Select Page

ร.ร.มัธยมมะกันเปิดชั้นเรียน ‘โดรน101’

ร.ร.มัธยมมะกันเปิดชั้นเรียน ‘โดรน101’

ในห้องเรียนห้องหนึ่งของโรงเรียนมัธยมปลายเซาท์ ริเวอร์ ในเมืองแอนนาโปลิส รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ที่มีครู 2 คน กับนักเรียนมัธยมปลาย 12 คน กำลังศึกษาวิธีการสร้างและประยุกต์ใช้ “โดรน” ยานบินไร้คนขับ เพื่อรองรับการทำงานในอนาคตที่จะมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านโดรนมากขึ้นในอนาคต

ภาพการทดลองใช้ 'โดรน' ของนักเรียนมะกัน

ภาพการทดลองใช้ ‘โดรน’ ของนักเรียนมะกัน

หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า โดรน แต่อาจจะไม่เข้าใจในนิยามที่แท้จริงของคำสั้นๆ แต่มีความหมายมากๆ ในปัจจุบันและอนาคตคำนี้ โดรน หมายถึง อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Avaiation Vehicle) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ยูเอวี ที่สามารถใช้บินในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาโดรนในหลากรูปแบบทั้งในการทหาร ที่ใช้โดรนขนาดใหญ่ติดขีปนาวุธและเรดาร์ตรวจการ คอยยิงทำลายเป้าหมายที่ต้องการโดยไม่ต้องเสี่ยงการสูญเสียนักบินรบเช่นแต่ก่อนที่ต้องอาศัยเครื่องบินรบ หรือเฮลิคอปเตอร์บินไปทำลายเป้าหมาย นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาโดรนในการสื่อสาร การบันเทิง เช่น เฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ หลายใบพัดที่บินได้นิ่ง และรับน้ำหนักได้มาก เพื่อใช้เป็นฐานติดตั้งกล้องวิดีโอ หรือกล้องถ่ายภาพนิ่ง เพื่อเก็บภาพกิจกรรมในมุมสูง หรือมุมที่แปลกๆ ที่กล้องบนพื้นดินไม่สามารถทำได้

การใช้โดรนเริ่มต้นจากกองทัพสหรัฐอเมริกา อิสราเอล เป็นแห่งแรกๆ ก่อนกลายเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในกิจการของเอกชนในปัจจุบัน และเชื่อกันว่าจะมีการใช้โดรนหลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้นในอนาคต

ภาพห้องเรียนหลักสูตร 'โดรน101'

ภาพห้องเรียนหลักสูตร ‘โดรน101’

ดังนั้นการปูพื้นความรู้ให้นักเรียนมัธยมปลายเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาโดรนรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่องถึงวิสัยทัศน์ของผู้วางหลักสูตรจริงๆ

ที่โรงเรียนเซาท์ ริเวอร์แห่งนี้ มีการจัดตั้งวิชา “ระบบยานบินไร้คนขับเบื้องต้น” หรือ “โดรน 101” โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงิน และวัสดุประกอบการเรียนการสอน จากบริษัท เออาร์ไอเอ็นซี ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและงานวิศวกรรม โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มละ 3 คน เพื่อศึกษาระบบการทำงานของควอดคอปเตอร์ ดีเจไอ เฟลม วีล หรือ เฮลิคอปเตอร์แบบ 4 ใบพัด โดยแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนเป็นส่วนๆ ทั้งส่วนของนักบินที่ทำหน้าที่บังคับควบคุม ผู้สังเกตการณ์ที่จะคอยติดตามตำแหน่งของโดรนในอากาศอยู่ตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ที่จะคอยแจ้งเตือนผู้อื่นในกรณีที่อาจจะมีอันตรายเกิดขึ้นจากโดรนที่ทีมของตนรับผิดชอบ และควบคุมความปลอดภัยในการใช้งานโดรน

ภาพคุณครูกำลังสอนนักเรียนทำโดรน

ภาพคุณครูกำลังสอนนักเรียนทำโดรน

ถ้านักเรียนต้องการพัฒนาโดรนของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เช่น การติดตั้งฐานติดกล้องวิดีโอเข้าไปบนตัวโดรน ก็สามารถทำได้โดยใช้โปรแกรมออกแบบสั่งการพิมพ์ชิ้นส่วนแบบสามมิติ (3-D Printer) พิมพ์ชิ้นส่วนพลาสติกขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง

รอล์ฟ สเตฟฟานี ผู้อำนวยการอาวุโส แห่งศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยี เออาร์ไอเอ็นซี เปิดเผยว่า ชั้นเรียนนี้จะเปิดเรียน 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากเออาร์ไอเอ็นซี เข้ามาร่วมให้ความรู้ และในอนาคตจะเปิดหลักสูตรการใช้โดรนขั้นสูงเพื่อสอนให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการออกแบบ บังคับโดรนให้เล่นท่าทางกายกรรมกลางอากาศ รวมทั้งแนวทางการใช้โดรนในเชิงธุรกิจอีกด้วย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2556 หน้า 14

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.