Select Page

บัญญัติ 10 ประการ รู้ทัน!พิษสุนัขบ้า

บัญญัติ 10 ประการ รู้ทัน!พิษสุนัขบ้า

เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ให้ฟังว่า “ข้อสำคัญหลัก” ต้องฟันธงไปที่สัตว์นำโรค รวมถึงความประมาทหรือคุณภาพ จนกระทั่งที่มาที่ไปของวัคซีนพิษสุนัขบ้าก็ตาม เป็นอุทาหรณ์เตือนใจถึงภัยที่ใกล้ตัว

 

 

          ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองและศูนย์ความร่วมมือ องค์การอนามัยโลก ด้านไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

          เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ให้ฟังว่าข้อสำคัญหลัก ต้องฟันธงไปที่สัตว์นำโรค

          คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า หากคิดว่าลูกสุนัขและแมว ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า แต่จริงๆแล้ว…สุนัขและแมว อายุเท่าใดก็ตาม สามารถแพร่โรคได้ แม้จะมีอายุเพียง 1 เดือนเท่านั้นความเข้าใจผิดข้อต่อมา หากคุณคิดว่า

  สุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น?  ข้อนี้ ความเป็นจริง…สุนัขและแมว เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทุกฤดูกาล

          ฉะนั้น การฉีดวัคซีนในสัตว์ไม่จำเป็นต้องรอฤดูกาล และคนเมื่อถูกกัดไม่ว่าฤดูไหนก็ตามต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงข้อเข้าใจผิดต่อมา คิดว่าหากถูกสุนัขหรือแมวกัดโดยอาการของสัตว์ปกติดี ก็ไม่น่าจะเป็นบ้า

          สุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อโรคได้ ถึง 10 วัน ก่อนจะแสดงอาการ หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ถ้าสัตว์ดูยังปกติอย่านิ่งนอนใจ ต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน และจับแยกและกักขังสุนัขและแมวนั้นๆ  หากแสดงอาการผิดปกติ ต้องตัดหัวนำไปส่งตรวจทันที ถ้าผ่าน 10 วันไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

          ความเข้าใจผิดประการที่ 3 คิดว่าการฉีดวัคซีนในสุนัข–แมวจะป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100%

          ข้อนี้ ดร.สุภาภรณ์ บอกว่า หากสัตว์ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าแล้วและอยู่ในระยะฟักตัว การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล ดังนั้น การนำสุนัขและแมวมาเลี้ยงต้องรู้ประวัติพ่อแม่ และการเลี้ยงดูที่ผ่านมาอย่างชัดเจน หรือใครที่คิดว่าสุนัขหรือแมวที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่มีโอกาสเป็นบ้า ในความเป็นจริงยังมีโอกาสเป็นบ้าได้ ที่ปฏิบัติกันสุนัขและแมวต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้งในปีแรก และ 1 เข็มต่อปี มิฉะนั้น ยังมีโอกาสเป็นบ้าได้เมื่อได้รับเชื้อ

          ต่างกับบางประเทศที่เจริญแล้ว สุนัข แมวหลังจากที่ได้รับการฉีดครั้งแรกแล้ว ไม่ต้องฉีดประจำทุกปี เนื่องจากโอกาสที่สุนัข แมวจะได้รับเชื้อมีน้อยมากเหลือเกิน และจะทำการฉีดกระตุ้นต่อเมื่อมีการสัมผัสโรคจริงๆเท่านั้น

          แตกต่างจากประเทศไทย เป็นประเทศที่ชุกชุมด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข โอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับเชื้อค่อนข้างมีสูง กรณีที่ห้า เข้าใจผิดคิดว่า สุนัขและแมวที่เราเลี้ยงและเคยได้รับวัคซีนมาก่อนถูกสุนัขบ้ากัด ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค

          ดร.สุภาภรณ์ ย้ำว่า ถ้าจะให้มั่นใจเต็มที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำ และกักขังดูอาการอย่างน้อย 45 วัน

          แต่ถ้าสุนัข…แมวตัวนั้น ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำลายเพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้ฉีดวัคซีนทันทีและกักขังดูอาการ 6 เดือนและฉีดวัคซีนซ้ำ 1 เดือนก่อนปล่อย

          ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในแง่การแพร่เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ไม่เฉพาะสุนัขและแมว เท่านั้นที่แพร่เชื้อสู่คนได้ สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดก็เป็นโรคและแพร่โรคได้เช่นกัน

          การติดเชื้อในคนและการป้องกันโรค คุณหมอธีระวัฒน์ อธิบายว่า ที่คิดกันว่าการกัดคน ทั้งๆที่ไม่ได้ถูกแหย่เป็นเครื่องแสดงว่าสุนัข แมวนั้นๆเป็นบ้า ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะสุนัข แมวที่เป็นบ้า กัดคนโดยที่แหย่หรือไม่ได้แหย่ก็ได้ เมื่อถูกกัด ต้องไปรับการรักษาเช่นกัน

          การข่วนด้วยเล็บ ก็ทำให้ติดโรคและตายได้ เนื่องจากสุนัข…แมวเลียอุ้งตีนและเล็บ อาจมีไวรัสจากน้ำลายติดค้างอยู่ที่เล็บ และแพร่เชื้อได้หากแผลมีเลือดออกแม้เพียงซิบๆ

          กรณีถูกสุนัขกัด ความเข้าใจผิดที่ว่า…ให้รีบเอารองเท้าตบๆ หรือราดด้วยน้ำปลาจะช่วยฆ่าเชื้อได้

          คุณหมอธีระวัฒน์ เน้นน้ำเสียงว่า จริงๆแล้ว…เมื่อถูกกัดต้องล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพบแพทย์ทันที เพื่อล้างแผลอีกครั้ง ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาไอโอดีน ควรหลีกเลี่ยงการเย็บแผล ถ้าจำเป็นเย็บได้หลวมๆ การเย็บปิดแผลจะส่งเสริมให้เชื้อเข้าเส้นประสาทได้ไวและเร็วขึ้น การปฏิบัติตามความเชื่อผิดๆเหล่านี้ ทำให้มีคนเสียชีวิตมานักต่อนัก

   ที่คิดกันอีกว่า เมื่อถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อกัด จะมีโอกาสรอด…แม้ไม่ได้รับการรักษา?

          ความเข้าใจผิดข้อที่ 9 นี้แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย…ถ้าคนถูกกัดแล้วมีอาการ จะเสียชีวิตทุกรายภายใน 5-11 วัน แต่คนที่รอด ไม่ได้หมายความว่าคาถาดี ทั้งนี้ เพราะไม่มีไวรัสในน้ำลายตลอดเวลาซึ่งพบได้ 30–80 เปอร์เซ็นต์ หรือเฉลี่ยครึ่งต่อครึ่ง

          ความเข้าใจผิดข้อสุดท้าย ข้อที่ 10 คิดว่ารอให้สุนัข แมว ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อน จึงค่อยพาคนที่ถูกกัดไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน คุณหมอธีระวัฒน์ และ ดร.สุภาภรณ์ ประสานเสียงบอกตรงกันว่า ข้อนี้การฉีดยาป้องกันที่ได้ผลสูงสุด อยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด

          และถ้าแผลมีเลือดออก ไม่ว่าตำแหน่งใดของร่างกายต้องได้เซรุ่ม (อิมมูโน โกลบูลิน) ชนิดสกัดบริสุทธิ์ ฉีดที่แผลข้อมูลสุดท้าย ปิดท้ายด้วยเรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า…จากการประชุมองค์การอนามัยโลก เดือนตุลาคม 2547 และตุลาคม 2553, การประชุมนานาชาติ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2548 มีหลักฐานชัดเจนว่า

          ถึงแม้จะรักษาทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้ (แม้ว่าจะเกิดได้น้อยมากๆก็ตาม)

          ในประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปี 2542 มีรายงาน พบผู้ป่วยตาย 2 ราย และในปี พ.ศ.2552 พบผู้ป่วย 1 ราย แม้ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนและเซรุ่ม และมีผู้ป่วยตายในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆในทำนองเดียวกัน

          ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมสัตว์นำโรค โดยเฉพาะสุนัขและแมว และคนที่มีโอกาสถูกสุนัขหรือแมวกัดบ่อยๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า ซึ่งฉีดเพียง 3 เข็มโดยที่แม้ว่าจะถูกกัดในอนาคต 10-20 ปีก็ตาม เพียงได้รับวัคซีนกระตุ้น 2 เข็ม โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่มก็ปลอดภัยแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าในคนมีอาการซับซ้อน และไม่จำเป็นต้องมีอาการกลัวน้ำ กลัวลม หรือมีน้ำลายมาก แต่มีอาการคล้ายโรคทางสมองทั่วไป หรืออาการอัมพาต แขนขาอ่อนแรง ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยอาจจะไม่มีประวัติถูกสัตว์กัด หรือถูกกัดบ่อยมากจนคิดว่าไม่สำคัญ.

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.