
นามสกุลพระราชทาน ในรัชกาลที่ ๖

ในสมัยก่อนประเทศสยามยังไม่มีการใช้นามสกุล มีเพียงชื่อที่บิดามารดา หรือผู้เป็นที่เคารพนับถือตั้งให้ การจะรู้ว่าใครเป็นใครจึงต้องจำแนกจากรูปลักษณ์ หรือต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครและตั้งบ้านเรือนที่ใด ดังเรียกกันว่า “ฉายา” การไม่มีชื่อสกุลประจำตระกูลนี้ เป็นเหตุให้เกิดความขัดข้องยุ่งยากต่าง ๆ นานัปการไม่ว่าทางราชการหรือทางส่วนตัว หรือในทางปกครองหรือทางศาล ซึ่งเกี่ยวกับจะต้องให้ความคุ้มครอง ความยุติธรรมตลอดจนการลงโทษหรือในกรณีอื่น ๆ ก็เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖” เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๕๕ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๖ เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมืองตลอดทั่วพระราชอาณาจักรเพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักสืบไป อีกทั้งในรัชกาลของพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสกุลแก่พสกนิกรถึง ๖,๔๖๔ นามสกุล อย่างไพเราะและมีความหมายบ่งบอกที่มาของวงศ์ตระกูล ติดตามรายละเอียดได้ใน “เล่าเรื่องไทย ๆ กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง” ตอน นามสกุลพระราชทาน ในรัชกาลที่ ๖
