Select Page

Social Network แบบทางสายกลาง(2)

Social Network แบบทางสายกลาง(2)

ก่อนหน้าที่จะมีเฟซบุ้ค และ ทวิตเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราอาจพุดคุยกับคนข้างๆ หรือคนที่เราไปพบเจอจริงๆ มากกว่านี้ (อย่างน้อยก็มีความพยายามมากกว่านี้) เรามีกิจกรรมในโลกส่วนตัวมากกว่านี้ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ทานข้าวนอกบ้าน หรือจะไปผจญภัยที่ไหน ก็เป็นเรื่องส่วนตัว และเราค่อนข้างจะใช้สมาธิกับทุกอย่าง….แต่ทันทีที่ออนไลน์ เราจะผละจากไปโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่นั่งข้างๆ อาหารแสนอร่อยที่อยู่ตรงหน้า

เรื่อง: สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

          พลังของ Social Network ส่งแรงกระเพื่อมไปในทุกวงการค่ะ ทั้งวงการข่าว นักการเมือง วงการบันเทิง และธุรกิจน้อยใหญ่ ที่หลายองค์กร ผู้บริหารสูงสุดกระโดดเข้ามาเล่นเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณ พาที สารสิน CEO แห่งนกแอร์ และผู้บริหาร บ.อสังหาริมทรัพย์อย่าง แสนสิริ เป็นต้น จนกลายเป็นตัวแทนขององค์กรนั้นๆ เพราะสามารถสื่อสารนโยบาย กลยุทธ์การตลาด ตอบคำถามของ Follower ได้แบบตัวต่อตัว นอกเหนือจากการที่องค์กรเองก็มีพนักงานที่รับผิดชอบการตลาดออนไลน์ที่มีหน้าที่เรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะอีกด้วย ระยะหลังมานี้องค์กรภาครัฐ และ NGO ก็เข้ามาสื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้กันจำนวนมาก ที่น่าสนใจก็คือพระสงฆ์ นักคิดนักเขียนระดับเบสท์เซลเลอร์ อย่างท่าน ว.วชิรเมธี ก็เป็น Tweetple ด้วย เน้นการเผยแผ่ข้อคิด คำสอน ในหลักพระพุทธศาสนา แบบตัวจริงเสียงจริง นอกเหนือจากฆราวาสนักการตลาดชื่อดัง ที่เดินตามแนวทางธุรกิจสีขาว และเป็นนักทวิตแนวธรรมะตัวยงมานานแล้ว อย่างคุณ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ก็มี Follower ล้นหลามในโลก“ทวิตภพ”ซึ่งยอมรับกันในทางการสื่อสารการตลาดแล้วว่าเป็นช่องทางที่มีพลังมาก

          เฟซบุ้ค และ ทวิตเตอร์ ดึงดูดให้ดิฉันหลงเข้าไปในโลกของมันวันละหลายๆครั้ง ครั้งละหลายนาที โดยภายในเดือน-สองเดือนแรกนั้นติดมาก ถึงขนาดออนไลน์แช่ไว้ตลอดเป็นชั่วโมงๆ ใช้ทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค และผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ที่แม้นั่งอ่านข่าวออกอากาศอยู่แท้ๆ ก็ยังเชื่อมต่อมือถือเอาไว้ เวลาเบรกโฆษณา จะได้ทวิตหรืออ่านข้อความของคนอื่นได้ พอสิ้นเดือนเห็นใบแจ้งหนี้ค่าบริการเสริมพุ่งพรวด ถึงได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า….เราทำในสิ่งที่ควรค่าแก่การเสียเงินค่าโทรศัพท์มากขนาดไหนกัน!!!!

          ก่อนหน้าที่จะมีเฟซบุ้ค และ ทวิตเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราอาจพุดคุยกับคนข้างๆ หรือคนที่เราไปพบเจอจริงๆ มากกว่านี้ (อย่างน้อยก็มีความพยายามมากกว่านี้) เรามีกิจกรรมในโลกส่วนตัวมากกว่านี้ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ทานข้าวนอกบ้าน หรือจะไปผจญภัยที่ไหน ก็เป็นเรื่องส่วนตัว และเราค่อนข้างจะใช้สมาธิกับทุกอย่าง….

          แต่ทันทีที่ออนไลน์ เราจะผละจากไปโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่นั่งข้างๆ อาหารแสนอร่อยที่อยู่ตรงหน้า นิทรรศการหรือความบันเทิงที่เราโหยหาและวางแผนเสียนานที่จะไปดู และที่เข้าขั้นอันตรายคือ สมาธิในการขับรถหายไปเมื่อเราทวิต(ร้ายพอๆกัน หรือมากกว่าคุยโทรศัพท์เสียอีก เพราะต้องเหลือบตามองแป้นพิมพ์พน้าจอด้วย) แม้คนที่ไม่ได้ขับแต่เป็นผู้โดยสาร ก็ผละจากการจราจรบนถนนหนทาง หรือทิวทัศน์สองข้างไปทันที เหมือนเราล่องลอยจากสิ่งที่เป็นจริง ไปเชื่อมโยงกับโลกเสมือน ซึ่งแม้เราจะได้พูดคุยโต้ตอบกับเพื่อนหรือผู้คนที่เฝ้าติดตามอยู่ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมหากเราดูเลื่อนลอยกับผู้คนและสถานการณ์ตรงหน้า…..

          ดิฉันพบว่า บางสิ่งกำลังหายไป….บางสิ่งเข้ามาแทนที่ ขณะที่เวลาเรายังคงเดินไปใน 24 ชั่วโมงต่อวันเหมือนเดิม…

           เราอาจนั่งอมยิ้มหรือหัวเราะเบาๆ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ…แต่เสียงหัวเราะและพูดคุยกันในวงสนทนาตรงหน้าหรือกับคนข้างกายหายไป

          เราดูจะรีบร้อนขึ้น ทำโน่น ทำนี่ ให้เสร็จๆ ไป เพื่อจะได้ออนไลน์ และจมจ่อมอยู่ในนั้น สอดส่ายสายตาดูว่า ใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนกันบ้าง และเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งที่บางเรื่องก็ได้ประโยชน์ บางเรื่องก็ไม่ได้มีสาระแก่นสารใดๆ เลย แม้แต่ชวนกันปลูกผัก ทำนาออนไลน์ หรือเล่นเกมอะไรกันก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว ที่ไม่คุ้มค่าแก่การพะวักพะวงในระหว่างเวลาทำงาน เรียนหนังสือ หรือปล่อยให้มันกัดกินเวลาในชีวิตของเราไปในแต่ละวันอย่างมากมาย

          ท้ายที่สุดการเล่นอินเทอร์เน็ท หรือการอยู่ในสังคม Social Network อย่างพอเหมาะพอดี แบบเดินทางสายกลางจะดีที่สุดสำหรับทุกคนค่ะ ลองบริหารเวลาให้ดี ว่าในแต่ละวันคุณทำอะไรมากไป หรือน้อยไป คุณอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกออนไลน์มากกว่ากัน คุณยังได้อ่านหนังสือเล่มโปรด ได้ดูหนัง ฟังเพลง ทำกับข้าวหรือไปทานข้าวนอกบ้านและพูดคุย แฮงก์เอาท์กับเพื่อนๆ อย่างเต็มที่หรือเปล่า ถ้ารู้ตัวว่าตารางชีวิตเริ่มเอียงกะเท่เร่ละก็ รีบจัดระเบียบชีวิตเสียใหม่เถอะค่ะ

           แล้วก็เลือกรับเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สาระก็ได้ บันเทิงก็ดี หรือข่าวสารของเพื่อนๆที่รู้จักสนิทสนมกัน ให้เกียรติกัน เป็นกัลยาณมิตรช่วยเหลือด้านข้อมูลหรือคำแนะนำดีๆให้แก่กัน ซึ่งในโลกออนไลน์ก็มีเยอะ บางคนรู้สึกดีๆต่อกันในSocial Network ก็พัฒนาความสัมพันธ์จนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันจริงๆ หรืออาจเจอเนื้อคู่คนรู้ใจกันก็มี แต่หากเจอพวกแฝงตัวเข้ามาเป็นเพื่อน แล้วรุ่มร่าม ไม่ให้เกียรติกัน หรือหวังผลประโยชน์กันเกินงามก็ต้องปฏิเสธค่ะ

          อย่าลืมว่าอะไรที่มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดีเหมือนกัน ไม่ตามกระแสเลยก็พูดภาษาเดียวกับคนที่ทันสมัยไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะภาษาไอที แต่ตามมากไปก็ไม่เห็นจะทำให้เป็นคนดีขึ้น รวยขึ้นหรือสวยหล่อขึ้น มีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่รวยขึ้นเพราะได้ประโยชน์ในแง่การตลาดจาก Social Network ดังนั้น ไม่มีใครบังคับให้คุณออนไลน์หรือห้ามออนไลน์ นอกจากตัวคุณเองค่ะ@

About The Author

6 Comments

  1. ffoonn

    เห็นด้วยทุกอย่างเลยค่ะพี่ ทุกวันนี้ติดtwitter มาก ต้องไปสมัครโปรโมชั่นมือถือที่คุ้มๆ เดินไปโน่นไปนี่แทบไม่มองหน้าคนแล้วค่ะ มองแต่มือถือ เดินชนคนชนเสาจนเกือบตกบันใดก็มีมาแล้ว แย่นะคะ แต่หยุดไม่ได้ นี่ก็ลากเพื่อนสนิทๆมาเล่นหลายคนแล้วจะได้ประหยัดค่า sms อิอิ
    เสียอย่างเดียวจริงๆคือ ตอนเรียนก็หยุดทวีตไม่ได้เนี่ยสิคะ 555

  2. สายสวรรค์

    ffoonn ระวังหน่อยนะจ๊ะ…อย่างน้อยก็หยุดทวิตตอนขึ้นับนได กับในห้องเรียน อิอิ

  3. เก๋

    ขอบพระคุณพี่หนิงที่ช่วยกระตุกสติกลับคืนมาค่ะ เก๋เล่นทวิตเตอร์มาเกือบ ๓ เดือนแล้ว ติดมาก ตารางชีวิตเริ่มเอียงแล้วจริง ๆ ค่ะ

  4. สายสวรรค์

    ดีใจที่อ่านแล้วได้ประโยชน์นะคะ…^_^

  5. pickmeeup

    ปิ๊กอ่านแล้ว ก็ได่ฉุกคิดว่า

    อย่าได้ลุมหลงในวังวนของ social network จนเกินไป มันจะไม่ดี

    ขอบคุณพี่หนิงค่ะ สำหรับบทความดีๆ แล้วหนุจะมาอ่านใหม่นะคะ

    🙂

  6. ning

    ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะคะ เขียนเรื่องใหม่ๆเสร็จแล้วจะบอกจ้า…

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.