อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เจ้าของรางวัล ‘ปาล์มทองคำ’
หนังไทยกระหึ่มโลก’ลุงบุญมีระลึกชาติ’ฝีมือเขียนบทกำกับของ’อภิชาติพงศ์’ คว้ารางวัล’ปาล์มทองคำ’ในเทศกาลหนังนานาชาติ’เมืองคานส์’ เผยเป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องที่ 6 รอบเกือบ 70 ปี ที่ชนะเลิศ ผู้กำกับหนุ่มบอกเป็นรางวัลของคนไทยทุกคน
ภาพยนต์ไทยเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ฝีมือกำกับการแสดงของนายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อายุ 39 ปี ชาวขอนแก่น คว้ารางวัลปาล์มทองคำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 63 ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม สำนักข่าวเอพี เอเอฟพีรอยเตอร์ และบีบีซี รายงานความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยบนเวทีโลกว่า ลุงบุญมีระลึกชาติมีชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า อังเคิล บุญมี ฮู แคนรีคอล ฮิส แพสท์ ไลฟ์ส (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) เป็นเรื่องราวของลุงบุญมีในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ที่ได้พบกับวิญญาณของภรรยาที่ตายไปเมื่อ 14 ปีที่แล้วมาคอยดูแล ผลงานกำกับและเขียนบทภาพยนตร์โดยนายอภิชาติพงศ์ ซึ่งได้ทุนจากประเทศสเปนอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และไทย สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้ารางวัลปาล์มทองคำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 63 ท่ามกลางภาพยนตร์ 19 เรื่องที่เข้าประกวด มีภาพยนตร์ฝรั่งเศส 6 เรื่องอังกฤษ 2 เรื่อง เกาหลีใต้ 2 เรื่อง สหรัฐอเมริกา1 เรื่อง เม็กซิโก จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ยูเครน อิตาลีและฮังการี
ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นภาพยนตร์จากเอเชียเรื่องที่ 6 รอบเกือบ 70 ปีที่คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมปาล์มทองคำ และเป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกในรอบกว่า 10 ปีที่พิชิตรางวัลใหญ่นี้ซึ่งมีการประกาศผลรางวัลเมื่อค่ำวันที่ 23 พฤษภาคม ตามเวลาในเมืองคานส์ ตรงกับเช้าวันที่ 24 พฤษภาคม ตามเวลาในไทย หลังจากงานดำเนินมาเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม
สำหรับรางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมครองรางวัลด้วยกัน 2 คน ได้แก่ ฮาเวียร์ บาร์เดมพระเอกชาวสเปน จากภาพยนตร์เรื่องบิวตี้ฟูลและเอลิโอ เจมาโน่ นักแสดงชาวอิตาเลียนจากอาวร์ ไลฟ์ รางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่จูเลียต บิโนช นางเอกฝรั่งเศส จาก เซอร์ติฟายก๊อบปี้ ของผู้กำกับชาวอิหร่าน รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นของ ลี ชาง ดองนักเขียนบทภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ จากเรื่องโพอะที (Poety) ผู้กำกับยอดเยี่ยม ได้แก่มาติเยอ อามัลริค ชาวฝรั่งเศส จาก ออน ทัวร์
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมกรังด์ปรีซ์ เป็นรางวัลใหญ่อันดับ 2 ของงาน เป็นของออฟก๊อดส์ แอนด์ เมน ผลงานกำกับของซาวิเย่ร์โบวัวส์ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็น “ตัวเต็ง”จากบรรดานักวิจารณ์ว่าจะคว้ารางวัลปาล์ม ดอร์หรือปาล์มทองคำ แต่ภายหลังปราชัยให้แก่ ลุงบุญมีระลึกชาติ แม้จะได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ แต่ถือเป็น “ม้ามืด” ที่สามารถพิชิตใจคณะกรรมการตัดสิน 9 คน ที่ทิม เบอร์ตันผู้กำกับดังชาวอเมริกันวัย 51 เป็นประธานคณะกรรมการ
นายอภิชาติพงศ์ หรือ “เจ้ย” กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลจาก ทิม เบอร์ตัน บนเวทีว่า “ว้าว…ขอบคุณ ผมตื่นเต้นมาก นี่เหมือนอีกโลกหนึ่งสำหรับผม เหมือนได้ออกมาจากป่า ดังนั้น นี่จึงเหมือนโลกเสมือนจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำ 2 ปีครึ่ง และนี่เป็นครั้งแรก … ผมคิดว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากสำหรับ
ภาพยนตร์ไทย และยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทย ผมจึงหวังว่าพวกคุณจะอดทนต่อผมหน่อย เพราะมีผู้คนมากมายที่ผมรู้สึกติดหนี้ ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้
“ก่อนอื่นผมอยากจะขอบคุณทีมโปรดิวเซอร์ที่มีความอดทนอย่างมาก รวมทั้งพนักงานทุกคนของแมทช์ แฟคตอรี่ ผมอยากจะหอมท่านคณะกรรมการทุกคน โดยเฉพาะมิสเตอร์เบอร์ตัน ผมชอบทรงผมของคุณจริงๆ” นายอภิชาติพงศ์กล่าว และว่า อยากฝากข้อความนี้กลับไปยังบ้านเกิดของผมด้วยว่า รางวัลนี้เป็นของพวกคุณทุกคน รวมทั้งทีมงานทุกคนซึ่งอดทนต่อความยากลำบากในการทำหนัง เพราะว่าหนังของเราใช้ทุนสร้างน้อยมากรู้สึกซาบซึ้งจริงๆ
นายอภิชาติพงศ์กล่าวอีกว่า “ขอขอบคุณดวงวิญญาณและภูติผีทั้งหมดในประเทศไทย ที่ทำให้ผมสามารถมายืนอยู่ณที่นี้ สุดท้ายอยากขอบคุณพ่อแม่ของผม ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เคยพาผมไปดูหนังที่โรงหนังเล็กๆ ในจังหวัดเล็กๆของเรา ตอนนั้นผมยังเด็ก และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เห็นบนจอนั่นคือภาพยนตร์ แต่ด้วยรางวัลนี้ผมคิดว่าผมเริ่มรู้จักภาพยนตร์มากขึ้นอีกนิด
แต่ภาพยนตร์ยังเป็นสิ่งลึกลับ และผมคิดว่าความลึกลับนี้แหละที่ทำให้พวกเราจะกลับมาที่นี่อีก เพื่อจะมาแชร์ มาร่วมแบ่งปันทัศนคติความคิดเห็นที่เรามีต่อโลกของเราด้วยกันขอบคุณครับ”
ต่อมานายอภิชาติพงศ์ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าคิดว่า “ตอนนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความหวังในทางอื่น เพราะเราต่างหดหู่กับการปะทะกันของความแตกต่างทางอุดมการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ผมก็หวังว่าข่าวที่ประเทศไทยชนะรางวัลด้านศิลปะ วัฒนธรรมที่นี่จะเป็นเสมือนน้ำเย็นที่ช่วยบรรเทาความร้อนแรงของสถานการณ์ให้เบาลงได้บ้าง”
นายอภิชาติพงศ์กล่าวถึงโอกาสที่จะนำลุงบุญมีระลึกชาติมาฉายในไทยว่า “ผมเบื่อหน่ายกับขั้นตอนการฉายหนัง แต่บางทีผมอาจจะเอาไปฉายในโรงหนังสักโรงก็ได้”
เอเอฟพีระบุว่า ก่อนหน้านี้ ระหว่างอยู่ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ นายอภิชาติพงศ์เคยให้สัมภาษณ์ถึงกฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของไทย โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ลุงบุญมีเปรียบเหมือน “ภาพยนตร์ที่กำลังใกล้ตาย หรือตายไปแล้ว แต่คุณไม่สามารถตำหนิผู้สร้างหนังไทยพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะกฎหมายเซ็นเซอร์เหล่านี้ พวกเราไม่สามารถทำหนังเกี่ยวกับสถานการณ์รุนแรงในปัจจุบันเนื่องจากกฎหมายห้ามการกระทำใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าอะไรก็ถูกโยนไปที่กฎหมายนั่น”
ผู้กำกับหนุ่มยังระบุว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความรุนแรงถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพล”
นายอภิชาติพงศ์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ตอนหนึ่งว่า เขาเกือบไม่ได้มาร่วมงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ เพราะช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในกรุงเทพฯที่เผาเมืองกันตามที่ต่างๆ ประกาศเคอร์ฟิว เขาต้องขับรถตระเวนไปยังสถานทูตของประเทศยุโรปหลายแห่งในกรุงเทพฯเพื่อขอวีซ่า แต่สถานทูตต่างปิด และต้องนอนค้างที่สนามบิน ก่อนเดินทางมาเมืองคานส์ นั่นคือการผจญภัยกว่าจะได้มาที่นี่”
นักข่าวนิวยอร์ก ไทม์สถามว่า ลุงบุญมีระลึกชาติ และโครงการพริมิทีฟ โปรเจ็คต์ของเขา มีการแตะเรื่องการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น นายอภิชาติพงศ์ตอบว่า “ในประเทศไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะปฏิเสธสถานการณ์ทางการเมือง ผมยังคงทำหนังที่เป็นงานส่วนตัวของผม เป็นความเห็นส่วนตัวของผม แต่สถานการณ์การเมืองก็เข้ายุ่งเกี่ยวในชีวิตผมดังนั้น ผมต้องพูดถึงมันโดยธรรมชาติ และยิ่งเมื่อกฎหมายเซ็นเซอร์ระบุว่าคุณห้ามแตะประเด็นการเมืองในหนัง ยิ่งกระตุ้นให้ผมหาทางทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงออกทางการเมือง”
“ตอนที่เราร่วมกันตั้งกลุ่มเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ (Free Thai Cinema) ผมต้องศึกษา เรียนรู้ว่ารัฐบาลทำงานอย่างไร แล้วผมได้รู้ถึงระบบการทำงาน ที่น่าเกลียดข้างใน เมื่อคุณหันไปมองคนในนาบัว คุณจะได้เห็นว่าพวกชาวบ้านที่นั่นไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหมือนชนชั้นกลางในเมืองใหญ่เพราะว่าระบบซึ่งทำให้มีช่องว่างที่แตกต่างกันมากระหว่างคนรวยกับคนจน ผมดีใจที่ประชาชนมีโอกาสได้พูด ถึงแม้ว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่มันถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง”
สำหรับเสียงตอบรับที่สื่อต่างประเทศมีต่อหนังลุงบุญมีระลึกชาติ หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษให้ 5 ดาว และว่า “แทบไม่เหมือนภาพยนตร์ แต่เหมือนโลกอีกใบที่กำลังลอยอยู่มากกว่า” ขณะที่หนังสือสครีน อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า “เป็นภาพยนตร์ที่น่างงงวย ภายใต้เนื้อเรื่องที่เรียบง่าย แต่นำเสนอในรูปแบบที่ซ้ำซ้อน และมีนัยซ่อนอยู่”
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน