Select Page

ดนตรีทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์

ดนตรีทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์

จากการศึกษาพบว่า ดนตรีส่งเสริมพัฒนาการทางสมองการเรียนรู้ การใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กโดยตรง กิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวจะช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายและขวาให้ทำงานอย่างสมดุล ขณะฟังดนตรีเด็กจะรู้สึกผ่อนคลายปล่อยความคิดจินตนาการไปตามบทเพลง ซึ่งส่งผลดีต่อสมองซีกขวา ส่วนตัวโน้ตหรือจังหวะเคาะดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายด้านภาษา คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ ดังนั้นดนตรีจึงช่วยพัฒนาความฉลาดของเด็กได้อย่างแท้จริง

          การใช้ดนตรีกับเด็กเป็นสื่อการเรียนรู้ เน้นเล่นกิจกรรมดนตรีอย่างอิสระและเหมาะสม จะช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเด็กวัยแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ เป็นวัยที่เด็กมีการเรียนรู้มากที่สุดดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ อาจารย์คณะศิลปนิเทศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างการประชุมคณะทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการประสานงานนโยบายการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในหัวข้อ “ดนตรีกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย” จัดโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมกับกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาในประเทศไทยมุ่งเน้นการเรียนการสอนให้เด็กมีความเป็นเลิศทางวิชาการผ่านการอ่านและการท่องจำ แต่ละเลยการพัฒนากระบวนการฝึกให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะความคิดสร้างสรรค์จะส่งผลดีต่อเด็กมหาศาล ดังนี้

          1.เด็กมีความคล่องตัวในการคิด เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ฉับไว สามารถคิดหาทางออก หรือแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว2.มีความคิดยืดหยุ่น ไม่คิดแบบตายตัว หรือคิดได้หลายประเภทหลายแง่มุม 3.มีความคิดริเริ่ม แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร และ 4.มีความละเอียดลออ ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนักคิดหรือนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ล้วนพัฒนางานของตนผ่านการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทั้งสิ้น

          อาจารย์สุพาพร กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยในหลายประเทศระบุตรงกันว่า เครื่องมือในการพัฒนากระบวนการฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่เด็กได้ง่ายและดีที่สุดก็คือการใช้ดนตรีเป็นสื่อ เพราะเป็นกิจกรรมที่สนุก เด็กจะชอบมากที่สุด โดยวัยแรกเกิดจนถึง 6

          ขวบ เป็นวัยที่เด็กมีการเรียนรู้มากที่สุด สมองเด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตโดยมีการสร้างเครือข่ายของสมองและพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบเซลล์ประสาทมากกว่าช่วงอื่นๆ ของชีวิต หากถูกปิดกั้นหรือไม่ได้รับการส่งเสริมที่ดีในช่วงนี้ ก็จะทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตน

          “จากการศึกษาพบว่า ดนตรีส่งเสริมพัฒนาการทางสมองการเรียนรู้ การใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กโดยตรง กิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวจะช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายและขวาให้ทำงานอย่างสมดุล ขณะฟังดนตรีเด็กจะรู้สึกผ่อนคลายปล่อยความคิดจินตนาการไปตามบทเพลง ซึ่งส่งผลดีต่อสมองซีกขวา ส่วนตัวโน้ตหรือจังหวะเคาะดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายด้านภาษา คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ ดังนั้นดนตรีจึงช่วยพัฒนาความฉลาดของเด็กได้อย่างแท้จริง” ดร.สุพาพร กล่าว

          ดร.แพง ชินพงศ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรี โรงเรียนบ้านขนมดนตรี กล่าวว่า ดนตรีเป็นส่วนประกอบของกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเด็ก ดนตรีสำหรับเด็ก คือ ดนตรีที่เด็กแสดงออกตามความพร้อมการรับรู้ และตามความสนใจของเด็กแต่ละคนกิจกรรมของดนตรีสำหรับเด็กมีรูปแบบ เช่น การฟัง การร้องเพลง การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ การเล่นเครื่องดนตรี ฯลฯซึ่งการเรียนการสอนหรือการทำกิจกรรมประกอบดนตรีในลักษณะการออกคำสั่งหรือเน้นให้เด็กทำเลียนแบบ

          เช่น ร้องเพลง เต้นประกอบจังหวะ หรือโบกไม้โบกมือตามคุณครู จะทำให้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กเกิดขึ้นน้อยมากหรืออาจไม่เกิดเลย เมื่อเทียบกับให้เด็กได้เต้นรำ เคลื่อนไหว แสดงท่าทางตามจินตนาการของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้มากกว่า

          ดร.แพง กล่าวต่อว่า พ่อแม่และครู จึงควรใช้ดนตรีเป็นสื่อการสอนเพื่อช่วยเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านต่างๆ เช่น ช่วยจัดกิจกรรมทางดนตรีให้เด็ก เน้นให้เด็กใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเองอย่างเต็มที่ เช่น ให้ร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี

          อย่างเป็นอิสระตามแต่ใจของเด็ก รวมทั้งจัดหาบทเพลงที่ดีเหมาะสมกับเด็กให้ฟัง เช่น เพลงสำหรับเด็ก เพลงกล่อมเด็ก และเพลงบรรเลงคลาสสิก ไม่ควรให้เด็กฟังเพลงที่มีเนื้อหาล่อแหลม ใช้ถ้อยคำหรือมีจังหวะรุนแรง เพราะจะส่งผลเสียต่อความรู้สึกนึกคิด อารมณ์และจิตใจของเด็กได้

          ที่สำคัญไม่ควรแสดงอาการไม่พอใจหรือขบขันหากเด็กคิดท่าทางสร้างสรรค์แปลกๆ แต่ใช้วิธีแนะนำหรือตักเตือนหากเห็นว่าเด็กแสดงท่าทางไม่สุภาพหรือหยาบคายแทน

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.