Select Page

สกัดภัยเงียบสิ่งแวดล้อม

สกัดภัยเงียบสิ่งแวดล้อม

น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง “ภัยเงียบ” ซึ่งค่อยๆสะสมจนถึงวันนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่คุกคามความมั่นคงของระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล

ภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเบื้องต้นก็มีการแก้ปัญหาด้วยการน้ำท่อนไม้มาปักต้านแรงคลื่น

ภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเบื้องต้นก็มีการแก้ปัญหาด้วยการน้ำท่อนไม้มาปักต้านแรงคลื่น

เพราะเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรไทยอยู่ อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่ชายฝั่งที่มีศักยภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ การกัดเซาะ ชายฝั่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทำให้สูญเสียพื้นที่ชายฝั่งมากกว่าหนึ่งแสนไร่ ชายฝั่งที่เสียหาย ไม่เพียง ทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังกระทบต่อการ ดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ อีกทั้งนำมาซึ่งความขัดแย้งในพื้นที่เสี่ยงและระหว่างกลุ่มต่างๆ

นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง ระบุว่า แนวชายฝั่งทะเลไทยมีความยาว 3,148 กิโลเมตร จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและ จัดทำแผนหลักในช่วง 10 ปี ปรากฏข้อมูลว่ามีแนวชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะประมาณ 655 กิโลเมตร แต่หากศึกษาวิเคราะห์แนวชายฝั่งย้อนหลังไป 50 ปี จะพบว่าแนวชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะไปแล้ว ประมาณ 830 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 26% ของความยาวแนว ชายฝั่งทะเลทั้งหมดใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล มีพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ จำนวน 282 พื้นที่ ในท้องที่ 173 ตำบล 82 อำเภอ โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ถูก กัดเซาะรุนแรงระดับวิกฤติ จำนวน 44 พื้นที่ ระยะ ทางที่ถูกกัดเซาะระดับวิกฤติ ประมาณ 169 กิโลเมตร อยู่ในท้องที่ 19 จังหวัด 33 อำเภอ 40 ตำบล ที่สำคัญข้อมูลจากการศึกษาพื้นที่ถูกกัดเซาะระดับวิกฤติ จำนวน 29 พื้นที่ มีแนวโน้มว่าหากไม่จัดการปัญหากัดเซาะจะทำให้สูญเสียที่ดินชายฝั่งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10,544 ไร่ ซึ่งมูลค่าความสูญเสียนับเป็นหมื่นๆ ล้านบาท

 

ภาพนายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพนายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

                           “การกัดเซาะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดจากการสำรวจพบว่าการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเกิดขึ้นในทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะชาย ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยที่วิกฤติหนัก เป็นพื้นที่ ที่มีอัตราการกัดเซาะมาก กว่า 5 เมตร/ปี มีทั้งสิ้น 12 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ  กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส” อธิบดี ทช. ระบุขณะที่ข้อมูลจากนักวิชาการอย่าง

                           ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาและการจัดการชายฝั่ง ระบุชัดถึงสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทร- ปราการ และฉะเชิงเทรา ว่า ในช่วง 54 ปี คือตั้งแต่ปี 2495-2549 แนวชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนบนซึ่งมีความยาวชายฝั่ง 108.34 กิโลเมตร ได้ถูกกัดเซาะ ไปแล้ว 74.14 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ถูกกัดเซาะประมาณ 16,762 ไร่ โดยอีก 20 ปีข้างหน้า หากไม่ดำเนินการใดๆ คาดว่าจะสูญเสียพื้นที่อีกประมาณ 5,290 ไร่

สอดรับกับ ดร.สุทัศน์ วีสกุล จากสถาบันเทค- โนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) ซึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนและแนวชายฝั่งถูกคลื่นซัดตามสภาพฤดูมรสุมทำให้เกิดปัญหากัดเซาะอย่างรุนแรง บางพื้นที่ชายฝั่งหายไป 10-20 เมตรต่อปี เช่น เขตบางขุนเทียน ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ไปแล้วกว่าพันไร่ นอกจากนี้ ต.คลองสอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ต.แหลมฟ้าผ่า ต.คลอง-ด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ มีอัตรากัดเซาะสูง ถึงปีละ 28 เมตร “ควรเร่งแก้ปัญหาและฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มการตกตะกอนตามธรรมชาติ โดยถมหาดเลนโดยใช้ดินเลนจากการขุดลอกร่องน้ำท่าเรือกรุงเทพ หรือนำเลนที่ตกตะกอนจากปากแม่น้ำบางปะกงมาถม หรือใช้เทคโนโลยีใยสังเคราะห์ใส่ดินตะกอนในพื้นที่นำมาเรียงให้คลื่นและกระแสน้ำไหลข้ามนำตะกอนมาตกด้านหลังให้งอกเงยได้ สร้างโครงสร้างสลายพลังงานคลื่น เพื่อลดแรงคลื่นที่ปะทะเข้าฝั่งแล้วปลูกป่าหลังโครง สร้างรวมทั้งจัดการชายฝั่ง” ดร.สุทัศน์ กล่าวย้ำในตอนหนึ่ง

                            “การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา นายก-รัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทำแผนแม่บทแห่งชาติเรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นการเร่งด่วน และมอบให้ ทช. เป็นเจ้าภาพหลัก โดยดำเนินการให้เสร็จในเดือน ก.ย.นี้” อธิบดี ทช. กล่าวถึง การให้ความ สำคัญของรัฐบาลต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และนำมาซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์ของ ทช. พร้อมแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ที่จะเสนอคณะรัฐ-มนตรี (ครม.) ในการประชุมวันที่ 10 ก.ย.นี้

 

ภาพเขื่อนสลายกำลังคลื่นที่ทำด้วยเสาปูน

ภาพเขื่อนสลายกำลังคลื่นที่ทำด้วยเสาปูน

ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่จะเสนอ ครม.ครั้งนี้ จะทำแบบครบวงจร ที่สำคัญคือการสร้างโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการตัดสินใจทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศรวมถึงการจัดการพื้นที่วิกฤติและพื้นที่เร่งด่วน โดยคํานึงถึงความสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง- แวดล้อมระดับชาติ มีการกําหนดและจําแนกเขตพื้นที่ที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตและเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกมาตรการจัดการป้องกันและแก้ไข ขณะเดียวกัน การจัดทำแผนป้องกันพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะชายฝั่งทะเลครั้งนี้ ยังมุ่งเน้นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่อย่างเหมาะสม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่และเกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน กําหนดมาตรการเชิงรุกในการติดตาม ตรวจ     สอบสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลตลอดจนจัดทําระบบประเมินผลการดําเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับพื้นที่ เป็นต้น

                            ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลตระหนักถึงปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่สิ่งที่เราอดห่วงไม่ได้คือ การสานแผนแม่บทแห่งชาติ เรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เป็นจริง เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง คงไม่มีใครอยากเห็นการแก้ปัญหาที่เริ่มต้นอย่างสวยหรู กลับต้องจบแบบท่าดีทีเหลว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 10 กันยายน 2556 หน้า 15

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.