Select Page

A NEW EARTH โลกใหม่ ตื่นรู้สู่จุดหมายแห่งชีวิต

A NEW EARTH โลกใหม่ ตื่นรู้สู่จุดหมายแห่งชีวิต

          “…การไม่ต่อต้าน ไม่ตัดสิน และไม่ยึดติด คือลักษณะสามประการของชีวิตที่มีอิสระและตื่นรู้อย่างแท้จริง..”เข้าใจความหมายของคำว่า “ตื่นรู้”จากหนังสือเล่มนี้ และลองนำมาปรับใช้กับชีวิตให้มีความสุข สงบนิ่ง และ เบิกบานดูสิคะ

          เมื่อก่อนดิฉันจะมีอาการที่เรียกว่า “จิตตก” บ่อยกว่าทุกวันนี้เยอะ “จิตตก”ที่ว่านี้ คือกังวลไปเสียทุกเรื่อง กลัวทำผิด กลัวสิ่งที่ตัวเองพูด ทำ หรือแม้แต่ “คิด”

จะผิดหรือไม่ถูกใจคนรอบข้าง กลัวคนโกรธ กลัวคนเกลียดขี้หน้า ทำอะไรจึงระมัดระวังไปหมด ทั้งๆที่ บางเรื่องก็สร้างความเหนื่อย ความเครียด แบบไม่เข้าท่า

          หน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้ประกาศข่าว หรือสื่อสารมวลชน ที่สามารถชี้นำผู้ชมผู้ฟังได้นั้น เป็นหน้าที่พิเศษที่ต้องมีความระมัดระวังอย่างมากอยู่แล้วในการทำงาน แต่อะไรที่ “ตึง” หรือ “สุดโต่ง” เกินไปก็ไม่เป็นผลดี คนที่อยู่ในอาชีพเดียวกับดิฉันมากมายจะค่อนข้างเครียด มุ่งมั่นแข่งขันจนอาจเกินพอดี เรามักกลัวดูโง่ กลัวพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง กลัวคนไม่ชอบ กลัวการอยู่แถวหลัง (แม้บางครั้งแถวหลังอาจสบายกว่าแถวหน้า) ถ้าเป็นผู้หญิงประเภท “ผู้ยิ้ง..ผู้หญิง” ก็ยิ่งจะจิตตกเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องเพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่นกลัวไม่สวย กลัวอ้วน กลัวแก่ กลัวถูกนินทา กลัวไม่ก้าวหน้า กลัวถูกเปรียบเทียบ …..ฯลฯ

          “A New Earth” หรือชื่อภาษาไทยว่า “โลกใหม่” ให้บทเรียนเกี่ยวกับการ “ตื่นรู้” ที่ดิฉันปลื้มมากๆ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Eckhart Tolle (เอกฮาร์ต โทลเล่) เจ้าของผลงานติดอันดับขายดีของนิวยอร์ก ไทมส์ซึ่งได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 30 ภาษาทั่วโลก เช่น “ The Power of Now” และ “Stillness Speak” เป็นต้น ดิฉันหาซื้อหนังสือเล่มนี้ตามคำแนะนำของโอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรผิวสีคนโปรด ซึ่งดิฉันต้องติดตามรายการของเธอทาง UBC ตลอด แทบไม่น่าเชื่อว่าบ้านเราก็มีด้วย เห็นปุ๊ปก็คว้ากลับบ้านอ่านจบภายใน 2 วันเลยค่ะ (เป็นหนังสือหนึ่งในไม่กี่เล่มที่ดิฉันอ่านเร็วมากเมื่อเทียบกับความหนา 300 กว่าหน้า) คุณมนตรี ภู่มี เขียนไว้ในคำนำผู้แปลว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราแยกแยะความแตกต่างระหว่าง “คนที่เป็นเรา” กับ “คนที่เราเป็น” ได้

          “คนที่เป็นเรา” แท้จริงคือตัว “อัตตา” ที่เข้ามาครอบงำตัวเรา จนเราไม่รู้จัก (หรือลืม) “คนที่เราเป็น” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีอารมณ์โกรธ (หรืออัตตา) เข้ามาครอบงำ จนทำให้ขาดสติสัมปชัญญะและลงมือกระทำสิ่งที่โดยปกติเราจะไม่มีวันทำเลย แต่พออารมณ์โกรธและสภาพภายในเราสงบลง (เป็นอิสระจากอัตตาชั่วขณะ) เราก็มานั่งเสียใจในสิ่งที่เพิ่งทำไป และไม่คิดเลยว่าเราจะทำอะไรลงไปได้ถึงขนาดนั้น นี่ก็เพราะเราไม่รู้จักตัวเรา ไม่รู้จักอัตตาที่ลอบเข้ามาเป็นตัวเรานั่นเองที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ อัตตาที่ว่านี้อาจครอบงำเราทั้งชีวิต ให้เรายึดมั่นถือมั่นไปเสียทุกอย่างเพราะเราไม่รู้ว่ามัน “ไม่ใช่เรา”

          ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกถึงคำสอนในพระพุทธศาสนาขึ้นมาแทบจะทันที แต่ถ้อยคำสำนวน และการอธิบายเรื่องการตื่นรู้แบบฝรั่ง ก็ทำให้ได้ซึมซับอีกแง่มุมหนึ่งของพุทธปรัชญาแบบที่ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจ

          ลองอ่านบางช่วงบางตอนที่ดิฉันคิดว่าช่วยแก้อาการ “จิตตก” เพราะ “อัตตา” ได้ดูสิคะ

บทบาท

          “…………มนุษย์เราย่อมแตกต่างกันมากมาย สิ่งที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช่ว่าอะไรคือหน้าที่ที่คุณต้องกระทำในโลกนี้ แต่อยู่ที่คุณยึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ของคุณ จนถึงขนาดที่มันครอบงำคุณ และกลายเป็นบทบาทที่คุณต้องแสดงหรือไม่ เมื่อคุณแสดงบทบาทต่างๆ คุณก็ขาดความรู้ตัว เมื่อคุณจับได้ว่าคุณกำลังแสดงบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง การตระหนักดังกล่าวจะสร้างระยะห่างระหว่างคุณกับบทบาทนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของความเป็นอิสระ….เมื่อคุณยึดมั่นถือมั่นกับบทบาทอย่างเต็มที่ คุณก็จะสำคัญผิดว่ารูปแบบพฤติกรรมนั้นๆ คือคนที่คุณเป็น และคุณก็จะเคร่งเครียดกับตัวเองอย่างหนัก คุณมอบหมายบทบาทแก่คนอื่นๆ ที่คล้อยตามบทบาทของคุณโดยอัตโนมัติ….การมีปฏิสัมพันธ์อันแท้จริงของมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากคุณสูญเสียตนเองไปกับบทบาทเสียแล้ว………………………ยิ่งคนเรายึดมั่นถือมั่นในบทบาทเฉพาะตัวมากเพียงใด ความสัมพันธ์ต่างๆ ก็ยิ่งจอมปลอมมากขึ้นเท่านั้น…………….”

ความสุขที่เป็นบทบาทหรือความสุขที่แท้จริง 

           “…………ในหลายกรณี ความสุขก็คือบทบาทที่คนเราแสดง และเบื้องหลังรอยยิ้มที่ฉาบอยู่ภายนอกนั้นมีความทุกข์เหลือคณาแฝงอยู่ ความซึมเศร้าเก็บกด สุขภาพกายใจเสื่อมถอย แสดงออกจนเลยเถิดที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อความทุกข์ถูกปิดบังอยู่ใต้รอยยิ้มภายนอกและประกายฟันขาว เมื่อมีการปฏิเสธ (บางครั้งแม้กระทั่งกับตัวเอง) ว่าไม่ได้มีทุกข์หนักหนาอะไรเลย…………….ถ้ามีทุกข์ ต้องยอมรับความจริงว่ามีทุกข์ แต่อย่าพูดว่า “ฉันเป็นทุกข์” ความทุกข์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคนที่คุฯเป็น ให้พูดว่า “มีความทุกข์ในตัวฉัน” แล้วก็ตรวจสอบมันดู ถ้าคุณพบตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือทำให้ตัวคุณหลุดพ้นจากสถานการณ์นั้น ถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็เผชิญหน้ากับมันแล้วพูดว่า “เอาล่ะ ตอนนี้มันก็เป็นแบบนี้แหละ ฉันยอมรับได้ ไม่เช่นนั้นฉันก็จะทำให้ตัวเองเป็นทุกข์”…………..สาเหตุสำคัญของความทุกข์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ใดๆเลย แต่คือความคิดของคุณที่เกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ ต่างหาก…………เช็คสเปียร์ว่าไว้ว่า “ไม่มีสิ่งใดชั่วหรือดี มีแต่ความคิดที่ทำให้เป็นเช่นนั้น”……………อย่าแสวงหาความสุข ถ้าคุณแสวงหาคุณจะไม่พบมัน เพราะการแสวงหาเป็นสิ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความสุข แต่การเป็นอิสระจากความสุขสามารถเกิดขึ้นได้เดี๋ยวนี้ โดยเผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นอยู่……………”

เลิกแสดงบทบาท 

           “……….ผู้อยู่ในฐานะที่มีอำนาจในโลกนี้ส่วนใหญ่ เช่น นักการเมือง คนดังทางโทรทัศน์ นักธุรกิจ หรือผู้นำศาสนา ต่างก็ยึดมั่นถือมั่นในบทบาทของตนอย่างเต็มที่ เว้นก็แต่บุคคลสำคัญเพียงไม่กี่คนเท่านั้น อาจถือกันว่า พวกเขาคือบุคคลวีไอพี แต่เขาก็เป็นเพียงแค่ผู้เล่นเกมแห่งอัตตาโดยไม่รู้ตัว…………………….ในโลกแห่งคนดังที่ต่างกำลังแสดงบทบาทนั้น มีคนไม่กี่คนที่ไม่ยอมแสดงภาพที่จิตสร้างขึ้นออกมา (บางครั้งแม้แต่ในโทรทัศน์ สื่อ และโลกธุรกิจ) แต่ทำหน้าที่ออกมาจากส่วนลึกแห่งแก่นแท้ของเขา

          …………ผู้ไม่พยายามแสดงตัวว่าเกินกว่าที่เขาเป็น แต่แค่เป็นตัวของเขาเองเหล่านี้ จึงมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ และมีแต่คนเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นผู้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในโลกนี้อย่างแท้จริง………พวกเขาคือผู้นำมาซึ่งจิตสำนึกใหม่ ไม่ว่าพวกเขาทำอะไรก็มีพลังเพราะเป็นไปในแนวทางที่มีจุดหมายเพื่อส่วนรวม…………

          …………เมื่อคุณไม่ได้แสดงบทบาทใดๆ นั่นก็หมายถึงว่า ไม่ได้มีตัวตน(อัตตา)ในสิ่งที่คุณทำ ไม่มีจุดหมายทางอ้อม อันได้แก่ปกป้องและเสริมสร้างตัวตนของคุณ ผลก็คือการกระทำของคุณจะมีพลังยิ่งๆ ขึ้น คุณจะพุ่งความสนใจไปที่สถานการณ์นั้นๆ ได้เต็มที่ คุณกลายเป็นหนึ่งเดียวกับมัน คุณไม่พยายามทำตัวเป็นคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ คุณจะมีพลังมากที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อคุณเป็นตัวคุณเองอย่างสมบูรณ์ แต่อย่าพยายามเป็นตัวคุณเอง นั่นเป็นบทบาทอีกบทบาทหนึ่ง สิ่งนี้เรียกกันว่า “ตัวฉันที่เป็นธรรมชาติ ที่เป็นไปเอง” ทันทีที่คุณพยายามเป็นนั่นเป็นนี่ คุณก็กำลังแสดงบทบาทอยู่ “แค่เป็นตัวคุณเอง” คือคำแนะนำที่ดี……………”

ปล่อยให้อัตตาลดลง 

           “………..หากมีคนบ่นว่าหรือวิจารณ์ตัวฉัน สำหรับอัตตาแล้วนี่คือการไปลดตัวตนลง มันจึงพยายามแก้ตัว แก้ต่าง หรือบ่นว่ากลับไปบ้าง ไม่ว่าคนอื่นจะถูกหรือผิดนั่นก็ไม่เกี่ยวกับอัตตา มันจะสนใจปกป้องตัวเองมากกว่าความจริง…………..

          ………..กลไกซ่อมแซมตัวอัตตาที่เกดขึ้นบ่อยที่สุดคือความโกรธ ซึ่งจะทำให้อัตตาพองฟูขึ้นมาชั่วคราวอย่างใหญ่โตมหาศาล….รุนแรงถึงขีดสุดก็คือการใช้กำลังรุนแรงและหลอกตัวเองในรูปเพ้อฝันใหญ่โต…………….

          …………การฝึกด้านจิตวิญญาณที่ทรงพลังก็คือการปล่อยให้อัตตาลดลงเมื่อมันเกิดขึ้น (อย่างรู้ตัว) เช่น เมื่อมีคนวิจารณ์ บ่นว่า หรือด่าคุณ แทนที่จะตอบโต้ หรือปกป้องตัวเองในทันทีทันควัน จงอย่าทำอะไรเลย ปล่อยให้ภาพตัวตนที่ถูกลบหลู่ ยังคงลดน้อยลงอยู่อย่างนั้น แล้วตื่นตัวทั่วพร้อม เพื่อรู้สึกรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ลึกๆ ภายในตัวคุณ สักครู่หนึ่งอาจรู้สึกอึดอัดเคร่งเครียดขึ้นมาบ้างราวกับคุณหงอลงไปมาก หลังจากนั้นคุณจะรู้สึกถึงความไพศาลที่อยู่ภายใน ซึ่งมีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างมหาศาล ตัวคุณไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดเลย จริงๆ แล้วคุณเพิ่มขยายขึ้นอีกด้วยซ้ำ และคุณจะตระหนักรู้ว่า…….หากคุณไม่ปกป้องหรือไม่พยายามเสริมสร้างรูปของตัวคุณเอง คุณก็จะก้าวพ้นออกมาจากการยึดมั่นถือมั่นในรูป ในภาพตัวตนทางจิตใจ…..และเปิดทางให้แก่นแท้ก้าวออกมา แล้วเมื่อนั้น พลังอันแท้จริง ซึ่งก็คือคนที่คุณเป็นก็จะส่องทะลุรูปที่ดูลดน้อยลงไป….

…………..ถ้าคุณพอใจกับการเป็นคนธรรมดาที่ไม่สลักสำคัญเป็นพิเศษ พอใจที่ไม่ใช่คนโดดเด่น คุณก็จะทำตัวกลมกลืนกับพลังแห่งจักรวาล…………….

 

 ความลับแห่งความสุข 

           “…………มีคำอยู่ห้าคำที่สื่อถึงความลับของศิลปะแห่งการดำรงชีวิต อันเป็นความลับแห่งความสุขและความสำเร็จทุกๆ อย่าง นั่นก็คือ “เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต” การเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตคือการเป็นหนึ่งเดียวกับปัจจุบัน กับ เดี๋ยวนี้……………..การไม่ต่อต้าน ไม่ตัดสิน และไม่ยึดติด คือลักษณะสามประการของชีวิตที่มีอิสระและตื่นรู้อย่างแท้จริง………………..”

          ที่ยกตัวอย่างมานี้แค่ส่วนน้อย แต่เชื่อว่าคงพอทำให้เห็นแนวคิดเรื่อง “การตื่นรู้” ของหนังสือเล่มนี้แล้วนะคะ ใครเป็นคอหนังสือแนวพัฒนาจิตวิญญาณแบบนี้ ก็ขอแนะนำให้อ่านดู ไม่เกี่ยวกับการนับถือศาสนาอะไรเป็นพิเศษ เพราะผู้เขียนเขาสังเคราะห์มาจากทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ ลัทธิเต๋า รวมไปถึงเซนเลยค่ะ ส่วนตัวดิฉันคิดว่านำมาใช้ได้จริงๆ และทำให้ใจเย็นลง เวลาเผชิญหน้ากับสถานการณ์อะไรที่ตึงเครียด หรืออัตตากำลังจะออกมาปกป้องตัวเอง ก็หยุดมันและหัวเราะกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น (ถึงจะตบะแตกบ้างก็เถอะ) ยอมรับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ดีขึ้น รับได้ทั้งคนชอบและไม่ชอบเรา ยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่าง และยอมรับว่าอ้วนขึ้นนิด ริ้วรอยเห็นชัดขึ้นหน่อย แค่นี้ก็รู้สึกว่าตัวเบาขึ้นเยอะแล้วล่ะค่ะ

……………………………………………………………………………………………………………

clip_image003clip_image004

          หน้าตาใจดีแบบนี้ล่ะค่ะ Eckhart Tolle (เอกฮาร์ต โทลเล่) ผู้เขียนหนังสือ “A New Earth” และหนังสือแนวพัฒนาจิตวิญญาณอีกหลายเล่ม ที่มีแฟนๆ ตามอ่านและฟังบรรยายทั่วโลก เคยร่วมกับโอปราห์ วินฟรีย์จัดห้องเรียนออนไลน์สำหรับผู้สนใจเรื่อง “การตื่นรู้” ต่อเนื่องนับเดือน มีคนลงทะเบียนเรียนออนไลน์กับเขาจำนวนมาก เว็บไซต์ของเขาคือ www.EckhartTolle.com ค่ะ

………………………………………………………………………………………………………………………

***ใครเคยอ่านหนังสือเล่มนี้เชิญแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้ หรือมีหนังสือแนวนี้แนะนำให้สมาชิกท่านอื่นๆ อ่านก็เชิญโพสท์แนะนำได้ด้านล่างค่ะ

About The Author

4 Comments

  1. montree

    ผมไม่มีอินเตอร์ใช้มาปีกว่าแล้ว นานๆ ทีถึงจะมาอาศัยใช้ที่ร้านเน็ต และเพิ่งมาพบข้อเขียนนี้เข้า “โดยบังเอิญ”
    ตอนแรกลังเลใจอยู่เหมือนกันว่าควรจะเขียนขอบคุณดีหรือไม่ เพราะในฐานะนักแปลแล้ว ผมก็เป็นแค่ผู้ที่เช่า “หอหนังสือ” ของคนอื่นอยู่ ทีนี้เวลามีคนกล่าวขวัญถึงห้องที่ผมเช่า การออกไปรับหน้าแทนก็ดูจะไม่เหมาะนัก ถึงแม้จะรู้สึก “ชื่นใจหายเหนื่อย” และอยากออกไปขอบคุณแทนเจ้าของห้องจริงๆ มากขนาดไหนก็ตามที
    แต่ผมเชื่อว่าเจ้าของห้องตัวจริง (โทลเล่)ก็คงจะรู้สึกยินดี ถ้าได้มาเห็นนักอ่านคุณภาพที่ “อ่านจริง” อย่างคุณหนิง จนเขียนบรรยายออกมาได้ดีแบบนี้

    ท้ายที่สุด ขอฝากบทแปลข้างล่างมาเป็นของกำนัลครับ

    จะเป็นยังไงนะ
    ถ้าคุณหลับ
    แล้วฝัน?
    และจะเป็นยังไงนะ
    ถ้าในฝันนั้น
    คุณได้ไปสวรรค์
    แล้วเด็ดดอดไม้สวยประหลาดมาดอกหนึ่ง?
    และจะเป็นยังไงนะ
    ถ้าเมื่อตื่นขึ้น
    คุณพบดอกไม้นั่นอยู่ในมือ?
    โอ แล้วจะเป็นยังไงนะ?
    – แซมวล เทย์เลอร์ โคลริดจ์ กวีชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1772-1834)

    พอคนเรา “ตื่นรู้” แล้วมาพบดอกไม้สวยประหลาดอยู่ในมือ ก็คงต้องเผชิญกับคำถามต่อมาที่ว่า “โอ! แล้วจะเป็นยังไงต่อนะ?”

  2. ning

    สวัสดีค่ะคุณมนตรี ดีใจสุดๆ ที่ผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บนี้เป็นผู้แปลหนังสือเล่มโปรดเสียด้วย
    ขอชื่นชมในผลงานแปลของคุณมนตรี และจะรอติดตามผลงานเล่มต่อไปค่ะ อย่าลืมส่งข่าวด้วยนะคะ

  3. Thaniya

    สวัสดีค่ะ จ๋าเพิ่งได้เข้ามาอ่านบทความ เนื่องจากหาซื้อหนังสือภาคแปลภาษาไทยไม่ได้ จ๋าตามหาข้อมูลหนังสือเล่มนี่ เพราะได้มีโอกาสอ่าน The Power of nowฉบับแปล เลยอยากอ่านผลงานของผู้เขียนท่านนี้เพิ่มเติมอีก
    …พอจะเป็นไปได้มั้ยค่ะ ที่จะเขียนบทความเพิ่มเติมข้อมูลหนังสือเล่มนี้ อยากอ่านเพิ่มค่ะ หาซื้อหนังสือไม่ได้
    …แต่ขอขอบคุณบทความนี้ของพี่นะคะ ที่ทำให้อย่างน้อยได้อ่านบางช่วงบางตอนของหนังสือเล่มนี่:) ขอบคุณจากใจค่ะ

  4. Thaniya

    E mail ของจ๋า plus_jar@outlook.com หากพี่ๆมีข้อมูลของหนังสือ A new earth ฉบับแปลไทย แนะนำจ๋า แจ้งได้เลยนะคะหากไม่เป็นการรบกวน ขอบคุณค่ะ

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.