ผลวิจัย”นกเงือก”เมืองไทย ภาวะอันตราย-ใกล้สูญพันธุ์
เป็นเวลาถึง 5 ปี ที่กลุ่มนักวิจัยได้ศึกษา”นกเงือก” ในประเทศไทย และพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรนกเงือกลดลง คือ การล่านกเงือกไปกิน การเอาลูกนกเงือกไปขาย และการทำลายพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกเงือก ดังนั้น จำนวนนกเงือกจึงถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ด้วย
เป็นเวลาถึง 5 ปี ที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้เดินทางลงพื้นที่เข้าป่าเพื่อไปวิจัยศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “นกเงือก” ในพื้นที่ผืนป่าและหย่อมป่าในประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่น
เป็นงานวิจัยที่ครอบคลุมทั้งเรื่องของลักษณะพันธุกรรม ประชากร และสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัย
วันนี้งานวิจัยของกลุ่มผู้ศึกษานกเงือกเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีเรื่องราวหลากหลายที่น่าสนใจ หลายเรื่องที่คนทั่วไปอาจมองข้าม แต่มีความสำคัญกับผืนป่าของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเรื่อง นกเงือก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยไทยหลายสถาบัน โดยมี สวทช. สนับสนุนงบประมาณกว่า 15 ล้านบาท เริ่มต้นศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2546 เรื่อยมาถึงปี 2551 โดยทำการศึกษาตั้งแต่ด้านพันธุกรรม สถานภาพประชากรนกเงือกและสถานภาพถิ่นอาศัยของนกเงือก ฯลฯ
นพ.ประสิทธิ์บอกว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการทำแบบบูรณาการ โดยการนำเทคนิคหรือเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์จนก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพื่อนำไปสู่การฝึกอบรมชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ การทำแบบนี้ได้ขยายผลให้เกิดโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนกเงือกตามมาอีกหลายโครงการ ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูนกเงือก และถิ่นอาศัยอย่างเป็นระบบต่อไป
ด้านคณะวิจัย นำโดย ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า นกเงือกในประเทศไทยมีอยู่ 13 ชนิด ถือว่ามากที่สุดในเอเชีย เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ บางตัวอาจวัดความยาวได้ถึง 1.5 เมตร การใช้ชีวิตของนกเงือก จะทำรังเป็นโพรงอยู่บนต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่า มีหน้าที่รักษาความสมดุลของระบบนิเวศ โดยการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการกินผลไม้ และเป็นผู้ล่า โดยกินสัตว์จำพวก หนู แมลง กระรอก ซึ่งเป็นพวกทำลาย เมล็ดพืชพันธุ์ นกเงือกจึงเป็นสัตว์ที่ช่วยควบคุมประชากรสัตว์เหล่านี้ให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสม
การวิจัยในครั้งนี้แบ่งออกเป็นโครงการย่อย ได้แก่ การศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของนกเงือก การศึกษาสถานภาพประชากรนกเงือก การศึกษาสถานภาพถิ่นอาศัยนกเงือก รวมถึงโครงการอนุรักษ์ ติดตามต่างๆ ที่ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินการศึกษาในพื้นที่ป่าดิบ 3 แห่ง ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก ครอลคลุมพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ตาก มีพื้นที่ประมาณ 18,000 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสระบุรี ปราจีนบุรี นครราชสีมา นครนายก มีพื้นที่ประมาณ 2,100 ตารางกิโลเมตร และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา มีพื้นที่ประมาณ 180 ตารางกิโลเมตร
สำหรับ โครงการแรก ศึกษาสถานภาพประชากรนกเงือก การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเพื่อประเมินหาความหนาแน่นของประชากรนกเงือกโดยคณะวิจัยได้วางเส้นสำรวจที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าดิบเป้าหมาย 3 แห่งข้างต้น แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาคำนวณด้านสถิติเพื่อหาประชากรนกเงือก นับเป็นครั้งแรกที่มีการวางระบบนับนกเงือกอย่างจริงจัง
ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกเงือกที่พบมากที่สุดคือ นกกก มีประมาณ 2,000 ตัว ที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี แม้จะเป็นป่าขนาดเล็ก แต่ก็พบนกเงือกถึง 6 ชนิด ที่พบมากที่สุด คือ นกชนหิน ซึ่งเป็นนกดึกดำบรรพ์ ส่วนในผืนป่าตะวันตกพบนกเงือกคอแดงมากที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่นกเงือกชนิดนี้ปัจจุบัน พบได้เฉพาะที่ผืนป่าตัวตกเท่านั้น ในพื้นที่อื่นไม่พบแล้ว
คณะวิจัยยังพบอีกด้วยว่า นกเงือกที่ยังมีประชากรมากกว่า 1,000 ตัว นั้น มีเพียง 3 ชนิด ได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกแก๊ก ส่วนนกเงือกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ได้แก่ นกเงือกปากย่น และพบอีกว่า นกเงือกบางชนิดมีจำนวนน้อยมากจนไม่สามารถนับจำนวนตามวิธีการได้ เช่น นกเงือกสีน้ำตาล และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกชนหิน นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวหงอก เป็นต้น
และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรนกเงือกลดลง คือ การล่านกเงือกไปกิน การเอาลูกนกเงือกไปขาย และการทำลายพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกเงือก ดังนั้น จำนวนนกเงือกจึงถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ด้วย
โครงการที่สอง ศึกษาสถานภาพถิ่นอาศัยนกเงือก คณะวิจัยอธิบายว่า ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีผืนป่าที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผืนป่าเหล่านี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของนกเงือกได้
วิธีการศึกษาในโครงการนี้ คือ สำรวจการกระจายตัวของนกเงือกตามผืนป่าต่างๆ แล้วใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาซ้อนทับพื้นที่ เพื่อหาอัตราการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่สำรวจหลัก 3 พื้นที่
คณะวิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงในผืนป่าตะวันตก และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะมีระบบจัดการดูแลรักษาที่ดี ส่วนที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ในทางใต้ ด้วยความที่พื้นที่ป่ามีขนาดเล็กและอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมาก จึงมีแนวโน้มจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร เช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อที่อยู่อาศัยของนกเงือก
โครงการที่สาม การศึกษาลักษณะพันธุกรรมของนกเงือก ถือเป็นงานวิจัยแรกที่สามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์และความหลากหลายทางพันธุกรรมของนกเงือกไทย 13 สายพันธุ์ อันเป็นประโยชน์ต่อการหาอัตราการเพิ่มประชากรและอนุรักษ์พันธุ์นกเงือกเก่าแก่ รวมถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนกเงือกเอเชียและนกเงือกแอฟริกา พบว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน ซึ่งผลการศึกษานี้สามารถย้อนกลับไปสู่อดีต ชี้ให้เราเห็นถึงการกำเนิดและกระจายตัวเข้ามาในทวีปเอเชียของพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารและยังรวมถึงความหลากหลายทางชนิดของนกเงือก
คณะวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ของนกเงือกลูกผสมระหว่าง นกกก (แม่) และนกเงือกหัวแรด (พ่อ) ที่พบในบริเวณเทือกเขาบูโด นักวิจัยชี้ว่า การผสมข้ามสายพันธุ์นี้น่าจะเป็นผลมาจากพื้นที่ป่าที่อาศัยมีขนาดเล็ก และนกเงือกได้รับแรงกดดันจากสภาวะแวดล้อม โดยศึกษาจากลำดับเบสร่วมกับเครื่องหมายโมเลกุลที่ได้พัฒนาขึ้นจากนกเงือกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้สามารถยืนยันความเป็นลูกผสมของนกกกและนกเงือกหัวแรดได้
นอกจากศึกษาในเชิงวิชาการเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่แล้ว คณะวิจัยยังมีโครงการต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์นกเงือกตามมาอีกมากมาย เช่น การส้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก
ศ.ดร.พิไล อธิบายถึงเหตุที่ต้องสร้างโพรงเทียมว่า นกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงเองได้ และปัจจุบันต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีโพรงก็มีจำนวนน้อยลง จึงต้องทำโพรงเทียมไฟเบอร์กลาสที่มีขนาดเหมาะสมให้นกอยู่
“ตอนนี้ดำเนินการติดตั้งโพรงเทียมไปแล้วที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทั้งหมด 19 รัง มีนกมาอยู่แล้ว 5 รัง ส่วนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะเป็นการปรับปรุงโพรงรังที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติให้เกิดความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสขยายพันธุ์ของนกเงือก” ศ.ดร.พิไลกล่าว
ล่าสุด คณะวิจัยยังได้ทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุดาวเทียมไปกับนกเงือก 10 ตัว เพื่อติดตามพฤติกรรม แหล่งอาศัยและแหล่งหากิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับนกเงือกต่อไป
นอกจากนักวิจัยแล้ว โครงการนี้ยังได้ชาวบ้านในพื้นที่มามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ด้วย เช่น ชาวบ้านบริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ที่มีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยนักวิจัยเป็นการอนุรักษ์ในระยะยาว มีการจัดตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์นกเงือก และถ่ายทอดความรู้สู่ชาวบ้านลูกหลานในพื้นที่ ในขณะที่คนเมืองที่อยากมีส่วนช่วยอนุรักษ์นกเงือก ก็ยังมีโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก เพื่อเป็นการระดมทุนนำเงินไปจ้างชาวบ้านทำหน้าที่ดูแลนกเงือกด้วย ซึ่งผู้อุปการะสามารถรู้ผลการทำงานได้จากรายงานที่ชาวบ้านต้องส่งกลับมา ซึ่งนอกจากชาวบ้านจะมีรายได้แล้ว ผู้อุปการะยังได้ความรู้ด้วย ถือเป็นการปลูกฝังให้รักและหวงแหนนกเงือกในระยะยาว
หากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตอาจต้องเที่ยวไปตะโกนถามเสียงดังอย่างในหนังไทยเรื่องหนึ่งว่า “นกเงือก (ข้าพเจ้า) อยู่ไหน!!!!”
ที่มา : นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 8 ก.พ. 2553