Select Page

หน่วยป้องกันท้องไม่พร้อม สกัดเด็กสาวป่องก่อนวัย

หน่วยป้องกันท้องไม่พร้อม สกัดเด็กสาวป่องก่อนวัย

หลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในสังคมไทย ค่อนข้างจะหนักไปในทางความด้อยโอกาสเป็นสำคัญ ครั้นเมื่อรัฐและองค์กรต่างๆ ได้พยายามจัดให้มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ แก่เด็ก เยาวชนและประชากรภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัญหาอันเนื่องมาจากความด้อยโอกาสได้ลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก

กระนั้นก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่เด็กและเยาวชนได้เปลี่ยนลักษณะไป กลายเป็น

        “ปัญหาในเชิงพฤติกรรม” ที่ยากต่อการป้องกันและเยียวยาแก้ไข โดยเฉพาะพฤติกรรมการเสพยาเสพติด ดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน ติดเกมส์ การทำร้ายกัน ที่หนักสุดและน่าห่วงใยคือมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

        การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยนี้เอง นำไปสู่ปัญหาอีกมากมาย ตั้งแต่การแพร่ของโรคเอดส์ที่เด็กและเยาวชนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงในระดับต้นๆ การตั้งท้องโดยไม่มีความพร้อม การทำแท้งที่สถิติเพิ่มสูงขึ้นทุกปี การคลอดลูกแล้วทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ

        สำหรับสถิติของวัยรุ่นตั้งครรภ์ ข้อมูลจากคลินิกตั้งครรภ์แม่วัยรุ่น รพ.รามาธิบดี ระบุไว้ว่าประเทศไทยมีการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สูงถึงวันละ 140 ราย ขณะที่ข้อมูลการแจ้งเกิดจากส่วนทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียนกระทรวงมหาดไทยระบุไว้ว่าในปี 2550 พบมีแม่อายุ 16-20 ปี มาแจ้งเกิดลูก 145,747 รายสถิตินี้นับว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย

        เหล่านี้สอดคล้องกับที่ผู้เขียนในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามการจัดทำแผนพัฒนาเด็กระดับขาติ ได้ข้อมูลจากจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ที่ระบุไว้ว่าปัญหาหนักใจและทวีจำนวนมากขึ้นในทุกจังหวัดคือมีวัยรุ่นท้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง        

        เรื่องนี้ แม้แต่ในสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติก็ทราบ ทั้งยังได้นำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ “เวทีสิทธิเด็ก” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ต่อหน้า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในทำเนียบรัฐบาลซึ่ง ฯพณฯ นายกฯเองก็ได้ปราศรัยต่อที่ประชุมว่า “รัฐบาลจะดำเนินการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

        ผู้เขียนมีข้อเสนอว่า เรื่องนี้จะปล่อยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวคงไม่ทันการณ์และแก้ไขไม่ได้ ฯพณฯ นายกฯจำเป็นจะต้องมีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาวางแผนดำเนินการ พร้อมสนับสนุนงบประมาณให้อย่างเต็มที่เพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นการด่วน  

        ภายใต้ความเข้าใจที่ว่า ยามนี้เยาวชนปรึกษาเรื่องทางเพศผ่านกลุ่มเพื่อมากที่สุดถึงร้อยละ 51 ปรึกษาพ่อแม่เพียงร้อยละ 14 เท่านั้น อีกทั้งยังเรียนรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างกว้างขวางและรวดเร็วจากสื่อต่างๆ อีกด้วย

         จากข้อมูลทางสติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทำให้เกิด “เครือข่ายป้องกันการท้องไม่พร้อม” สกัดเด็กสาวป่องก่อนวัย ตรงนี้ทางหนังสือพิมพ์มติชน ได้นำกลับมาอีกครั้งเพื่อให้ผู้อ่าน เล็งเห็นถึงความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับในงานในการแก้ไขปัญหา หน่วยงาน

          “ท้อง” หรือ “ตั้งครรภ์” คงจะเป็นเรื่องน่ายินดีกันทั้งครอบครัว หากผู้หญิงที่ตั้งท้องมีความพร้อมทั้งเรื่องวุฒิภาวะ การเลี้ยงดูลูก และมีครอบครัวที่อบอุ่นคอยจะดูแล ในทางกลับกัน…หากการตั้งท้องของผู้หญิงที่ยัง “ไม่มีความพร้อม”ชีวิตของพวกเธอคงไม่ต่างอะไรกับการอยู่ในสภาวะ “มืดแปดด้าน” ความทุกข์และปัญหาต่างๆที่ตามมาคงยากนักที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะทัดทานไหว

          แต่ใช่ว่าในทุกปัญหาจะไม่มีทางออกในความมืดย่อมมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะ “เครือข่ายป้องกันการท้องไม่พร้อม”ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเอ็นจีโอกับหน่วยงานรัฐ58 หน่วยงาน เป็นอีกเครือข่ายที่จะช่วยส่องแสงสว่างให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมก้าวเดินออกมาจากความทุกข์ ความมืดมนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้

          น.ส.ณัฐยา บุญภักดีผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงหนึ่งในเครือข่ายป้องกันการท้องไม่พร้อมอธิบายการทำงานของเครือข่ายป้องกันการท้องไม่พร้อมว่า เครือข่ายทำงานเรื่องนี้มาได้ 2 ปีแล้ว ภารกิจส่วนใหญ่เน้นให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและเยียวยาสภาพจิตใจ เพื่อให้หญิงสาวท้องไม่พร้อมสามารถดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ อย่างเด็กที่ตั้งท้องแล้วครอบครัวไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูก็จะส่งต่อไปยังบ้านพักฉุกเฉินซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจจนกระทั่งคลอดลูกตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ณัฐยายอมรับปัญหาการตั้งท้องที่อยู่ในสภาวะไม่พร้อมนั้นนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          “ผู้หญิงที่ตั้งท้องส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นอายุระหว่าง 10-20 ปีต้นๆ ที่พบการตั้งท้องอายุน้อยสุด 13 ปี และจะเป็นวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนสาเหตุของการมีเพศสัมพันธ์ ก็เป็นไปตามวัยที่อยากรู้อยากลอง แต่ไม่รู้วิธีการป้องกันที่ถูกต้อง บางคนก็ถูกล่วงละเมิด”

          พอตั้งครรภ์ด้วยความไม่พร้อม ก็มีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง บอกว่าอันดับแรก ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือผลกระทบเรื่องการเรียน

          “โดยเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมจะมีปัญหามาก เพราะไม่สามารถดร็อปเรียนไปคลอดลูกแล้วกลับมาเรียนใหม่ได้เหมือนกับผู้หญิงที่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย วัยรุ่นที่เรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จึงไม่ได้เรียนต่อต้องออกไปเลี้ยงลูก มีเพียงส่วนน้อยที่พ่อแม่วัยรุ่นรับสภาพที่เกิดขึ้นได้ และพร้อมจะเรียนต่อ เครือข่ายจะแนะนำให้เรียนการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน.” ไม่เพียงแค่เรื่องการศึกษา แต่ยังมีปัญหา”ครอบครัววัยเยาว์” ตามมาด้วย

          “ด้วยพ่อแม่ที่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ยังไม่มีวุฒิภาวะหรือความพร้อมในการที่จะอยู่กินกันแบบครอบครัว เช่น ผู้ชายเรียนอยู่ ม.3 ผู้หญิงเรียนอยู่ ม.2 พอมีเพศสัมพันธ์กันเกิดปัญหาตั้งท้องในภาวะที่ยังไม่พร้อมญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จับแต่งงานให้ออกจากโรงเรียนมาอยู่กันแบบครอบครัวสุดท้ายครอบครัววัยเยาว์ก็อยู่กันไม่รอดเพราะวัยรุ่นยังไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูลูก พอเลิกรากันไป ปู่ย่าตายายก็ต้องเป็นผู้เลี้ยงเด็กที่เกิดขึ้น หากครอบครัวไหนไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงเด็ก เด็กคนนั้นก็จะถูกทอดทิ้งกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป”ณัฐยาแจกแจงปัญหา  ดูเหมือนปัญหาจะยาวเป็นหางว่าว!และมาตรการแก้ไขปัญหาก็ทำได้แค่ “ล้อมคอก”

          ณัฐยาบอกว่า แม้การป้องกันแก้ไขปัญหาจะทำได้ยาก แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เริ่มตั้งแต่ครอบครัวและโรงเรียน

          “2 ส่วนนี้ถือว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ต้องสอนเรื่องเพศให้กับวัยรุ่นรู้ถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย รู้จักวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอกเพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป วัยรุ่นสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วหากผู้ใหญ่ไม่สอนให้วัยรุ่นรู้จักการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง สุดท้ายก็จะจบลงด้วยการตั้งท้องที่ไม่พร้อม จากการทำงาน พบว่าวัยรุ่นชายบางคนแม้จะเรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย แต่ยังไม่รู้เลยว่าการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร”

          สำหรับผู้หญิงที่ประสบปัญหาแล้วต้องการความช่วยเหลือ ณัฐยาแนะนำว่า สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถขอรับความช่วยเหลือจากเครือข่ายได้โดยตรง ส่วนหญิงสาวที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถไปขอรับบริการรวมทั้งคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่มีศูนย์พึ่งได้ เพื่อให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้หญิงที่ตั้งท้องไปยังเครือข่ายต่างๆ ทั้ง58 แห่ง

          ยังไม่สายที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือร่วมใจกันนับหนึ่งในการลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อเยาวชนในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต–จบ–

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.