Select Page

แก้วิกฤตชาติด้วย ‘ศาสตร์พระราชา’

แก้วิกฤตชาติด้วย ‘ศาสตร์พระราชา’

          จากระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการรวมตัวกันของเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ จนบังเกิดผลสำเร็จเป็นตัวอย่างของการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสู่หลักปฏิบัติ เริ่มจากเกษตรกรแล้วขยายผลไปยังชุมชน ครู เชื่อมต่อไปยังภาคธุรกิจเอกชน และขยายไปยังคนอื่นที่สนใจซึ่งมีอยู่ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการนำเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชาไปปฏิบัตินั้นสามารถทำได้จริงทุกกลุ่มทุกสังคม

 

ที่มา :  นสพ.โพสต์ ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โดย :วรธาร ทัดแก้ว

         วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเวลาที่เหตุการณ์ทุกอย่างได้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาดทั้งคน สัตว์และพืช วิกฤตเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง วิกฤตความขัดแย้งของสังคมและสงคราม จำเป็นอย่างยิ่งว่าบุคคลต้นแบบที่มีการนำทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้จนประสบความสำเร็จต้องได้รับการขยายผลเป็นตัวอย่างให้คนในสังคมได้เห็นและเดินตาม

         อย่างไรก็ตาม บุคคลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นทั้งเกษตรกรเป็นทั้งนักธุรกิจที่นำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้แล้วประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิต  ซึ่งที่นำมากล่าวในที่นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น25300

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ : ที่ 1 ไร่ทำเงินเป็นล้าน

         เจ้าของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จ.ระยอง ก่อนที่จะนำเอาศาสตร์พระราชามาใช้เคยเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมล้านบาทจากการทำทุเรียนจนต้องหนีหนี้ไปอยู่ที่อื่น แต่สุดท้ายต้องกลับบ้านเพราะธนาคารจะยึดที่ เมื่อกลับมาก็ได้เจอกับวิวัฒน์ ศัลยกำธร ได้ชักนำให้ใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพึ่งตนเอง

          ทุกวันนี้ชีวิตของเขาพลิกกลับสู่ความสุขอีกครั้งจากการไปดูงานที่แหล่งเรียนรู้ต่างๆ แล้วเริ่มต้นทดลองทำปุ๋ยหมัก ทดลองเลี้ยงปลา กบ ที่สุดก็พบว่าที่ดินเพียง 1 ไร่ก็ทำรายได้ถึง 1 ล้านบาท พร้อมยอมรับว่าวิชาของในหลวงนั้นสามารถปลดเปลื้องทุกข์และหนี้ได้จริง สามารถคิดต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ต้องยอมรับว่าชีวิตนี้รอดเพราะปุ๋ยหมัก เพราะปุ๋ยหมักนี้เอาไปสร้างอาหารอื่นๆ ได้ เช่น ทำให้มีข้าว ผัก ผลไม้ และอื่นๆ

กันธร ทองธิว : แค่นำทฤษฎีฯ มาคิดก็สำเร็จไปกว่าครึ่ง25303

         ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลวิริยะพันธ์ ผู้บริหารเมืองโบราณ สานความฝันของการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลัง ผู้พลิกจากขาดทุนกว่าปีละ 40 ล้านมาตลอด 30 ปี มาเป็นการอยู่รอดอย่างยั่งยืนด้วยการนำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้กับชุมชนเมืองโบราณกว่า 400 ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ด้วยการพึ่งตนเอง
โดยที่เมืองโบราณมีการผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ มีการทำงานปลอดสารพิษ มีการนำน้ำมันเหลือใช้จากร้านอาหารต่างๆ มาผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อใช้กับรถนำเที่ยวในเมืองโบราณ มีการผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ใช้เอง ปลูกข้าว ปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อการบริโภค ทำให้ลดต้นทุนได้เยอะ

“โครงสร้างสังคมวัฒนธรรมของเมืองโบราณมีพร้อมอยู่แล้ว เพียงแค่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาคิดก็สำเร็จไปมากกว่าครึ่งแล้ว แค่คิดได้ เราก็รวยได้ แค่คิดได้ เราก็ล้างขาดทุนได้แล้ว เพราะเราคิดว่าสิ่งที่เราขาดทุนเป็นสิ่งที่เรากำไรซึ่งไม่ใช่ในเรื่องของตัวเลขแน่นอน”

เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร : ต่อยอดฮอร์สชูพอยท์ด้วยราชศาสตร์25304

ทายาทหนุ่มตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งคนนี้ ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ในครอบครัวต่อยอดธุรกิจฮอร์สชูพอยท์ด้วยความพอเพียงให้มาบุกเบิกโครงการฮอร์สชูพอยท์ที่ชลบุรีจากโรงเรียนสอนขี่ม้าที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความรักของคุณลุง แต่ประสบปัญหาทางธุรกิจมาโดยตลอด ก็ได้เข้ามาช่วยดูแลและได้มาพบและซึมซับศาสตร์แห่งพระราชาผ่านอาจารย์ยักษ์

โดยเขาได้นำมาปรับใช้กับโรงแรมและโรงเรียนสอนเลี้ยงม้า เช่น มีการปลูกข้าว ปลูกผักปลอดสารพิษ ผลิตสบู่ แชมพูเพื่อใช้ในโรงแรม ส่วนฟางข้าวก็นำมาเลี้ยงม้า เป็นต้น 

เพ็ชราทิพย์ คุ้มประยูร : มีความสุขอยู่บ้านกับอาชีพง่ายๆ แต่รายได้ดี

อดีตสาวออฟฟิศบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทข้ามชาติ ค้นพบอาชีพง่ายๆ รายได้ดี หันมามีความสุขกับการสร้างอาชีพง่ายๆ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีความสุขอยู่กับบ้าน กับต้นไม้ ค้นพบความต้องการของตนเองด้วยการทำน้ำยาอเนกประสงค์ลดสารพิษเพื่อคุณและสิ่งแวดล้อม

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดลดปริมาณสารเคมี เสริมด้วยคุณสมบัติจากสับปะรดและสูตรเฉพาะตัวที่ปรับปรุงขึ้น กลายเป็นสินค้าคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่แพ้สารเคมีจากผงซักฟอก ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “ช้องนาง” ที่ทำแบบพอดีๆ ขยายกิจการแบบเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง โดยมีความสุขเป็นเป้าหมายชีวิต

ชัยพร พรหมพันธุ์ : ชาวนาเงินล้านตัวจริง เสียงจริง 25301

น้อยมากที่ชาวนาไทยจะได้สัมผัสเงินล้าน ทว่าลุงชัยพรชาวนาจากสุพรรณบุรี เป็นคนโชคดีคนหนึ่งที่ได้สัมผัสเงินล้าน แม้ตอนแรกจะมีความคิดที่ไม่อยากทำนาเหมือนผู้เป็นพ่อ แต่ก็ต้องวนกลับมาทำนาเหมือนเดิม และกว่า 20 ปีที่ทำนาเคมี ลุงชัยพรบอกว่ามีแต่จนกับเจ็บ!

เขาเล่าว่าพอได้พบกับ เดชา ศิริภัทร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ที่มาขอใช้ที่นาของเขาทดลองแปลงสมุนไพร ชีวิตก็เปลี่ยนไป เมื่อตัวเขาทำการทดลองเองแล้ว พบว่าข้าวในนาปีที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลลดลงเหลือดีเพียงแปลงเดียวคือแปลงที่พ่นด้วยสะเดา ซึ่งบทพิสูจน์ที่เห็นกับตาตัวเองนี้เขาจึงเดินหน้ามุ่งทำนาอินทรีย์มากว่า 20 ปี

วันนี้เขาเป็นหนึ่งในชาวนาเพียงไม่กี่คนที่กล้าบอกว่าอาชีพทำนาไม่จนอีกต่อไป พร้อมบทพิสูจน์ด้วยการส่งลูกเรียนจนจบปริญญาโทและกำลังจะส่งลูกคนสุดท้องตามไป

คำเดื่อง ภาษี : ต้นแบบเกษตรประณีต

ต้นแบบผู้ทำการเกษตรประณีตจากภาคอีสาน เขาใช้ที่เพียง 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ที่กินได้ เป็นได้ทั้งยา สร้างบ้านเรือนในอนาคตได้ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำอาหาร สร้างชีวิตที่พอเพียงบนที่ดินเพียง 1 ไร่ โดยไม่ใช้สารเคมี

เน้นปรับแนวคิดใหม่จากการพึ่งพาตลาด พึ่งทุน จากภายนอกมาสู่การพึ่งตนเอง พึ่งธรรมชาติ ย้อนกลับสู่ภูมิปัญญาของท้องถิ่น พออยู่ พอกิน พอใช้

เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนชุมชนอีสานขึ้นในปี 2539 เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนเกษตรกรตามแบบชาวบ้านสอนชาวบ้านด้วยตระหนักว่ากางร่มคนเดียวในทะเลทรายเป็นไปไม่ได้

นพวรรณ ทิพย์วงศ์ : แม่บ้านพอเพียงบนที่ดิน 3 งาน

อดีตสาวโรงงานที่หวนคืนบ้านเกิดที่เชียงใหม่ ถือเป็นต้นแบบแม่บ้านที่หันมาลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ด้วยการปลูกผักอินทรีย์ ปลูกพืชตามฤดูกาล อนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ ทำอาหารปลอดสารพิษให้ครัวเรือน แปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน

เธอเป็นคนแรกในชุมชนที่ได้นำเอาความรู้ที่ได้จากการอบรมเดินเข้าสู่หนทางแห่งการพึ่งตนเอง โดยมีเครื่องมือพิสูจน์ผลสำเร็จเป็นบัญชีครัวเรือนที่แสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ลดลงและรายได้ที่ต่อเนื่องจากที่ดินเพียง 3 งาน
ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุข ไม่เครียดเหมือนเมื่อทำงานเป็นสาวโรงงานที่เงินน้อยไม่พอเลี้ยงครอบครัว แต่ทุกวันนี้อาหารการกินไม่ต้องไปซื้อ เพราะมีพร้อมเกือบทุกอย่าง มีรายได้ทุกวันแม้จะวันละร้อยสองร้อยก็ได้เก็บ เพราะรายจ่ายแทบไม่มีเลย  

ครูมานพ จิ้มลิ้ม : ลาแล้วหนี้จ๋า!25302

    ครูจากโรงเรียนวัดเกาะจันทาราม จ.ฉะเชิงเทรา ผู้เคยรวยนับล้านจากการขายที่ดิน ทว่าเมื่อเศรษฐกิจผันผวนที่ดินที่เคยสร้างผลกำไรก็กลายเป็นสร้างหนี้สินแทน เงินต้น 2 ล้านงอกเงยเป็น 6 ล้านบาทภายในเวลาไม่นาน ที่ดินที่เคยครอบครองถูกธนาคารยึด ไปทำนากุ้งหวังแก้วิกฤตปลดเปลื้องทุกข์ แต่สุดท้ายโชคไม่ช่วยต้องกลายเป็นสร้างหนี้เพิ่ม กลุ้มใจมากไม่มีทางออกจึงหันไปดื่มสุรากลายเป็นครูขี้เมา

แต่โชคดีที่ชีวิตมาเปลี่ยนไปเมื่อเพื่อนครูชวนไปอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลับมาทำบัญชีครัวเรือน ใช้สติแก้ปัญหา ใช้ปัญญาแก้สถานการณ์ โยกหนี้นอกระบบเข้าสู่บัญชีสหกรณ์ ปัจจุบันชอบที่จะถ่ายทอดความรู้ศาสตร์พระราชาเป็นวิทยาทานให้คนทั่วไปที่สนใจ

 

 

 

อภิรัต สืบสงวน : ความสุขคนเมืองผู้รักความพอเพียง 
 
หนึ่งตัวอย่างคนเมืองที่รู้จักคำว่าพอเพียงและการแบ่งปัน จากเจ้าของร้านค้าส่งทองผู้พลิกชีวิตสู่ความพอเพียง ทำตัวเองเป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ปลูกพืชผักปลอดสารพิษนานาชนิด เขาบอกว่าอยากกินอะไรก็ปลูกลงไปในที่ดินที่นครปฐมจำนวน 40 ไร่ แล้วนำความรู้เรื่องสมุนไพรและจุลินทรีย์มาประยุกต์ใช้กับเกษตรอินทรีย์ช่วยให้เกษตรกรพืชเชิงเดี่ยวได้หันเข้ามาสู่ก้าวแรกของการทำเกษตรปลอดสารพิษ และมีความหวังว่าในวันหนึ่งสวนของเขาจะเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

เขากล่าวว่า เศรษฐกิจพอเพียงคนทั่วไปมักเข้าใจว่าจะต้องเป็นเกษตรกร ชาวนาจึงเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ในภาคของเขาก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ด้วยการทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกงใคร ไม่เบียดเบียนคนอื่น ตรงนี้ก็คือวิธีการของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างหนึ่ง อีกอย่างเมื่อเราหามาได้แล้ว เราต้องรู้จักความพอเพียง ไม่ใช่หาได้เยอะก็ใช้เยอะ หรือเอาไปใช้ในเรื่องอบายมุขต่างๆ

เชื่อว่าศาสตร์ของพระราชาหากใครได้นำไปปฏิบัติแล้วก็จะทำให้ผู้นั้นประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตและการงาน และสามารถแก้วิกฤตต่างๆ ได้จริง และก็หวังว่าคนต้นแบบเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยหลายๆ คนทุกหมู่เหล่าในทุกสาขาอาชีพได้หันมาใช้หลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงานทั้งปวง

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.