Select Page

อลัน เบท ฝรั่งหัวใจไทย กับภารกิจ “ปั่นทั่วโลก” เพื่อพ่อหลวง

อลัน เบท ฝรั่งหัวใจไทย กับภารกิจ “ปั่นทั่วโลก” เพื่อพ่อหลวง

ตลอดระยะทาง ๒๙,๐๐๐ กิโลเมตร ที่สองล้อของ นายอลัน เบท(Alan Bate) ชาวอังกฤษวัย ๔๕ ปี กำลังหมุนไปทั่วโลก มีเพียงเหตุผลเดียวที่เป็นคำตอบของการเดินทางอันยาวนาน ยากลำบากและท้าทายครั้งนี้ว่า นี่เป็นการแสดงความจงรักภักดีที่เขาอยากทำถวายในหลวงและเพื่อเป็นการส่งต่อเจตจำนงค์อันยิ่งใหญ่ให้คนทั้งโลกได้รับรู้อลันจึงหวังว่าเขาจะสามารถทำลายสถิติโลกให้ได้น้อยกว่า ๑๖๕ วันซึ่งเป็นสถิติเดิมที่ นายจูเลี่ยน ซาเยอร์ นักขี่จักรยานชาวอังกฤษเคยทำไว้เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการหารายได้เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ในประเทศไทยผ่านองค์กร ไรท์ ทู เพลย์ (Right to Play) องค์กรเพื่อสังคมที่ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนด้านกีฬา และเกมการเล่นอีกด้วย

         เมื่อบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ อลันน่าจะปั่นจักรยานไปเกือบค่อนโลกแล้ว ก่อนที่วันสุดท้ายของการเดินทางของอลันจะจบลง เรามาร่วมกันส่งแรงใจให้เขาพิชิตภารกิจนี้ให้สำเร็จด้วยกันเถอะค่ะ

         นักปั่นมืออาชีพจากแดนผู้ดีก่อนมาเมืองไทย อลัน เบท อาศัยอยู่ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มสนใจกีฬาปั่นจักรยานเมื่ออายุ ๑๓ ปี แม้ว่าตอนแรกเขาจะชอบเล่นกีฬารักบี้ แต่เมื่อเจ้าของร้านจักรยานแห่งหนึ่งผู้เคยเป็นรองแชมป์ปั่นจักรยานโอลิมปิกเอ่ยปาก ชวนให้เขาลองมาเล่นกีฬาประเภทนี้ดู อลันจึงตอบตกลงในที่สุดอลันใช้เวลาครั้งแรกในการปั่นจักรยานกับเพื่อนๆ เป็นเวลาสองขั่วโมง ในระหว่างที่หยุดพักเพื่อดูการแข่งขันของนักปั่นระดับมืออาชีพที่ปั่นมาในเส้นทางเดียวกันเขาจำได้ว่า มันเป็นวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ มีเมฆลอยต่ำ อากาศครึ้ม เมื่อไฟของขบวนจักรยานส่องมา เขารับรู้ได้ถึงความเร็วของนักปั่นจักรยานทั้งห้าที่ขับฝ่ามาในม่านหมอก เขาได้ยินเสียงการเคลื่อนไหว ได้กลิ่นกระทั่งน้ำมันนวด และเขาก็รับรู้ได้ทันทีว่า นี่แหละคือวินาทีชีวิตของเขา อลันเล่าถึงความมุ่งมั่นในการปั่นจักรยานว่านับจากวันนั้นเป็นต้นมาเวลาที่ไปโรงเรียน เขาแทบไม่ได้ยินเสียงครูสอน ในหัวสมองเขาคิดถึงแต่เรื่องปั่นจักรยาน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของนักปั่นจักรยานระดับโลก และเมื่อการแข่งขันครั้งแรกในชีวิตมาถึง อลันคว้าอันดับสี่มาครองซึ่งครั้งนั้นเป็นการแข่งขันระดับท้องถิ่น จากนั้นเขาใช้เวลาเพียงหกสิบวัน ก็สามารถเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน

          ครั้งต่อมาอลันเข้าร่วมแข่งขันปั่นจักรยานทั้งในประเทศอังกฤษและนอกประเทศหลายรายการ ด้วยการสั่งสมประสบการณ์และความรักในกีฬานี้อย่างจริงจัง เมื่ออายุ ๒๖ เขาได้ครองตำแหน่งอันดับ ๕ ในรายการ British 24-hour Championship 1991 และขึ้นมาอยู่ในอันดับ ๔ ของการแข่งขันรายการเดียวกันในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑)

พรหมลิขิตสู่ชีวิตในเมืองไทยในวัย ๔๐ ปี อลันอำลาตำแหน่งนักปั่นจักรยานมืออาชีพ และผู้จัดการ

          โครงการ The Liverpool Cycle Centre ที่รณรงค์ให้ผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมสุขภาพและขี่จักรยานกันมากขึ้นเพื่อช่วยลดมลพิษ จากนั้นเมื่อปลดปล่อยตัวเองจากพันธะทั้งหลายเขาก็เริ่มปั่นจักรยานเที่ยวรอบโลกในเวลาหนึ่งปี เขาปั่นจักรยานไปถึงกัมพูชา พม่า และลาว ข้ามมาอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อหยุดพักและรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า ที่นั่นเขาเริ่มผูกมิตรกับผู้คนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและดูมีความสุขกับชีวิต จากการพูดคุยกับชาวเชียงของทำให้เขาเริ่มรับรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงมากมาย หลังจากอลันหายดีแล้ว เขาได้ปั่นจักรยานไปทั่วเมืองเชียงของ และพบความสวยงามของภูเขาและลำน้ำโขง รวมถึงอากาศที่แสนบริสุทธิ์ อลัน จึงเลื่อนเที่ยวบินที่ต้องเดินทางต่อไปยังออสเตรเลียออกไปเพื่อดื่มด่ำกับความงดงามของธรรมชาติบนผืนแผ่นดินไทย จนในที่สุดอีกห้าเดือนต่อมา เขาก็ออกเดินทางไปยังออสเตรเลียและใช้เวลาอยู่ที่นั่นเพียงสิบห้าวัน

            ต่อด้วยการเดินทางกลับไปประเทศบ้านเกิด เขาจัดการขายทุกอย่างในชีวิต เพื่อบินกลับมายังเชียงของและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองไทยจุดสตาร์ทความรักต่อพ่อหลวงอลันเล่าว่า การที่เขาเลือกมาปั่นจักรยานเพราะเขารักการเดินทางสีเขียว และเมื่อได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชดำริมาตั้งแต่ ๒๐ ปีที่แล้ว โดยทรงริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงและน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ยิ่งทำให้เขาเกิดความประทับใจ

           ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน ในภาวะที่โลกเกิดวิกฤติน้ำมัน น้ำพระทัยของพระองค์ยังเห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้โดยรถไฟแทนเครื่องบิน รวมถึงยอมสละที่ดินส่วนพระองค์เพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำท่วมให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ยังไม่รวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนถึงปัจจุบันซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ

           แม้พระองค์จะเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ไม่เคยถือพระองค์ทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความมัธยัสถ์ ยังทรงฉลองพระองค์ที่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้ทุกวันนี้อลันแทบจะไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่เลยในเมื่อความประทับใจที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยมาก มายล้นพ้นขนาดนี้ อลันจึงอยากจะน้อมนำ พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ส่งต่อ

           ไปยังชาวโลกให้ได้รับรู้ด้วยการปั่นจักรยานรอบโลก เพื่อบอกเล่าแก่ผู้คนตามรายทางว่าในหลวงของคนไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เพียงไหน และประเทศไทยงดงามเพียงใด

          “การทำลายสถิติโลกได้หรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผม ถ้าทำได้ผมถือว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง อย่างน้อยผมก็ได้สื่อสาระสำคัญนี้ออกไปเพื่อให้ผู้คนจดจำในหลวงของเราได้มากขึ้น”

          ตลอดการเดินทางเมื่อผมพบผู้คน ผมจะคอยบอกพวกเขา อย่างทริปครั้งนี้ ผมเลือกที่จะผ่านประเทศในแถบอาหรับเพราะอยากให้ประเทศนี้ได้รู้จักคุณความดีของพระองค์ท่าน ก่อนหน้านี้ผมเคยปั่นจักรยานเพื่อถวายในหลวงมาแล้ว ๓ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ปั่นจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ๗๖๐ กิโลเมตร ใช้เวลา ๒๖.๐๔ ชั่วโมง

ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๐ ปั่นจากภูเก็ต-กรุงเทพฯระยะทาง ๘๖๐ กิโลเมตร ใช้เวลา ๒๙.๑๕ ชั่วโมง

และครั้งที่๓ ปั่นจาก อ.เชียงของ เข้าตัวเมืองเชียงราย ๑๐๕ กิโลเมตรด้วยเวลา ๒.๔๒ ชั่วโมง

 

          “นั่นเป็นการบอกกล่าวคนไทยให้รู้ว่าผมรักในหลวง แต่ครั้งนี้ ผมขอบอกกล่าวแก่คนทั้งโลกโดยมีผู้ติดตามการเดินทางไปกับผมด้วย พวกเราติดต่อผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกไว้แล้ว เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับนักข่าว เขาจะเข้าใจว่า ทำไมผมถึงทำเช่นนี้”

         เมื่อมีคำถามว่า เพียงระยะเวลาห้าปีเท่านั้น ทำไมอลัน ถึงได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก อลันบอกว่า เขาใช้เวลาเพียงเสี้ยวนาที ก็สามารถหลงรักการปั่นจักรยานได้ ฉะนั้นห้าปีนี้ถือว่าช้าไปด้วยซ้ำ

         “ในหลวงคือบุคคลต้นแบบสำหรับผม ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคนไทยจึงซึมซับวัฒนธรรมจากตะวันตกและยังยึดติดกับวัตถุนิยมทั้งๆ ที่เรื่องความพอเพียงเป็นสิ่งที่พระองค์ได้สอนพวกเรา และ

           เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณดำรงชีวิตอยู่ได้ ตอนนี้ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ หากคุณเคยไปเมืองใหญ่อย่างลอนดอน หรือ นิวยอร์ค ผู้คนที่นั่นไม่ได้ยิ้มจากใจ เพราะพวกเขาไม่ได้มีความสุขกับรูปแบบชีวิต “ส่วนตัวแล้วผมเองก็สามารถอยู่ในโรงแรมห้าดาวและใช้ชีวิตหรูหราได้ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบของชีวิต ทุกวันนี้ผมไม่ขับรถ ไม่มีเครื่องประดับ ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ กินข้าวแค่จานละ ๒๕ บาท ใส่กางเกงขาสั้นแค่ตัวละ ๓๐ บาท รองเท้าก็ไม่ใส่ เพราะจากพิพิธภัณฑ์จักรยานที่ผมดูแลอยู่ไปบ้านระยะห่างเพียงแค่ ๓๐ เมตร ใครๆ อาจจะมองว่า ผมติงต๊อง แต่ผมกลับรู้สึกว่าอิสระมาก ผมตั้งใจแล้วว่าจะไม่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่อีกต่อไป ทุกวันนี้ข้าวของที่มีราคาแพงก็มีเพียงจักรยานเพื่อนำมาสะสมในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ผมรู้สึกเป็นอิสระมาก และลูกชายของผมเองก็ชื่ออิสระ เหมือนกันครับ” การเตรียมตัวเพื่อพิชิตเส้นชัย กว่าจะปั่นรอบโลกได้ อลันต้องเตรียมตัวอย่างหนัก เน้นการออกกำลังกายให้ได้ ๒๕-๓๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภายในหนึ่งวันเขาต้องปั่นให้ได้ ๓๐๐ กิโลเมตร ในเวลา ๔ ชั่วโมง ปั่นขึ้นลงเขาประมาณวันละ ๒๐ ครั้ง และที่สำคัญต้องฝึกจิตใจให้แกร่ง พยายามลืมเรื่องอายุที่วันนี้ ๔๕ ปีแล้ว และไม่คิดถึงระยะทาง ๒๙,๐๐๐ กิโลเมตร เพราะนั่นจะทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจได้ แต่ตอนนี้ร่างกายและจิตใจของเขามีความพร้อมเต็มพิกัด

         

           ทั้งนี้ อลันได้เลือกเส้นทางและสภาพอากาศในช่วงเวลาที่เหมาะกับสภาพร่างกายของเขาที่สุด อลันชอบอากาศร้อน จึงเลือกเดินทางผ่านเขตและประเทศที่มีอากาศร้อน เช่น เท็กซัส บราซิล อุรุกวัย แม้อุณหภูมิจะสูงถึง ๔๐ องศาเซลเซียส แต่สำหรับเขาแล้วรู้สึกสบายมากสำหรับเส้นทางการปั่นจักรยานรอบโลกในครั้งนี้ เริ่มออกจากจุดสตาร์ตหน้าพระบรมมหาราชวัง เย็นวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓ ไปทางภาคใต้ของไทย สู่มาเลเซีย สิงคโปร์ นั่งเครื่องบินไปลงยังเมืองเพิร์ท และปั่นไปที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะต่อไปยังเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ ข้ามไปยังนครซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริก และแคนาดา สู่เมืองฮาลิแฟกซ์ เข้าสู่อเมริกาใต้ ไปยังอาร์เจนตินา อุรุกวัย บราซิล ต่อด้วยทวีปยุโรป ไปโปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส ข้ามฝั่งไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้ววกกลับไปฝรั่งเศสสู่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี ตุรกี จากนั้นลัดเลาะไปถึงเมืองอัมริตสาร ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย เข้าไปที่เมืองกัลกัตตา ตบท้ายด้วยการปั่นระยะทาง ๕ กิโลเมตรในพม่า มุ่งตรงสู่อำเภอเชียงของ ประเทศไทย แล้วมาสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ รวมเวลาแล้วไม่เกิน ๑๔๙ วัน

 

 

The Hub ศูนย์การเรียนรู้ของนักปั่น

          อลันเช่าบ้านหลังเล็กๆ ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์จักรยานชื่อว่า ‘เดอะฮับ’โดยรวบรวมจักรยานเสือหมอบ และจักรยานโบราณไว้จำนวนมาก เขาตั้งใจจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนไทยที่สนใจกีฬาประเภทนี้ เขาออกแบบการจัดวางภายในร่วมกับภรรยาชาวไทย และของทุกอย่างที่นำมาใช้ก็เป็นของรีไซเคิล

           ซึ่งเป็นการเจริญรอยตามแนวพระราชดำริของในหลวงอีกเช่นกัน ทุกคนสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ฟรี ทั้งเด็กๆ ยังสามารถเรียนรู้เทคนิคการขี่จักรยาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่อลันตั้งความหวังไว้“ผมอยากสร้างศูนย์ฝึกเด็กหญิงชายเพื่อค้นหาคนเก่งตอนนี้ผมเช่าบ้านสำหรับทำเป็นหอพักเด็กในโครงการไว้แล้ว ดังนั้นผมจึงค่อนข้างจริงจังกับโครงการนี้มาก เด็กที่มาฝึกควรมีอายุไม่เกิน ๑๓ ปี ผมอยากสร้างฮีโร่คนไทยให้เด็กไทยได้ชื่นชม คนไทยมีสองขาสองแขนเท่ากับชาวต่างชาติแล้วทำไมต้องไปชื่นชมเขาฝ่ายเดียว หากผมสามารถสร้างนักปั่นไทยให้เป็นแชมป์โลกได้ ผมคงนอนตายตาหลับครับ

          “ความฝันของผม อยากจะสอนเด็กให้รู้จักความหมายของชีวิต ชีวิตเกิดมาด้วยการสัมผัส ทั้งเห็น ได้กลิ่น กิน ได้ยินและรู้สึก ธรรมชาตินี่ล่ะที่ตอบสนองเราได้ทุกอย่าง

         “แค่คุณมีจักรยานหนึ่งคันแล้วปั่นออกไปสัมผัสโลกด้วยตัวคุณเอง ผมคิดเสมอว่า ผมมีสวนที่กว้างใหญ่ แถมยังมีคนดูแลให้อีกต่างหาก เราเห็นโลกจากทีวีก็ดีหรอกนะครับ แต่เราสัมผัสถึงความรู้สึกจริงๆ นั้นไม่ได้ ดอกไม้ในอินเตอร์เน็ตอย่างไรก็ไม่เหมือนของจริง และผมเองก็ไม่อยากให้คนไทยลืมว่า บ้านเรามีธรรมชาติที่งดงามมากเพียงไหน แต่ตอนนี้ผมยังไม่สามารถหาสปอนเซอร์เพื่อมาสนับสนุนโครงการนี้ได้ แต่ผมก็ยังจะทำต่อและจะไม่ยอมแพ้ เพราะมันคือชีวิตของผม”ข้อความทิ้งท้ายจากชาย “หัวใจอิสระ”

          “แม้จะไม่มีกระดาษแผ่นไหน หรืออะไรที่บ่งบอกว่า ผมเป็นคนไทยโดยทางนิตินัย แต่ในใจผมแล้ว ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนไทย ผมมีครอบครัวและเพื่อนที่เป็นคนไทย ในการทำลายสถิติโลกครั้งนี้ได้รับการบันทึกเพื่อคนไทย ผมหวังเพียงให้ทุกคนยอมรับว่า ผมเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง นี่จะช่วยให้ผมมีพลังในการปั่นจักรยานเพื่อในหลวงมากขึ้น และสุดท้ายผมอยากจะบอกว่า ‘ผมรักพ่อครับ’”

          วาจาที่เปล่งออกมาด้วยภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ พร้อมพนมมือไหว้อย่างนอบน้อมของ อลัน เบท เป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่า ภารกิจของอลันจะสำเร็จลุล่วงอย่างแน่นอน!ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมพูดคุยและให้กำลังใจ อลัน เบท ได้ที่

 www.worldcyclingrecord.com

www.facebook.com/pages/Alan-Bate

 

ที่มา: วารสารทิศไท

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.