พล ตัณฑเสถียร ศิลปินผู้สร้างอาหารเป็นงานศิลปะ
ร้าน Spring & Summer ของคุณพล ตัณฑเสถียร เป็นที่รู้จักของคนที่ชอบรับประทานอาหารนอกบ้านอย่างมีรสนิยมมากกว่า 4 ปีแล้วค่ะ ร้านตั้งอยู่ในซอยพร้อมศรี ดิฉันเข้าไปทางสุขุมวิท 39 จนเห็นแยกพร้อมศรีทางขวามือก็เลี้ยวเข้าไป เรื่อง : สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ขับต่อไปอีกนิดก็จะเห็นบ้านทรงเก๋ 2 หลังในรั้วเดียวกัน และสนามหญ้าเขียวสดชื่น นั่นล่ะค่ะที่หมาย
Spring เป็นชื่อเรียกบ้านหลังใหญ่ ขายอาหารกลางวันจนถึงบ่ายสองโมงครึ่งก็จะปิด แล้วเปิดรับลูกค้าอีกรอบสำหรับมื้ออาหารเย็นซึ่งสามารถนั่ง Hang Out ได้ค่อนคืน
Summer เป็นบ้านหลังเล็กที่สร้างขึ้นใหม่ก่อนเปิดร้าน เป็นChocolate Bar มีของว่าง เครื่องดื่ม และเบเกอรี่อร่อยๆ
นอกจากบ้าน 2 หลังที่เต็มไปด้วยมุมสบายให้เลือกนั่งแล้ว ยามแดดร่มลมตกจะไปเอกเขนกกันที่สนามหญ้าเขาก็มีเบาะนุ่มๆ ไว้ให้ จะนั่งจะนอนก็ตามสบายเหมือนอยู่บ้านเพื่อน
คุณพลลงมาต้อนรับด้วยความเป็นกันเอง และเราก็เริ่มต้นคุยกันถึงเรื่องรายการอาหารทางโทรทัศน์ เพราะทราบว่าคุณพลเป็นพิธีกรรายการทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ออกอากาศทุกเช้าวันจันทร์ มาได้สักพักหนึ่งแล้ว
“ผมว่ารายการทำอาหารในบ้านเราตอนนี้มีเยอะมากขึ้นทีเดียว จากแต่ก่อนที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจอาชีพการทำอาหาร ตอนนี้อาชีพเชฟกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความสนใจจากเด็กรุ่นใหม่ ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากคนทำอาหารหรือเชฟของเมืองนอกที่มีบุคลิกที่น่าสนใจ ดูเป็นแฟชั่นมากขึ้น อย่าง Jamie Oliver, Bill Granger, Neil Perry, Gordon Ramsay หรือผู้หญิงเก่งอย่าง Martha Stewart กับพวกรายการแข่งทำอาหารต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเริ่มที่จะมองการทำอาหารเป็นศิลปะบันเทิงมากขึ้น คนไม่ทำอาหารได้เสพได้ดูก็ยังสนุกได้”
“…ส่วนรายการที่ผมเป็นพิธีกรตอนนี้ชื่อ 9 Society ทุกแปดโมงเช้าวันจันทร์ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี เป็นรายการอาหารกึ่งวาไรตี้ ส่วนแรกจะเป็นเรื่องที่ผู้ชายยุคใหม่ให้ความสำคัญและผู้หญิงเองก็อยากรู้ ไม่ว่าเรื่อง Trend ต่างๆ การดูแลตัวเอง หรือสิ่งน่าสนใจที่กำลังได้รับความนิยม โดยจะสื่อผ่านทางแขกรับเชิญบ้าง หรือบางครั้งก็อาจจะสื่อผ่านทางผมเอง และในอีกส่วนที่อาจจะเป็นภาพใหม่สำหรับผู้ชมทางทีวีก็คือเรื่องของการทำอาหาร โดยหลักแล้ว ผมจะเป็นคนลงมือเอง นอกจากบางเทปก็อาจจะชวนเพื่อนคนนั้นคนนี้มาบ้าง ในช่วงแรกก็เกร็งเหมือนกันว่าคนดูจะรับเราในอีกมุมของอาชีพการทำอาหารได้หรือไม่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาดีขึ้นทุกๆ วัน”
ดูเหมือนว่าระยะหลังนักแสดงมาดนุ่มอย่างพล เป็นที่ยอมรับในแวดวงอาหารมากพอๆกับอาชีพนักแสดงแล้วนะคะ เพราะไม่เพียงแต่รายการโทรทัศน์ แต่ยังได้รับเชิญไปสาธิตการทำอาหารในงานอีเวนต์ต่างๆ และงานเขียนคอลัมน์ในนิตยสารชื่อดังด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวางแผนชีวิตและเดินตามแผนที่ชัดเจนของเขาเอง
จากแรงบันดาลใจไม่ใช่ตามกระแส
“…จริงๆ ผมคิดมานานมากแล้ว ตั้งแต่ตอนที่เป็นนักแสดง ผมเรียนจบ MBA มา ก็เลยมองตัวเองเหมือนสินค้า มีขึ้นมีลง การมาเป็นนักแสดง ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ถ้าวันหนึ่งที่เราอายุมากแล้ว คงไม่อยากทำงานที่ต้องวิ่งไปวิ่งมา อยู่ไม่เป็นที่ หรือเด็กใหม่ที่ก็ต้องขึ้นมาแทนที่ เราเองก็ควรเตรียมอาชีพสำรองได้รองรับตัวเอง การที่ผมคิดถึงอาชีพเชฟอาจเป็นเพราะพรมลิขิตไว้ ผมไม่ค่อยมีเพื่อนในวงการบันเทิง แต่เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่สนิทที่นับถือก็ล้วนอยู่ในสายงานอาหารทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเชฟ หรือฟู้ดสไตลิทส์ ได้เห็นงานสวยๆ ดีๆ ได้ทานอาหารอร่อยๆที่เพื่อนทำ ก็เลยบอกตัวเองว่าถ้าไม่เป็นนักแสดง ก็คงต้องเป็นเชฟนี่แหละ”
เดินตามเป้าหมายชีวิต
“…พอมีเป้าหมายแล้วก็ต้องเริ่มศึกษาเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง โดยผมเริ่มจากการเขียนคอลัมน์แนะนำร้านอาหารให้นิตยสารท่องเที่ยวเล่มหนึ่ง ทำทั้งหมด 3 คอลัมน์ เป็นโอกาสที่ทำให้ได้ประสบการณ์มากมาย อยากรู้เรื่องความเป็นมาของร้านไหนก็ไปขอชิมร้านนั้น รู้จักเชฟเยอะขึ้นมาก ประกอบกับความเป็นคนอ่อนน้อมและถ้าชอบอะไรก็จะจริงจังกับสิ่งนั้น เชฟแทบทุกคนได้ได้เจอ ได้สัมภาษณ์ ก็จะขอนามบัตรเข้าไว้ แล้วก็พยายามรักษาคอนเนคชั่นไว้ ถึงเทศกาลปีใหม่ก็ส่งการ์ดไป ให้เขารู้ว่าเรายังคิดถึงเขาเสมอ ได้เขียนคอลัมน์อยู่เป็นปี มีมุมมองในเรื่องของการทำอาหารมากขึ้น เริ่มรู้สึกอยากเป็นเชฟ ก็เลยคิดง่ายๆ ว่าเปิดร้านอาหารเลยแล้วกัน ปรากฏว่าประสบการณ์ที่คิดว่าเยอะแล้ว มันกลับช่างน้อยนิดกับโลกของธุรกิจของร้านอาหาร ในช่วงแรกๆ รู้สึกเหมือนคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นโดนผลักตกลงทะเล ดำผลุดดำโผล่ ถ้าไม่กระเสือกกระสนก็คงจมน้ำตาย…”
ไม่เคยยอมแพ้
“…ต่อให้มีปัญหาอะไรผมก็ไม่เคยท้อ ลุยตลอด เพราะผมเป็นคนตั้งเป้าหมายชีวิตตัวเองชัดเจน ที่เปิดร้านก็เพราะอยากเข้าครัว อยากเป็นเชฟ เคยมีบางคนเสนอตัวมาบริหารจัดการร้านให้เบ็ดเสร็จโดยที่ผมไม่ต้องทำอะไรเลย ก็อยากจะหายเหนื่อย แต่ก็ปฏิเสธไปเพราะไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตของเรา
อยากให้คนยอมรับผมในสายงานอาหารมากขึ้น เขียนคอลัมน์แนะนำร้านอาหารมาแล้ว อยากเขียนคอลัมน์ทำอาหารของตัวเองบ้าง ก็เลยลองเขียน Concept ขึ้นมา เป็นแนวที่เราชอบ แล้วก็เขียนเป็นตัวอย่าง 2-3 สูตร ส่งไปตามนิตยสารที่เราอยากเขียน เดชะบุญ นิตยสารที่ตอบรับมาเล่มแรกซึ่งเป็นเล่มที่อยากเขียนให้มากที่สุดด้วย ก็คือ แพรว เผอิญช่วงนั้นทางแพรวก็ไม่ได้มีนักเขียนประจำเขาก็โทรกลับมาถามว่าพลอยากเขียนเหรอ ก็เลยให้โอกาสผมเขียน ผมอยากบอกคุณหนิงเลยว่าในชีวิตพลไม่ได้อะไรมาง่ายๆจากแมวมอง อยากเป็นนักแสดงพลก็เดินเข้าไปหา หลังเขียนลงแพรวมาได้ 2 ปี ทางนิตยสารเองก็อยากได้อะไรใหม่ๆ บ้าง ตอนแรกเกือบจะเอาคนอื่นมาแทนแต่คงเป็นเพราะเห็นความตั้งใจของเรา ก็เลยยังเขียนอยู่เดือนละเล่มจนถึงวันนี้ก็ครบสามปีแล้วครับ”
จากนั้นก็มีข่าวว่าเลอ กอร์ ดอง เบลอ จะมาเปิดในเมืองไทย โอ้โห! ดีใจมาก บอกเด็กๆ ที่ร้านเลยว่าขอให้ช่วยผมดูแลร้านมากขึ้น ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 9 เดือน ช่วงนั้นหนักมาก ต้องเรียนตั้งแต่ 08:30 น.ถึง 15:30 น.กลับมาก็ต้องมาดูแลร้านต่อจนดึก งานแสดงต้องงดไปเลย มีละครเข้ามาก็รับไม่ได้ แต่เป็นช่วงที่มีความสุขเหลือเกิน
ตั้งหน้าตั้งตาเรียน แล้วเวลา 9 เดือนก็ผ่านไปเร็วมาก ผมอยากบอกคนที่อยากทำอะไรแล้วอ้างว่าไม่มีเวลาว่า ถ้าคุณอยากจะทำอะไรคุณก็ต้องลงทุน เวลาทุกคนสำคัญเท่าๆกันแหล่ะ แต่เมื่อตั้งใจจะทำอะไรก็ต้องทุ่มเท…”
ศิษย์รุ่นแรกของเลอ กอร์ดอง เบลอ
“…รุ่นแรก(เน้นเสียง)รอตั้งนานกว่าจะเปิดหลังจากจ่ายเงินไปแล้ว ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก อยากเรียนมาก แต่ไปเรียนเมืองนอกไม่ไหว ไม่มีเวลา คือเป็นเหมือนความฝัน…
…ถ้าพูดเรื่องค่าเรียนนั้นถูกกว่าในแง่ไม่ต้องไปเสียค่ากินค่าอยู่ แต่ค่าหลักสูตรผมว่าน่าจะพอๆ กัน อาจจะถูกกว่าเล็กน้อย…
…สิ่งที่ได้รับจากการไปเรียนที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ในความรู้สึกพลๆว่าแต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน ตัวผมเองเหมือนคนที่เรียนจบปริญญาตรีแล้วออกไปทำงานจนกระทั่งจนมุมแล้วจึงไปเรียนต่อปริญญาโท คือผมมีประสบการณ์มาแล้วตอนที่เรียนปริญญาตรีจบแล้วไปต่อโทเลย ง่อยมากๆ เพราะเพื่อนที่ไปเรียนด้วยกันส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีประสบการณ์การทำงาน บางคนอายุ 40 เขาทำงานแล้วตันก็เลยไปขยายความคิดในแง่มุมของเขา ผมไปเรียนทำครัวนี่ก็เหมือนกัน สภาพผมไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ ผมทำอาหารมาก่อน ลองผิดลองถูกมาก่อน ผมเปิดร้านมาหลายปีแล้วก่อนจะไปเรียนเลอ กอร์ดอง เบลอ ล้มลุกคลุกคลานในครัวมาก่อน คือเปิดร้านมาประมาณ 2 ปีครึ่งถึงไปเรียน รู้ตัวว่ามีปัญหาอะไร และอยากจะไปเติมความรู้อะไร ดังนั้นถ้าเราไปถามศิษย์เลอ กอร์ดอง เบลอ หลายๆคน ก็คงได้ฟังหลายๆ คำตอบ บางคนอาจจะบอกได้สูตรอาหารมาเยอะมาก บางคนอาจจะได้เรื่องเทคนิค แต่ผมมองว่าเรื่องสูตรอาหาร เราสามารถหาได้จากทางอินเทอร์เน็ท หรือพวกตำราอาหารก็ได้ คนที่ไม่มีเงินไปเรียนที่เลอ กอร์ ดอง เบลอ ก็แค่ซื้อสูตรอาหารของเลอ กอร์ ดอง เบลอ มาทำตามก็ได้เหมือนกัน ในนั้นจะบอกวิธีทำอะไรเหมือนไปโรงเรียนเป๊ะเลย แต่สิ่งที่พลได้มากที่สุดคือเรื่องของการบริหารครัว หรือวินัยในการทำครัว คือเด็กบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเอ๊ะ ทำไมเข้าครัวถึงต้องรวบผม แต่งตัวให้เรียบร้อย อยู่ในครัวใช้มีดผิดทำไมครูถึงว่า แล้วบางทีเขาก็ดุ เหมือนที่เราเห็นในทีวีว่าเชฟจะดุอย่างไรเราก็ต้อง “Yes,Chef” ตลอด บางคนอยู่บ้านไม่เคยโดนดุ ก็ต้องมาโดนเชฟดุ แล้วคุณหนูก็ไปเรียนเยอะนะ เด็กๆ อายุน้อยๆ ก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เชฟดุนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่รู้ว่าเขากำลังสอนให้คุณมีวินัย เขาสอนให้คุณรู้จักรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำ ถึงแม้ผมอยู่ในครัวมา มีลูกน้องก็เยอะ แต่พอถึงตรงนั้นเราก็ต้องถอดหมวกใบเดิมออก วันนี้ฉันมาเป็นลูกน้อง วันนี้ฉันมาเป็นลูกศิษย์ เพราะฉะนั้นเชฟใหญ่ที่สุดที่นั่น เชฟจะไล่ใครออกไปก็ต้องออก วันแรกมีแว่บออกไปเข้าห้องน้ำโดยไม่ขออนุญาตกลับมาก็โดนดุ ต้องทำความเข้าใจสถานะกันใหม่ว่าเวลาที่อยู่ในห้องครัวมันคืออาณาเขตของเขา จะเข้าจะออกขอให้บอกเขา ถ้าเรามีทิฐิจัดก็อาจจะคิดว่าทำไมล่ะ ฉันอยู่ร้านไม่มีใครกล้าแตะ ทำไมมาอยู่ที่นี่ต้องยอมเชฟ แต่ในความเป็นจริง เชฟพูดอะไรทำอะไรต้องถูกหมด รสชาติอาหารที่เชฟทำจะใส่ส่วนผสมอะไรก็คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ต้องศึกษา เราต้องทำตามเชฟให้ได้ ก็จะมาเอาความรู้ก็ต้องเปิดใจรับ แก้วน้ำที่มันเต็มอยู่แล้วก็คงจะใส่อะไรลงไปไม่ได้อีก อาชีพการทำอาหาร ผมว่าเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะคุณกำลังทำงานอยู่กับของที่คนบริโภคเข้าไป ไหนจะเรื่องสุขลักษณะ อนามัยทั้งหลาย ถ้าคุณเป็นคนมักง่าย อาชีพนี้คงไม่เหมาะกับคุณ …”
มากกว่าการทำอาหาร
“…จากการที่มาทำร้านอาหารเอง เวลาไปทานอาหารร้านไหนแล้วเห็นความผิดพลาดพลจะดูก่อนว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือประมาทเลินเล่อ มีสิ่งแปลกปลอมอะไรอยู่ในอาหารที่อาจจะติดมาจากตลาด ถ้าดูว่าเขาตั้งใจทำดีที่สุดแล้วแต่พลาดก็คุยกันได้ไม่มีปัญหา แต่บางอย่างก็รับไม่ได้ เพราะพลเคยเห็นกับตาว่าคนแพ้อาหารแล้วต้องอุ้มไปโรงพยาบาลเลย เพราะฉะนั้นเชฟต้องรู้เรื่องพวกนี้ คนที่แพ้ถั่วลิสง เชฟต้องรู้ว่าอาหารชนิดไหนที่มีหรือไม่มีส่วนผสมของถั่วลิสง บางคนแพ้แป้งก็ต้องไม่ให้มีส่วนผสมของแป้งเลยจริงๆ หรือบางคนเป็นมังสวิรัติ แต่พ่อครัวบางคนกลับใส่น้ำมันหอยลงไปในอาหารให้เขาหน้าตาเฉย…”
“…เรียนจบแล้วสิ่งที่ได้มาใช้มากเลยคือเรื่องการบริหารจัดการ แล้วก็เทคนิคหลายๆ อย่างที่อาจหาจากหนังสือไม่ได้ เรื่องการบริหารจัดการคงเริ่มตั้งแต่การเลือกรับคนเข้าทำงานเลย เพราะการจะรับใครมาทำงานผมต้องรู้ก่อนว่าผมจะบริหารเขาได้ยังไง เวลาสัมภาษณ์นี่จะถามตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ กิจวัตรประจำวัน งานอดิเรก อาหารที่ชอบ ร้านโปรดอะไรต่างๆ เพราะพอฟังเขามากๆ จะรู้เลยว่าเขาเป็นคนอย่างไร รักความสะอาดหรือไม่ เพราะเราไม่สามารถจะฝึกใครให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยสิ้นเชิงถ้าเขาไม่ใช่ตัวจริง บางคนเราพาเข้าไปดูในครัวของร้านแล้วให้เขาวิจารณ์ว่าเป็นอย่างไร ก็ โอ้โห! สะอาดเรียบร้อยกว่าครัวผมตั้งเยอะ แบบนี้ไม่ผ่านนะ เพราะเราเอง เราก็อยากได้คนที่มีมาตรฐานมาดีอยู่แล้ว แล้วยังต้องดูความคิด ทัศนคติต่ออาชีพของเขาด้วยว่าเป็นอย่างไร ถ้าในอนาคตอยากเป็นเชฟที่มีชื่อเสียง อยากเป็นเจ้าของร้านของตัวเอง พลจะชอบคนเหล่านี้มากกว่าคนที่ไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ก็เลยทำอาหารแล้วกัน…”
Spring & Summer
“…ร้านอาหารเป็นธุรกิจปราบเซียน ร้านจะสวยอย่างเดียวก็ไม่ได้ อาหารจะอร่อยอย่างเดียวก็ไม่ได้ ผมค่อนข้างโชคดีที่หลายอย่างลงตัว อาจเป็นเพราะสถาปัตยกรรมของร้านที่สวยก่อนก็เป็นไปได้ สภาพแวดล้อมตอนแรกก็ไม่คึกคักเท่านี้ มีคนทักว่าเป็นจุดอับเสียด้วยซ้ำ ลูกค้าเป้าหมายของผมทีแรกก็นึกว่าจะเป็นวัยรุ่น ยัปปี้ แต่ปรากฏว่าไปๆมาๆ ลูกค้าหลักกลับเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งอาจถูกจริตของร้าน ผมเชื่อว่าร้านอาหารแต่ละร้านจะมีจริตซึ่งสะท้อนบุคลิกลักษณะของเจ้าของร้านด้วย และโชคดีว่าร้านของผมได้ review ในสื่อต่างประเทศเยอะมาก ได้ลงใน Wallpaper ของลอนดอน ซึ่งทำให้ไม่เพียงแต่ชาวต่างชาติเท่านั้นที่มา แต่คนไทยที่อ่านหนังสือนอกก็มาเยอะเพราะอยากจะมาดูว่าร้านคนไทยทำอย่างไรถึงได้ลงนิตยสารเมืองนอกได้ จากนั้นเราก็ได้ไปอยู่ใน Guide Book ของ Wallpaper และ LUXE Guide Bangkok หรือ Gourmet Traveller ของออสเตรเลีย ลงใน New York Times ในบทความที่เขาคัดเลือกร้านอาหารเด่น รวมไปถึงใน Herald Tribune และELLE ของฝรั่งเศสด้วย และทุกอย่างนี้ฟรีหมดไม่เคยต้องเสียเงิน บางฉบับไม่รู้ว่าเขามาเป็นลูกค้าตอนไหนด้วยซ้ำ แต่มีคนมาบอกว่าเห็นลงในนิตยสารของการบินไทยบ้าง สิงคโปร์บ้าง (น้ำเสียงดีใจ) อาจจะเป็นการขยายผลจากสื่อหนึ่งไปอีกสื่อหนึ่งต่อๆกันไปก็ได้ ที่สำคัญคือสื่อแต่ละฉบับที่ได้ลงเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือจากผู้อ่านอย่างสูงเสียด้วย พลถึงได้บอกว่าจริตของร้านนี้มันคงถูกกับฝรั่ง แล้วสังเกตว่าเวลาเขาถ่ายภาพไปลงเนี่ยร้านจะสวยมาก มุมมองในการถ่ายภาพเขาก็จะแตกต่าง จะบอกว่าผมโชคดีก็ได้ แต่ผมก็ตั้งใจมากจริงๆนะครับ…”
สร้างชื่อ สร้างทีม สร้างงาน
“…ผมกำลังจะเดินทางไปดูไบ เพื่อไปทำอาหารให้เชฟโรงแรม ร้านอาหาร และสายการบินประมาณ 70 คน เป็นเรื่องที่น่ายินดี เรื่องของเรื่องก็คือผลิตภัณฑ์อาหารที่ผมทำงานร่วมด้วยมาช่วงหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตที่นี่ แต่ตลาดใหญ่ในเมืองนอก ปกติหน้าที่ของผมก็คือทำอาหารโดยใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาให้ออกมาหลากหลาย ซึ่งงาน ThaiFex ที่ผ่านมา ผมก็จัดงานเลี้ยงรับรองลูกค้าของทางบริษัทนี้ประมาณ 20 ประเทศ ซึ่งก็มีตัวแทนจากหลายประเทศที่ชอบสูตรอาหารของเรา ผมก็เขียนสูตรวิธีทำให้ทั้งหมด แต่บางคนเอากลับไปทำก็ออกมาไม่เหมือนกัน เขาก็เลยให้เราไปสอนที่นั่นซะเลย ดีใจมาก ก็เป็นอีกเรื่องที่ดูเหมือนว่าดวงสมพงศ์กับต่างชาติ…”
“…ความฝันเหรอครับ อยากเป็น Food Contributor ในนิตยสารของเมืองนอกที่เราชอบอ่านทั้งหลาย ว่าจะลองแปลคอลัมน์ที่เขียนแล้วลองส่งไปบ้าง อยากอยู่ในจุดที่คนที่เป็นฮีโร่ของเราเขาอยู่กันบ้าง ไม่ลองก็ไม่รู้ ใช่ไหมครับ…”
“…ในอนาคตอาจเปิดร้านอาหารขึ้นมาอีกสัก 2 ร้าน แต่คงเป็นร้านใหม่เลย ไม่ใช่การขยายสาขาของ Spring & Summer เพราะอยากให้แต่ละร้านมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อยากมีสินค้าบริโภคเป็นของตัวเอง อย่างซอสรสโก้ๆ หรือน้ำสลัด นอกจากนี้ก็อยากทำตำราอาหาร อยากทำหลายๆ ภาษา อยากให้หนังสือของเราได้ไปไกลๆ ไม่ผิดใช่ไหมที่จะฝันให้ใหญ่เข้าไว้…”
“…ผมชอบสร้างงาน และคิดว่าคนเราเมื่อเป็นผู้รับแล้วก็ต้องเป็นผู้ให้บ้าง มีผู้ใหญ่หลายท่านที่เอ็นดูผมและถ่ายทอดความรู้ให้อย่างจริงใจ ผมได้รับความรู้เรื่องการทำอาหารจากเจ้าของจิตรโภชนาซึ่งเป็นคุณพ่อของเพื่อน พอมาทำร้านเองก็อยากจะสร้างคนอื่นบ้าง อย่างคนที่ช่วยงานผม ในอนาคตถ้าเขามีศักยภาพที่จะทำงานแทนเราได้ เราก็อาจจะให้เขาดูแล แล้วผมก็จะได้ใช้เวลาท่องเที่ยว พักผ่อน เล่นกีฬาบ้าง ตอนนี้เหมือนอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างทีม อยากทำงานกับคนดีๆ อยากสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้เก่งๆ ผมอยากจะเกษียณเร็วๆ นะครับ (ปีนี้คุณพลอายุ 37 ปีค่ะ)
อาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่เมตตาผมมาตลอด ทุกวันนี้พลจะต้องไปหาท่าน ทำอาหารทำขนมกับท่านทุกวันจันทร์ มีอะไรก็ไปปรึกษาท่าน เป็นเหมือนวัน Cooking Therapy ของผม ได้บำบัดจิตผ่อนคลายด้วยการทำอาหาร(หัวเราะ)…”
“…ผมรักงานศิลปะ แต่งานของผมสวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขายได้ เข้าถึงได้ เข้าใจง่ายด้วย เหมือนกับการแสดงละคร พลไม่ชอบเล่นละครเวทีที่บทดีเหลือแต่ดูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ หรือละครที่บทซับซ้อน…กลับถึงบ้านแล้วยังตีความไม่ออก ผมชอบเล่นละครที่ดูง่าย เข้าใจง่าย คนดูสนุก อาหารก็เป็นอย่างนั้นนะ ผมไม่ชอบอร่อยคนเดียว คนหมู่มากทานแล้วต้องอร่อย ประยุกต์ได้ สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ และทำให้คนมีความสุข…”
พล ตัณฑเสถียร ที่ดิฉันได้พูดคุยในยามบ่ายของวันอากาศแจ่มใสนี้ ช่างมีพลังเหลือเฟือ และแววตาเป็นประกายตลอดเวลาเมื่อได้พูดในเรื่องที่เขารัก ด้วยความเป็นศิลปินเขาจึงรักศิลปะ ด้วยความเป็นนักบริหารจัดการเขาจึงบริหารร้านอาหารเก๋อย่าง Spring & Summer ได้อย่างงดงาม และด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่นทุ่มเทเขาจึงได้รับการยอมรับในทุกเส้นทางที่เขาเลือก คุณพลบอกว่าแรงบันดาลใจสำคัญที่สุดในชีวิตคือการปลูกฝังจากคุณแม่ ให้เขาทำในสิ่งที่รัก