดตามาก “ถ้าอยากให้คนเขาดูหน้าดูตา หรือฟังเพลง มากกว่ามองเท้า ก็จงเลี่ยงรองเท้าสีขาว และส่วนใหญ่เมื่ออยู่บนเวที ระดับสายตาคนดูก็จะอยู่ระดับเดียวกับเท้า รองเท้าจึงจะเด่นกว่าหน้าไม่ได้เชียว”

โจทย์สุดท้าย คือการแต่งตัวขึ้นรับรางวัลในงานใหญ่ ทั้ง 2 คนเลือกสูทมาสวมทับเสื้อเชิ้ต และท่อนล่างเป็นกางเกงสแล็ค คนที่สองก็ผ่านอีก แต่คนแรกยังโดนติ ด้วยความที่เรียบเกินไป เสื้อเชิ้ตเทา สูทกางเกงสีดำ แต่กลับใสรองเท้าหนังสีน้ำตาล!!!

          กรรมการซึ่งล้วนแต่เป็นดีไซเนอร์แถวหน้าของเมืองไทยให้ความรู้ว่า ชุดสีดำกับรองเท้าสีน้ำตาลเป็นสิ่งต้องห้ามค่ะ เว้นเสียแต่ว่าในเครื่องแต่งกายจะมีสีน้ำตาลปรากฏอยู่บ้าง เสื้อเชิ้ตสีเทาก็ดูมอไปนิดเมื่อต้องขึ้นเวทีใหญ่ อาจเป็นเชิ้ตสีขาวตัดกับสูทดำไปเลย หรือเล่นสีดำทั้งตัวนอกตัวใน ก็จะมีความเป็นแฟชั่นมาก….เอาล่ะ….ทีนี้จะแก้โจทย์ให้ชายหนุ่มคนนี้อย่างไรเมื่อแต่งตัวพลาดไปแล้ว……กรรมการลองให้เขาหยิบหมวกสีน้ำตาลขึ้นมาสวม…โช๊ะ!!!! แก้ได้อีกแล้วค่ะ ทุกคนถึงกับถอนหายใจ แล้วก็พูดเกือบจะพร้อมกันว่า “เออ…ต้องอย่างนี้”

          คำแนะนำที่ดิฉันชอบก็คือ ผู้ที่มีอาชีพเป็นดารา นักร้อง นักดนตรี ให้ถามตัวเองว่าเราเป็น Entertainer เพื่อสนอง Need ตัวเอง หรือเพื่อสร้างความสุขให้คนอื่นกันแน่ ถ้ามีความสุขในการสร้างความสุขแก่ผู้อื่น ก็จะรู้สึกว่าต้องแต่งตัวให้ดีเมื่อจะต้องไปในสถานที่ที่คนจะต้องจ้องมองด้วย เพราะการแต่งกายดีก็คือการทำให้คนที่มองเรา ชื่นชมเรา มีความสุขอย่างหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้น จะแต่งตัวเอาแต่ความสบายของตัวเองไม่ได้……

          ที่สำคัญคือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะไป และโดดเด่นพอที่จะไม่ถูกกลืนหายไปในงานที่มีคนมหาศาล หรือขึ้นเวทีรับรางวัลอะไร ก็ต้องดูสง่างามสมเกียรติของรางวัลนั้นด้วย

          รายการนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์เรื่องการแต่งกายมากทีเดียวค่ะ บางอย่างอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อลองสลับสับเปลี่ยน เอาออก หรือเติมลงไป ก็ช่วยยกระดับการแต่งกายของเราได้อย่างคุ้มค่า…แต่ดิฉันแนะนำเพิ่มเติมนะคะว่า นอกจากการแต่งตัวที่ถูกกาลเทศะแล้วต้องรู้จักฐานะและประเมินกำลังเงินในกระเป๋าของเราด้วยค่ะ ว่าจะลงทุนในเรื่องนี้ได้แค่ไหนที่จะไม่เดือดร้อน@

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.